‘เชฟรอน’พาส่องกิจกรรมเพื่อสังคมในสงขลา สร้างพันธมิตรที่ดีมุ่งพัฒนายั่งยืน

‘เชฟรอน’พาส่องกิจกรรมเพื่อสังคมในสงขลา สร้างพันธมิตรที่ดีมุ่งพัฒนายั่งยืน
‘เชฟรอน’เดินหน้านโยบายธุรกิจควบคู่ชุมชน ผ่าน 4 กลยุทธ์  โชว์สงขลาบ้านหลังที่ 2 ร่วมขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตให้ดีต่อเนื่อง

น.ส.พรสุรีย์ กอนันทา รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เปิดเผยว่า  ในฐานะบริษัทพลังงาน ที่ผู้บุกเบิกและพัฒนาธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในไทยมากว่า 6 ทศวรรษ เชฟรอนมีนโยบายดำเนินธุรกิจควบคู่กับการทำงานร่วมกับชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน ผ่านการทำโครงการเพื่อสังคมที่มีกลยุทธ์ใน 4 ด้าน ได้แก่ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน การพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต การส่งเสริมการศึกษา และการเปิดโอกาสให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม

สำหรับจังหวัดสงขลาเอง เปรียบเหมือนบ้านหลังที่สองของเชฟรอนที่ผูกพันกันมายาวนานกว่า 40 ปี ทั้งนี้ ในการทำโครงการเพื่อสังคม เรามุ่งให้ความสำคัญกับการทำงานแบบบูรณาการ ผ่านการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคประชาสังคม เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนได้อย่างตรงจุด และสามารถพัฒนาต่อยอดได้อย่างยั่งยืน

ปัจจุบันจังหวัดสงขลา เป็นเมืองท่าและเมืองชายทะเลที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ ที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของภาคใต้ และมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของภาคใต้ 1 บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในฐานะภาคเอกชน ซึ่งได้ดำเนินธุรกิจในจังหวัดมากว่า 4 ทศวรรษ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 มุ่งมั่นในการเป็นพันธมิตรที่ดีกับชาวสงขลา และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของชุมชนชาวสงขลาอย่างต่อเนื่อง

 ตลอดเวลาที่ผ่านมา การทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ การศึกษา และประชาสังคม ของเชฟรอนในจังหวัดสงขลา ได้รับการยอมรับถึงผลลัพธ์เชิงบวกในด้านการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิต จากหลายหน่วยงาน อาทิ เมื่อปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา เชฟรอนได้รับพระราชทานเข็มเกียรติคุณวันอนุรักษ์มรดกไทย จาก​สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะหน่วยงานที่สนับสนุนการดำเนินงานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ จากการสนับสนุนจังหวัดสงขลาและสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา ในการจัดนิทรรศการ “FAD 11 SONGKHLA: FINEARTS ศาสตร์และศิลป์” และจัดโครงการอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานเจดีย์เขารูปช้าง จังหวัดสงขลา เพื่อเสริมสร้างคุณค่าทางประวัติศาสตร์ให้เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง

สำหรับโครงการส่วนใหญ่เป็นโครงการระยะยาว ที่เน้นการพัฒนาองค์ความรู้ สร้างต้นแบบ และพัฒนาพลังคน อาทิ โครงการก๊าซชีวภาพสหกรณ์ยางพาราสู่สังคมคาร์บอนต่ำ การสนับสนุนหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา และโครงการอนุรักษ์ย่านเมืองเก่าสงขลา ซึ่งล้วนเห็นผลความสำเร็จเป็นรูปธรรม สามารถร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสงขลาได้อย่างยั่งยืน และเป็นต้นแบบที่สามารถนำไปปฏิบัติในพื้นที่อื่นได้

ส่วนโครงการก๊าซชีวภาพสหกรณ์ยางพาราสู่สังคมคาร์บอนต่ำเป็นโครงการที่สริมศักยภาพเกษตรกรสวนยางเพื่อขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำ โดยจังหวัดสงขลา คนในชุมชนส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรยางพาราเป็นอาชีพหลัก และการแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของจังหวัดได้เป็นอย่างมาก การผลิตยางแผ่นรมควันซึ่งใช้ไม้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง ทำให้มีต้นทุนที่สูงและบางครั้งไม่ได้คุณภาพตามที่ต้องการ อีกทั้งกระบวนการผลิตยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกและก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นและน้ำเสียส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบสหกรณ์

ทั้งนี้ในปี พ.ศ. 2558 บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ สถาบันวิจัยระบบพลังงาน (PERIN) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงจัดทำโครงการเพื่อส่งเสริมกระบวนการผลิตยางแผ่นรมควันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเปลี่ยนน้ำเสียให้เป็นก๊าซชีวภาพ และใช้ก๊าซชีวภาพไปรมควันยางแผ่นเพื่อช่วยประหยัดเชื้อเพลิงไม้ฟืน

ตลอดจนนำระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในการผลิตยางแผ่นและการดำเนินงานของสหกรณ์ โดยนำร่องต้นแบบ ณ สหกรณ์บ้านทรายขาว และสหกรณ์ยูงทอง ตอบโจทย์การพัฒนาสงขลาของภาครัฐที่มุ่งให้เป็นเมืองเกษตรกรรมสีเขียวมูลค่าสูง และสอดคล้องกับหลักการของแบบจำลองโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน BCG

“เป้าหมายของเชฟรอนคือการทำธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้ทั้งธุรกิจของเรา สังคม และสิ่งแวดล้อมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ดังนั้นทุกโครงการของบริษัท ไม่เพียงแต่โครงการในจังหวัดสงขลา จึงสะท้อนวัตถุประสงค์นี้ และตอกย้ำความมุ่งมั่นของเชฟรอนในการเป็นพันธมิตรที่ดีกับสังคมไทย” นางสาวพรสุรีย์ กล่าว

ศาสตราจารย์ ดร. สุเมธ ไชยประพัทธ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบพลังงาน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนจากเชฟรอนมาเป็นระยะเวลา 10 ปีแล้ว โดยเรามุ่งเน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วมกับกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราและกรรมการบริหารสหกรณ์ฯ อย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่แน่ใจว่าอุปกรณ์และเทคโนโลยีเหมาะสมกับวิถีการดำรงอยู่ของวิสาหกิจชุมชนยางพารานี้

เมื่อทุกระบบทำงาน แต่ละสหกรณ์สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 425 ตัน/ปี หรือประมาณร้อยละ 31 และการนำก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้ช่วยลดการใช้ฟืน ส่งผลให้ประหยัดเงินของสหกรณ์ฯ ได้ 130,000-180,000 บาทต่อปี ซึ่งตอนนี้ สหกรณ์ยางแผ่นรมควันยูงทองเป็นต้นแบบในการส่งต่อความรู้ให้กับสหกรณ์อื่นๆ ในพื้นที่ต่อไป

นอกจากนี้ เรายังต่อยอดสู่ ‘โครงการก๊าซชีวภาพสหกรณ์ยางพาราสู่สังคมคาร์บอนต่ำ’ โดยผลักดันให้สหกรณ์ยูงทองขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของยางแผ่นรมควัน (Carbon Footprint of Product) ได้สำเร็จเป็นแห่งแรกของสหกรณ์ยางแผ่นรมควันของประเทศ ซึ่งปัจจุบัน อยู่ระหว่างดำเนินการขอรับรองการจดทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร (Carbon Footprint for Organization) และดำเนินการประเมินความเป็นไปได้ในการทำคาร์บอนเครดิตของสหกรณ์ ตามเงื่อนไขขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ของประเทศไทย เพื่อนำสหกรณ์ยางแผ่นรมควันยูงทองไปสู่องค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) แห่งแรกของประเทศไทย

ส่วนหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา (หอดูดาวสงขลา) เป็นหนึ่งใน 5 หอดูดาวภูมิภาค ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับเป็นโครงการในพระราชดำริ เพื่อสร้างความตระหนักทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กระจายไปสู่แต่ละภูมิภาค ให้นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ ประชาชนได้มีโอกาสในการเรียนรู้ดาราศาสตร์อย่างทั่วถึงและทัดเทียมกัน ด้วยตำแหน่งที่ตั้งในภาคใต้ บริเวณละติจูด 7 องศาเหนือ ส่งผลให้หอดูดาวแห่งนี้ สามารถศึกษาวัตถุในซีกฟ้าใต้ได้ดีกว่าหอดูดาวในภูมิภาคอื่นๆ ทำให้สามารถสนับสนุนการทำงานวิจัยดาราศาสตร์สำหรับสถาบันการศึกษาภาคใต้ และนานาชาติ

รวมถึงเป็นศูนย์เรียนรู้ดาราศาสตร์อิสลามแห่งแรกของไทยอีกด้วย โดยเชฟรอนได้ร่วมสนับสนุนการก่อสร้างและพัฒนาสถานที่ ตลอดจนการจัดกิจกรรมดาราศาสตร์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 รวมงบประมาณสนับสนุนกว่า 30 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลในการศึกษาด้านสะเต็ม (STEM: Science, Technology, Engineering and Mathematics) และ (Lifelong Learning) โดยเฉพาะในสาขาดาราศาสตร์ รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวิชาการในภาคใต้

