‘เนสกาแฟ’ แบรนด์สินค้ากาแฟที่อยู่ในไทยมานานร่วม 5 ทศวรรษ กับ ‘กลยุทธ์’รักษาแชมป์เบอร์ 1 ในตลาดกาแฟรวมมูลค่ากว่า 3 หมื่นล.บาทให้ยั่งยืน บนวิกฤตโลกร้อนที่กระทบวัตถุดิบเมล็ดกาแฟให้หร่อยหรอทุกปี
โจโจ้ เตลา ครูซ ผู้อำนวยการบริหารธุรกิจผลิตภัณฑ์กาแฟและครีมเทียม บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ผู้ผลิตและทำตลาดผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ระดับโลก เปิดเผยว่า ‘ไทย’ เป็นอีกหนึ่งตลาดสำคัญในกลุ่มสินค้ากาแฟแบรนด์เนสกาแฟ (NESCAFE) ที่ปัจจุบันครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ1 ด้วยสัดส่วนมากกว่า 50% ในตลาดกาแฟทุกรายการสินค้ามีมูลค่ารวมกันกว่า 3 หมื่นล้านบาทในประเทศไทย
ทั้งนี้ข้อมูลจาก นีลเส็นไอคิว ผู้วิจัยและสำรวจตลาด ระบุตลาดกาแฟสำเร็จรูป (Mixed Coffee) ของไทย ในไตรมาสแรกปี 2567 มีมูลค่าตลาดรวม 5,700 ล้านบาท เติบโต5% เทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2566 มาจากความต้องการบริโภคของชาวไทยที่ขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ คันทาร์ เวิลด์พาแนล ผู้สำรวจและวิจัยตลาด ระบุตลาดกาแฟพร้อมดื่ม (RTD) ในไตรมาสแรกปีนี้อยู่ที่ 3,800 ล้านบาท เติบโต 10% เทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน เป็นผลมาจากความนิยมดื่มกาแฟ RTD มากขึ้นในประเทศ จากความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น รวมถึงอุณหูมิที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในช่วงหน้าร้อน
โดยแนวทางการทำตลาดในครึ่งหลังปีนี้ เนสกาแฟ เตรียมใช้งบการทำตลาดผ่านสื่อทุกช่องทางราว 620 ล้านบาทเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ และตอกย้ำเนสกาแฟ (NESCAFE) ในฐานะผู้นำตลาดผ่านกลยุทธ์ ‘NES’ ดังนี้
- N:NESCAFE’ Brand การพัฒนาเนสกาแฟให้เป็นแบรนด์ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีคุณค่า
- E:Experience มอบประสบการณ์การดื่มด่ำกาแฟผ่านนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ที่ปรับสูตรใหม่
- S: Sustanability ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญของแบรนด์
ดีมานด์บริโภคสูง แต่วัตุดิบเมล็ดกาแฟลดลง
โจโจ้ กล่าวว่าจากแนวโน้มอัตราการบริโภคในตลาดประเทศไทยที่ขยายตัวต่อเนื่องทุกปี ซึ่งเนสกาแฟมองเห็นศักยภาพในการทำตลาดผลิตภัณฑ์กาแฟออกมาอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากปัจจุบันมีสินค้าในพอร์ตเนสกาแฟได้ทำตลาดกว่า 20 ประเภทผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ อาทิ กาแฟกึ่งสำเร็จรูปบรรจุขวด/ซอง เนสกาแฟอเมริกาโน่ เนสกาแฟ โกลด์ เนสกาแฟเรดคัพ เนสกาแฟทรีอินวัน เนสกาแฟ เบลนด์ แอนด์ บรู เนสกาแฟกระป๋องพร้อมดื่ม เป็นต้น
“ในทุก 1 วินาทีคนไทยจะมีการบริโภคกาแฟอยู่ที่ 250 แก้ว หรือมีการบริโภคกาแฟอยู่ที่ 340 แก้วต่อคนต่อปี” พร้อมเสริมอีกว่า “อีกแนวโน้มที่น่าสนใจคือการขยายตัวของตลาดกาแฟเย็นในปัจจุบันมีเพิ่มสัดส่วนอยู่ที่ 47% ซึ่งเนสกาแฟมองเห็นโอกาสทำตลาดสินค้ากลุ่มกาแฟเย็นออกมาด้วยเช่นกัน คาดเห็นความชัดเจนในสิ้นปี67 นี้”
