เป๊ปซี่โคฯ รับมือโลกร้อน กระทบอุตฯผู้ปลูกมันฝรั่งไทย ดัน Pep+ คุมผลผลิต เพิ่มรายได้เกษตร15%

เป๊ปซี่โคฯ รับมือโลกร้อน กระทบอุตฯผู้ปลูกมันฝรั่งไทย ดัน Pep+ คุมผลผลิต เพิ่มรายได้เกษตร15%
เป๊ปซี่โค กับแผนบริหารความเสี่ยงธุรกิจรับมือภาวะโลกร้อนกระทบอุตสาหกรรมต้นน้ำภาคการเกษตรผู้ปลูกมันฝรั่งในไทยที่ใช้กว่า 70% ทำมันฝรั่งทอดเลย์ในตลาดที่มีมูลค่ารวมกว่า 14,000 ล้านบาทในปี2566

เป๊ปซี่-โคลา ไทย (เทรดดิ้ง) เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ถึงปัจจุบันเป็นเวลาร่วม 28 ปีในกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่ม และอาหาร ที่อย่างหลังมีแฟล็กชิป โปรดักส์ ระดับโลกอย่างมันฝรั่งเลย์’ (Lay's) ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในภาคการเกษตรของไทย เกือบ 3 ทศวรรษ ที่ผ่านมา

สุดิปโต โมซุมดา กรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจอาหารอินโดจีน เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ผู้ดำเนินธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มระดับโลก อาทิ เป๊ปซี่-โคล่า, มิรินด้า, มันฝรั่งทอดกรอบเลย์, ข้าวอบกรอบ ซันไบรท์ ฯลฯ เปิดเผยว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศสำคัญในภูมิภาคอินโดจีนของเป๊ปซี่โคฯ ที่เข้ามาทำตลาดอย่างยั่งยืน โดยมีส่วนร่วมตลอดห่วงโซ่คุณค่า (value cahin) ตั้งแต้ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจอาหารหมวดอาหารว่าง ขนมขบเคี้ยว (สแน็ก) กลุ่มมันฝรั่งเลย์ ที่ปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลุกวัตถุดิบมันฝรั่งใน 10 จังหวัดของไทยรวมกว่า 38,000 ไร่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย คิดเป็นสัดส่วนราว 70% ที่ใช้ผลผลิตในประเทศมาผลิตเป็นสินค้าเพื่อทำตลาด และอีก 30% นำเข้ามันฝรั่งจากต่างประเทศ โดยมีโรงงาน 2 แห่งในไทย ตั้งอยู่ในจังหวัดลำพูน และ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อยุธยา

สุดิปโต เสริมว่าจากธุรกิจของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรของไทยมาตลอดช่วงที่ผ่านมา ทำให้บริษัทใช้งบประมาณหลักหลายสิบล้านบาทต่อปีอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีมานี้ ลงทุนในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มผลผลิตวัตถุดิบมันฝรั่งให้มีคุณภาพควบคู่ไปกับการเติบโตยั่งยืนร่วมกับเกษตรผู้ผลิตภายใต้พันธสัญญาราว 5,800 ราย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกที่เปลี่ยนไปรวมถึงชาวไทย ด้วยกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงเชิงบวก Pep+ ประกอบด้วย 3 แกนหลัก คือ

1.Positive Agriculture การเกษตรเชิงบวก

ด้วยแนวทางฟื้นฟูผืนดินในพื้นที่เกือบ 18 ล้านไร่ โดยจัดหาพืชผลกลุ่มตระกูลถั่วงา ธัญพืช ผักผลไม้ นำมาปลูกเพื่อฟื้นฟูคุณภาพดินได้อย่างสมดุล 100% เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตความเป็รนอยู่ของเกษตรกรและคนในชุมชนที่อยู่ในซัพพลายเชนทั้งระบบ เพื่อสร้างความยั่งยืนด้านการเกษตรถาวร โดยวางเป้าหมายนำไปสู่การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิอย่างน้อย 3ล้านตันในปี 2573  

2.Positive Choices ทางเลือกเชิงบวก

แนวทางส่งเสริมคุณค่าทางอาหารในผลิตภัณฑ์ของเป๊ปซี่โค ได้แก่การลดความหวานจากน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ เครื่องดื่ม ลดปริมาณโซเดียมละไขมันอิ่มตัวในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป และพัฒนาสินค้าใหม่ๆที่มีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อเป็นทางเลือกที่ดีกว่าให้กับผู้บริโภค อาทิ โปรตีนทางเลือกและกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพ

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ราว 70% ของบริษัทในกลุ่มอาหารสำเร็จรูปสามารถบรรลุระดับปริมาณโซเดียมเป้าหมายในปี 2573 ที่นะนำโดยองค์กรอนามัยโลก (WHO) ได้แล้ว