นายเฉลิมชนม์ วรรณทอง ผู้จัดการหอดูดาวภูมิภาคอาวุโส หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา สงขลา กล่าวว่า หอดูดาวสงขลาแห่งนี้ เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ที่ครบวงจรแห่งแรกของภาคใต้ เปิดโอกาสให้เยาวชน ใน 14 จังหวัดภาคใต้ ได้เรียนรู้และเข้าถึงการใช้อุปกรณ์ทางด้านดาราศาสตร์อย่างสนุกสนาน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นความสนใจในการเลือกเรียนสาขาวิทยาศาสตร์ เพราะดาราศาตร์เป็นพื้นฐาน องค์ความรู้ ‘เหตุและผล’ ที่เก่าแก่ที่สุดสาขาหนึ่ง สามารถต่อยอดการเรียนรู้ในสาขาอื่นที่หลากหลาย

นอกจากนี้อีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญของทางหอดูดาว คือ การกระจายโอกาสการเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ รวมทั้งวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องให้กับเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ และประชาชนทั่วไป ทางหอดูดาวจึงจัดกิจกรรมดาราศาสตร์สัญจร ค่ายเยาวชนคนดูดาวเท้าติดทะเล รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ ในภาคใต้ เพื่อสร้างความตระหนักและตื่นตัวทางดาราศาสตร์ให้มากยิ่งขึ้น หอดูดาวแห่งนี้ ยังมีฉายาอีกชื่อคือ ‘หอดูดาวสองทะเล’ ด้วยสถานที่ตั้งอยู่บริเวณเนินเขารูปช้าง ทำให้สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของทั้งทะเลสาบสงขลา และทะเลอ่าวไทย รวมถึงทัศนีย์ภาพของเมืองสงขลาได้ชัดเจน  จึงมีความโดดเด่น และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวิชาการที่สำคัญของสงขลาและภาคใต้ของประเทศอีกด้วย

อย่างไรก็ดี“เมืองเก่าสงขลา” เป็นแหล่งชุมชนพหุวัฒนธรรม ผสมผสานทั้งพุทธ มุสลิม และจีน ซึ่งมีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานนับร้อยปี เพื่อคงไว้ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ของวิถีชุมชนคนสงขลาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทุกภาคีเครือข่ายจึงต่างร่วมมือกันพลิกฟื้นย่านเมืองเก่าและดำเนินกิจกรรมเชิงท่องเที่ยวแบบสร้างสรรค์

ทางเชฟรอนได้ร่วมสนับสนุนภารกิจการอนุรักษ์และฟื้นฟูย่านเมืองเก่าผ่านโครงการมากมาย อาทิ สนับสนุนการก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ย่านเมืองเก่า “คิด บวก ดี” (Kid+Dee @ Historic Center) เพื่อเป็นศูนย์ประสานความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ในการขับเคลื่อนการอนุรักษ์ย่านเมืองเก่า

การจัดทำป้ายสื่อความหมายให้กับร้านดั้งเดิมบนถนนนางงาม เพื่อเป็นข้อมูลให้แก่นักท่องเที่ยว และสนับสนุนการจัดกิจกรรม “Music and Night at the Museum” ของทุกปี เปิดประสบการณ์ใหม่ในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์สงขลาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติยามค่ำคืน ตลอดจนร่วมพัฒนาสงขลาสู่การเป็นเมืองมรดกโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่บรรจุในแผนการพัฒนาจังหวัดสงขลา 20 ปี

ดร.จเร สุวรรณชาต อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย หนึ่งในสมาชิกกลุ่มก่อตั้งภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม กล่าวว่า อัตลักษณ์ที่โดดเด่นของเมืองเก่าสงขลา คือความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมที่มีความเป็นมายาวนาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นผ่านทั้งศิลปะ วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม อาคารบ้านเรือน ตลอดจนอาหารการกินซึ่งเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่มีคุณค่า สามารถต่อยอดด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญต่อไปในอนาคต โดยทางภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม ผนึกกำลังกับ 30 องค์กร

รวมถึงเชฟรอน ได้ร่วมจัดทำแผนกลยุทธ์เพื่อยกระดับเมืองเก่าสงขลาสู่การเป็นมรดกโลกซึ่งมีกรอบการดำเนินงานใน 3 ด้าน คือ ด้านการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวสอดรับกับเมืองมรดกโลก การพัฒนาสิ่งสาธารณูปโภค และงานทางด้านวิชาการ เพื่อให้การทำงานมีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ หากประสบความสำเร็จ จะนำมาซึ่งโอกาสและรายได้ให้กับคนในชุมชน สู่การพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตให้กับคนในชุมชนต่อไป

ด้วยการดำเนินโครงการในระยะยาว การสร้างความมีส่วนร่วมกับทุกฝ่าย และการติดตามผลที่เป็นรูปธรรม ทำให้ทุกวันนี้ทั้ง 3 โครงการ ได้รับการยอมรับจากชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการดำเนินงานและต่อยอดโครงการ เพื่อสร้างให้เกิดเป็นความยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมของเชฟรอน สามารถอ่านได้ที่เวบไซต์เชฟรอนประเทศไทย

 

TAGS: #เชฟรอน #สงขลาบ้านหลังที่ #2 #สหกรณ์ยางพารา