อย่างไรก็ตาม ขณะที่ผลผลิตเมล็ดกาแฟในไทยกลับเผชิญความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ส่งผลให้มีความต้องการนำเข้าเมล็กกาแฟเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกับที่ผลผลิตเมล็ดกาแฟในระดับโลกมีปริมาณลดลงเช่นเดียวกัน โดยคาดการณ์ว่า ผลผลิตเมล็ดการแฟทั่วโลกอาจลดลงถึง 50% ภายในปี 2593
จากสถานการณ์ดังกล่าว เนสกาแฟได้นำแนวคิดการปลูกกาแฟอย่างยั่งยืนผ่านการเกษตรเชิงฟื้นฟู (Regenerative Argriculture) ภายใต้โครงการ ‘เนสกาแฟ แพลน 2023’ ซึ่งเป็นโครงการด้านความยั่งยืนระดับโลก ช่วยให้เกษตรกรพร้อมรับมือกับความเปี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของเมล็ดกาแฟ “แนวทางดังกล่าวยังมีส่วนช่วยในด้านการบริหารจัดการต้นทุนสินค้าเนสกาแฟในการทำตลาดได้โดยยังไม่ต้องปรับราคาสินค้าท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงผลผลิตจากวัตถุดิบที่ลดลงทั่วโลกด้วย” โจโจ้ ย้ำ
ขยายจังหวัดใหม่ เพิ่มพื้นที่ดูแลปลูกกาแฟ
ด้าน ทาธกฤษ กุณาศล ผู้จัดการฝ่ายบริการการเกษตร บริษัทเนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า เนสกาแฟ ได้เข้าไปสนับสนุนและมีส่วนร่วมการพัฒนาผลผลิตเมล็ดกาแฟร่วมกับเกษตรชาวสวนผู้ปลูกกาแฟในไทยมาตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา ล่าสุดการขับเคลื่อนการเกษตรเชิงฟื้นฟู พร้อมร่วมมือกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน ประจำประเทศไทย (GIZ) จัดทำหลักสูตร Farmer Business School ส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟให้มีแนวคิดของผู้ประกอบการเกษตรกรรม ส่งผลให้เกษตรกรฯมีรายได้เพิ่มขึ้น 87% ต่อครัวเรือน
โดยปัจจุบันมีชาวสวนกาแฟอยู่ในระบบพร้อมทำงานร่วมกับเนสกาแฟ รวมกว่า 3,000 ครัวเรือน กระจายอยู่ในพื้นที่การปลูกกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้าในจังหวัด ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี ประจวบคิรีขันธ์ นอกจากนี้บริษัทฯ ยังวางแผนแผนพัฒนาพื้นที่การปลูกเมล็ดกาแฟเพิ่มในจังหวัดใหม่ๆ อาทิ เลย กาญจนบุรี และ ตราด เป็นต้น โดยบริษัทฯ จะเป็นผู้รับซื้อวัตถุดิบทั้งหมด พร้อมให้อิสระเกษตรผู้ปลูกกาแฟสามารถจำหน่ายเมล็ดกาแฟไปยังแหล่งอื่นด้วย
ขณะที่ในปี 2566 ที่ผ่านมา ‘เนสกาแฟ’ มีความต้องการเมล็ดกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้าอยู่ที่ 60,000 ตันต่อปี และสายพันธุ์อราบีก้าราว 10,000 ตันต่อปี เพื่อนำส่งวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการผลิตสินค้าในโรงงาน
“แนวทางดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งการบริหารความเสี่ยงด้านวัตถุดิบเมล็ดกาแฟ ให้มีเพียงพอต่อการผลิตสินค้าเนสกาแฟ จากสถานการณ์ในรอบ10 ปีที่ผ่านมา เมล็ดกาแฟโรบัสต้ามีกำลังการผลิตอยู่ในตลาดร่วม 30,000 ตันแต่ในปัจจุบันลดเหลือเพียงกว่า 5,800 ตันเท่านั้น ซึ่งเนสกาแฟได้ใช้ทั้งเมล็ดกาแฟที่ปลูกในไทยและนำเข้าจากต่างประเทศ อาทิ เวียดนาม” ทาธกฤษ กล่าวทิ้งท้าย