EXIM BANK ปักหมุดหมายสู่ Green Development Bank 

EXIM BANK ปักหมุดหมายสู่ Green Development Bank 
EXIM BANK ปักหมุดหมายสู่ Green Development Bank หนุนเอกชน Go Green และ Go Blue เปลี่ยนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว (Climate Change) ได้กดดันให้เกิดเมกะเทรนด์โลกในเรื่องของการทำธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environment, Social, and Governance : ESG) เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ภายใต้บทบาท Green Development Bank จึงร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เพื่ออนาคตของประเทศไทยและโลกที่ยั่งยืน เปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Greenomics) และสังคมคาร์บอนต่ำ

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผย­­­ว่า EXIM BANK ได้ประกาศกลยุทธ์ “Greenovation” สร้าง Green Supply Chain ขับเคลื่อนการค้าและการลงทุน เปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Greenomics) และคาร์บอนต่ำ ผ่านการพัฒนา 3 อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของไทย ประกอบด้วย อุตสาหกรรมเป้าหมายสู่อนาคต (Future Industries) อาทิ พลังงานหมุนเวียน ยานยนต์ไฟฟ้า เคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมเกษตรและประมงแปรรูป ธุรกิจบริการและ Soft Power อาทิ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต 

“EXIM BANK มุ่งมั่นที่จะสร้างนักรบเศรษฐกิจไทยในเวทีโลก ทั้งในรูปแบบการเป็นผู้ส่งออกเองหรือเป็นส่วนหนึ่งของ Green Supply Chain เพื่อให้เกิดระบบนิเวศสีเขียวที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการไทย โดยคำนึงถึงหลัก ESG สามารถส่งมอบสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์เมกะเทรนด์ใหม่ ๆ ภายใต้กติกาการค้าของโลกยุคใหม่ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการส่งออกของไทยให้เติบโตและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน” ดร.รักษ์ กล่าว

ในโอกาสครบรอบ 30 ปีการเปิดดำเนินการ EXIM BANK ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นอนาคตของประเทศไทยร่วมสัมมนาในหัวข้อ “Thailand’s Green Future” เพื่อให้ความรู้และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญที่ผู้ส่งออกไทยจะต้อง Go Green และ Go Blue โดยเศรษฐกิจสีเขียวกำลังจะกลายเป็น Growth Engine ใหม่ที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเติบโตให้ยั่งยืน

บนเวทีดังกล่าว ดร.สันติธาร เสถียรไทย ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจแห่งอนาคต สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ขณะนี้ถึงจุดที่ภาครัฐและเอกชนไทยจะต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวจาก 4 ฟันเฟืองคือ Green Capital เนื่องจากนักลงทุนทั่วโลกให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน จึงลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีการลงทุนทั่วโลกเป็นมูลค่า 121 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หากบริษัทใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไม่ใส่ใจด้านความยั่งยืน จะทำให้หุ้นมีความเสี่ยง ถือเป็นแรงกดดันต่อบริษัทใหญ่ในการปรับตัว ซึ่ง Green Capital จะมีผลกระทบและมีความเข้มข้นมากขึ้นรวมไปถึงซัพพลายเชนของบริษัทใหญ่เหล่านี้ก็จำเป็นต้อง Green เช่นกัน  

ต่อมาคือ Green Consumers ซึ่งมีการศึกษาพบว่า ผู้บริโภคยอมจ่ายเงินเพิ่มเฉลี่ยมากถึง 12% หากบริษัทหรือสินค้านั้นใส่ใจด้านความยั่งยืน อย่างไรก็ดี การค่าเฉลี่ยดังกล่าว ยังมีกลุ่มคนที่ยอมจ่ายและไม่ยอมจ่าย ดังนั้นผู้ประกอบการต้องผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดด้วยการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย  เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งในระยะต่อไปเทคโนโลยีจะช่วยให้การผลิตทำได้ง่ายขึ้น ทำให้ต้นทุนหรือราคาปรับลดลงได้ นอกจากนี้ Governance ก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เกิดเศรษฐกิจสีเขียวอย่างยั่งยืนได้ ต้องมี Green Policy  เพราะหากสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลง เช่น อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น อาจจะกระทบต่อผู้บริโภคที่เคยยอมจ่ายเพิ่มอาจจะไม่ยอมจ่าย หรือตลาดหุ้นผันผวน นักลงทุนอาจจะปรับเปลี่ยนไปลงทุนในหุ้นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าหุ้นยั่งยืน ดังนั้น นโยบายภาครัฐถือเป็นเรื่องสำคัญ