3.Positive Value Chain ห่วงโซ่คุณค่าเชิงบวก แนวทางสร้างแวลูเชนแบบหมุนเวียนวัตุถุดิบ ส่งเสริมการรีไซเคิล การนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ เพื่อมุ่งสู่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ตลอดแวลูเชน ภายในปี 2583 และในปี 2573 จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 40% โดยในปีที่ผ่านมา โรงงานทั้ง2 แห่งของบริษัทสามารถใช้พลังงานไฟฟ้าทดแทนได้ 100% แล้ว เป็นต้น

สุดิบโต ย้ำว่าแนวทางดังกล่าว ยังมีส่วนร่วมผลักดันไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกับผู้ปลูกมันฝรั่งเกษตรชาวไทย ที่ทำงานร่วมกับเป๊ปซี่โค โดยวางเป้าหมายให้เกษตรสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 30% จาก 5,800 รายจะมีรายได้เพิ่มขึ้น15% จากรายได้โดยรวมในปัจจุบันอยู่ที่ราว 1,5000 ล้านบาทต่อปี และมีขนาดมูลค่าค่อนข้างใหญ่เปรียบเทียบกับตลาดในเวียดนามที่เป๊ปซี่ ได้เข้าไปดำเนินการในลักษณะเดียวกัน และในเร็วๆนี้มีแผนเข้าไปดำเนินโครงการฯนี้ในอินโดนีเซีย ด้วย เพื่อผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคร่วมกัน จากปัจจุบันเป๊ปซี่โค มีการจ้างกว่าหนึ่งแสนงานทั่วโลก

นอกจากนี้ ยังได้เสนอแนวทางความร่วมมือเชิงนโยบายระหว่างภาครัฐของไทย ที่ควรเร่งเข้ามาสนับสนุน 3 ด้าน ดังนี้

  1. นโยบายด้านที่ดิน (Land bank) การรวบรวมที่ดินผืนใหญ่เพื่อการเพาะปลูกสินค้าเกษตร ที่จะเป็นประโยชน์การบริหารจัดการต้นทุนและผลผลิตได้มากกว่าการเพาะปลูกพืชผลจากที่ดินผืนเล็ก (Small Farms)  
  2. นโยบายแหล่งเงินหมุนเวียนหรือเงินกู้ให้กับเกษตร รวมไปถึงการสร้างแรงจูงใจ (Incentive) ให้กับเกษตรด้านต่างๆ ในการใช้เทคนิคใหม่การทำเกษตร มากขึ้น
  3. นโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐาน ที่นอกเหนือจากระบบน้ำ ไฟฟ้าแล้ว แต่ยังรวมไปถึงระบบการขนส่ง เป็นต้น    

อานนท์ สุนทรพจน์ ผู้จัดการฝ่ายเกษตรประเทศไทย เป๊ปซี่โค เสริมว่าจากสภาพอากาศโลกที่แปรเปลี่ยนอย่างเห็นได้ชัดในปี 2566 ที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อผลผลิตมันฝรั่งที่ปลูกในประเทศไทย ที่แม้ว่าจะได้ปริมาณตามที่กำหนดไว้ คือ ได้ผลผลิตมันฝรั่งตามเป้าหมาย 94,000 ตันในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา และ วางเป้าหมายอีก 74,000 ตันในฤดูฝนปีนี้ ซึ่งเป็นจำนวนใกล้เคียงในแต่ละปีที่เป๊ปซี่โค กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 100,000 ตันต่อปี 

“แม้จะได้ผลผลิตตามเป้าหมายที่ต้องการแต่จากภาวะเอลนีโญในหน้าแล้งที่ผ่านมา กระทบกับคุณภาพจากตัวเนื้อแป้งในผลมันฝรั่งมีปริมาณลดลง ที่แม้จะไม่กระทบกับรสชาติเมื่อแปรรูปก็ตามแต่จะมีผลกับความกรอบของขนม” ผู้บริหารเป๊ปซี่โค กล่าว “และในขณะนี้กำลังเข้าสู่ภาวะลานีญาในช่วงฤดูน้ำที่อาจกระทบกับวัตถุดิบอีกเช่นกัน ซึ่งเป๊ปซี่โคได้เร่งแผนพัฒนาผลผลิตให้มีจำนวนมากขึ้นเพื่อบริหารต้นทุนต่อหน่วยให้มีผลกระทบราคาน้อยที่สุด จากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น" 

อนึ่ง ข้อมูลจาก NielsenIQ ระบุภาพรวมตลาดมันฝรั่งทอดของประเทศไทยในปี 2566 ที่ผ่านมา มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 14,000 ล้านบาท โดยเลย์ เป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาด

 

TAGS: #มันฝรั่งทอด #มันฝรั่ง #เลย์ #เป๊ปซี่โค