ดร.สันติธาร กล่าวว่า การขับเคลื่อนเรื่อง Green จะมีคำว่า “3 M”  ประกอบด้วย 1. Mind-Set อย่ามองว่าเรื่อง Green จะเป็นต้นทุน แต่จะต้องดูเรื่องของ Green for Growth ด้วย ซึ่งไม่ใช่แค่ภาคท่องเที่ยว แต่ยังรวมถึงในภาคต่าง ๆ โดยจะต้องหันมาเน้นด้านคุณภาพมากกว่าปริมาณ 2. Management Structure เป็นการบริหารงานที่ต้องประสานกันทั้งหมด เหมือนการ Transformation หน่วยงานที่ดูแลเรื่องความยั่งยืนควรจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของซีอีโอโดยตรง หากต้องการให้งานสำเร็จ และ 3. Measurement การวัดผลว่าระดับองค์กรจะมุ่งสู่ Green ทำอะไรได้บ้าง และวัดผลในรอบ 1 ปี ว่าเราทำได้ดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร ซึ่งในระดับประเทศใช้ 3 M ก็ได้ ซึ่งไม่ใช่แค่การจัดกิจกรรม แต่จะต้องสามารถวัดผลได้ด้วยว่า ปีที่แล้วไทยสามารถทำเรื่อง Green ไปแล้วเท่าไร และในปีนี้จะต้องทำอะไร   

“จุดเริ่มต้นเราต้องหา Green กับ Growth เพราะไปด้วยกันได้ หากมี Green ทำให้เกิด Growth ได้ เช่น ภาคการท่องเที่ยว ก่อนโควิด-19 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 40 ล้านคน สัดส่วนนักท่องเที่ยว 80% กระจุกตัวอยู่ใน 4-5 จังหวัด และ 75% ของนักท่องเที่ยวให้ความใส่ใจความยั่งยืน ดังนั้น หากเราสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ในแหล่งท่องเที่ยวเมืองรองของไทยจะได้ 3 อย่างคือ แหล่งท่องเที่ยวดีขึ้น กระจายรายได้ และเรามี Growth Engine ใหม่ โดยภาพรวมจะเห็น Green for Growth” ดร.สันติธาร กล่าว 

ด้านนายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อาหารเป็นอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งของไทย แต่อุตสาหกรรมอาหารทะเลถูกจับตามองจากผู้บริโภคเพราะปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน เนื่องจากใช้แรงงานต่างด้าวมาก ดังนั้นการได้รับการรับรองว่าเป็นบริษัทที่คำนึงถึง ESG เป็นเรื่องสำคัญ เพราะตอบโจทย์ความต้องการและความคาดหวังของผู้บริโภค ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และคู่ค้า โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่เช่นนั้น กองทุนต่างประเทศจะไม่สามารถเข้ามาลงทุนในหุ้นได้ เรื่องการ Go Green และ Go Blue จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายของผู้ประกอบการทั้งหมด ใครทำก่อนก็มีต้นทุนเพิ่มก่อน  แต่จะลดต้นทุนได้ในระยะต่อไป

“วันนี้ก่อนจะค้าขายกัน คู่ค้าจะคุยเรื่อง ESG ก่อน เช่น ซีอีโอของวอลมาร์ท ของเทสโก้ จะมาพบเองเลย เพื่อให้มั่นใจว่าทำการค้ากับแล้วจะนอนหลับได้ ไม่มีอะไรไม่ดีที่จะสร้างปัญหาในอนาคต โมเดลธุรกิจต้องคิดใหม่พัฒนาสินค้าก็จะต้องคิดว่ามีเรื่องของ Green เข้ามาด้วย บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ก็จะต้องคิดเรื่องรีไซเคิลด้วย เรื่องของการสร้างความยั่งยืน ผมคิดว่ามีตั้งแต่ง่ายไปจนถึงยากที่สุด เรื่องที่ง่ายที่สุดคือภายในบ้านของเรา ส่วนที่ยากก็คือระดับประเทศต้องช่วยกัน” นายธีรพงศ์ กล่าว 

คุณธีรพงศ์ กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีแรก บริษัทใช้เงินปรับกระบวนการทั้งหมดให้ Green จำนวน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ขณะนี้เพิ่มเป็น 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว โดยคิดว่าเป็นการลงทุน  ทำแล้วจะมีขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น อยากให้ผู้ประกอบการมองว่าการทำธุรกิจโดยคำนึงถึง ESG ทำแล้วได้ประโยชน์มากกับตัวเอง เช่น ช่วยประหยัดพลังงานเมื่อใช้พลังงานทางเลือกอย่างโซลาร์เซลล์ การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพทำให้ประหยัดต้นทุนได้มาก อย่างไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป เอง ภูมิใจมากที่วันนี้โรงงานของเราไม่มีน้ำทิ้งออกจากระบบเลย ทำได้มาก ก็ประหยัดมาก นอกจากนี้ยังร่วมกับสถาบันการเงินช่วยสนับสนุนให้ฟาร์มกุ้งทั่วประเทศไทยใช้โซลาร์เซลล์

สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวรายใหญ่ นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การทำธุรกิจอย่างยั่งยืนสำหรับธุรกิจท่องเที่ยว ผู้บริโภคยินดีจ่ายแพงกว่า ถ้าเห็นว่ามีการทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง นักท่องเที่ยวต้องการประสบการณ์ที่แปลกใหม่ตลอดเวลา การจะทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวน่าสนใจต้องใส่ครีเอทีฟ ทำให้สิ่งที่มีอยู่แล้วน่าสนใจ ดึงซอฟท์พาวเวอร์ออกมาและเป็น Green ให้ได้ ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือกันในทุกภาคส่วน จึงจะสำเร็จ 

“ปัญหา Geopolitics ส่งผลกระทบต่อทุกอุตสาหกรรม แต่ที่กระทบมากกว่าคือการโยงไปถึง Geoeconomic กระทบกับการจ้างงาน กระทบกับการส่งออก เกิดความไม่แน่นอนและเหนือความคาดหมาย เช่น ช่วงที่เกิดโควิด-19 ใหม่ๆ นักท่องเที่ยวจีนที่เคยเข้ามาเที่ยวไทย 11 ล้านคน จากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด 40 ล้านคน แต่หลังจากนั้น 1 ปีแทบไม่มีนักท่องเที่ยวจีนเลย ขณะนี้ลูกค้าเปลี่ยนพฤติกรรมไปมาก มีความภักดีกับแบรนด์น้อยลง หากผู้ให้บริการไม่สามารถตอบสนองได้ ลูกค้าก็จะย้ายไปที่อื่น นอกจากนี้ยังต้องการประสบการณ์ใหม่ การทำการตลาดต้องเปลี่ยนไปใช้อินฟลูเอนเซอร์แชร์ประสบการณ์การใช้บริการให้ดูในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ไม่สามารถใช้การตลาดรูปแบบเดิมได้ และต้องนำเอาข้อมูลมาใช้วิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า และต้องร่วมมือกันทางธุรกิจในการ Collaboration เพื่อเพิ่มความน่าสนใจ เช่น การร่วมมือระหว่างโรงแรมและโรงพยาบาลกลายเป็นธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ” คุณศุภจี กล่าว 

นายวรมน ขำขนิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อิมแพคท์ โซล่าร์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า พลังงานทางเลือกเป็นเมกะเทรนด์และเป็นที่ต้องการของโลกอย่างมาก บริษัทได้พัฒนาพลังงานสะอาดโดยตั้งเป้าเป็น Regional Connectivity สู่การใช้พลังงานทดแทนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงการนำระบบดิจิทัลมาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา เพื่อให้เกิดการกระจายตัวไปยังทุกภาคส่วนโดยเริ่มธุรกิจจากรูปแบบ Private PPA ในตลาดพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ของประเทศไทย

“ขณะนี้เราร่วมธุรกิจกับ 41 ราย มีกำลังการติดตั้งรวม 150 เมกะวัตต์ ประหยัดเงินให้ลูกค้าตลอดสัญญา 1.2 หมื่นล้านบาท และช่วยเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์ด้วย และในเร็วๆ นี้ ได้รับการอนุญาตจากรัฐบาล
สปป.ลาวในการทำโรงไฟฟ้าพลังงานลมบนพื้นที่ 4 แสนไร่ เริ่มทำการก่อสร้างเมื่อต้นปีนี้ ไฟฟ้าจากแหล่งนี้จะส่งไปขายที่เวียดนามและตั้งเป้าส่งออกไปสิงคโปร์ นี่คือสิ่งที่ภูมิใจมาก เพราะเราเป็นบริษัทคนไทย กลยุทธ์ของเราสร้างความยั่งยืนและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง  และเพิ่มเติมความเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนใน 3 เรื่องคือ สุขภาพ การศึกษา และการสร้างอาชีพให้กับชุมชนรอบๆ โรงงานของเรา” นายวรมน กล่าว 

ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี รองกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า EXIM BANK ยินดีสนับสนุนภาคเอกชนที่ต้องการจะ Go Green และ Go Blue เนื่องจากเป็นอนาคตประเทศไทย จากปัจจุบันไทยมีปัญหาเศรษฐกิจเติบโตต่ำและติดกับดักรายได้ปานกลาง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า หากต้องการเป็นประเทศที่ประชากรมีรายได้ต่อหัวต่อคนสูงขึ้นจะต้องมีการลงทุนไม่ต่ำกว่าปีละ 2-3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) 

“ทิศทางเรื่อง Green และความยั่งยืนเป็นอนาคตที่จะต้องสนับสนุนให้เกิดการลงทุนและเปลี่ยนผ่านไปให้ได้  จุดนี้ EXIM BANK ในบทบาทของ Green Development Bank จะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อนนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย เพื่อบรรลุสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี 2608 ขณะนี้มีความต้องการเงินทุนเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตจำนวนมาก มีการคาดการณ์ว่าหากต้องการลดอุณหภูมิโลก 2 องศาเซลเซียสจะต้องใช้เงินถึง 8.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ” ดร.เบญจรงค์ กล่าว 

ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมทุกอย่าง 0.7% ของจำนวนก๊าซเรือนกระจกของทั้งโลก กิจกรรมที่สร้างคาร์บอนมากที่สุดอยู่ในภาคการขนส่งและภาคพลังงาน การลดโลกร้อนรัฐบาลทำโดยลำพังไม่ได้ภาคเอกชนและภาคครัวเรือนต้องร่วมลงมือทำ ซึ่งพฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ที่เห็นเป็นรูปธรรมคือ การลดปริมาณใช้รถยนต์สันดาป หันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น 

ดร.เบญจรงค์ กล่าวว่า หากผู้ประกอบการสนใจอยากเริ่มต้นที่จะปรับปรุงกระบวนการทำงานทุกขั้นตอนให้ Go Green และ Go Blue ทาง EXIM BANK ได้พัฒนานวัตกรรมทางการเงินขึ้นมาเพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยจะให้ความรู้ว่ามีเทคโนโลยีอะไรจะช่วยผู้ประกอบการได้ในราคาไม่แพง  การให้ความรู้ข้อมูลในการนำเอา ESG มาใช้ในกระบวนการทำงานให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมเติมเงินทุนให้ผู้ประกอบการ Go Green ได้ในต้นทุนที่เหมาะสม โดยร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรพัฒนาระบบประเมินความเสี่ยงธุรกิจสีเขียว (ESG Scoring) มาใช้ประกอบการประเมินว่าธุรกิจที่ธนาคารให้สินเชื่อได้ดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบในมิติของเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมหรือไม่  หากทำดีก็จะมีส่วนลดอัตราดอกเบี้ยให้เพื่อจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการทำความดี 

ในวันที่อุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี (Non-tariff Barriers) แต่กำหนดให้การมุ่งสู่การทำธุรกิจอย่างมี ESG และ Go Green กลายเป็นกติกาการค้าในโลกสากล ผู้ประกอบการไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ถูกบังคับให้จะต้องสะอาดและรักษ์โลกเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ การปรับตัวให้เข้ากับกฎระเบียบการค้าในบริบทใหม่จำเป็นต้องใช้องค์ความรู้ใหม่ๆ  โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs จำเป็นต้องมีคู่คิดและที่ปรึกษา
EXIM BANK พร้อมเติมความรู้ เติมโอกาส และเติมเงินทุน สนใจปรับธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปรึกษา EXIM BANK โทร. 0 2169 9999 

TAGS: #EXIMBANK #สังคมคาร์บอนต่ำ #GreenDevelopmentBank