ซันโทรี่ เป๊ปซี่โคฯ จัดงบปี66 กว่า 1,000 ล้านบาท รัวกว่า 22 แคมเปญตลาด ผ่าน 5 กลยุทธ์หลักทุกกลุ่มเครื่องดื่ม วางฐานแกร่งรับอนาคตธุรกิจยั่งยืน เป้า 5 ปีหน้าโตกว่าตลาดรวม 2หลัก
หลังจากบริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์สินค้าของซันโทรี่และเป๊ปซี่โคในประเทศไทย เข้าร่วมทุนธุรกิจระหว่าง บริษัท ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด จำกัด ผู้ผลิตเครื่องดื่มจากญี่ปุ่น และ บริษัทเป๊ปซี่โค อิงค์ ผู้นำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มจากสหรัฐอเมริกา ถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 5 ปีเต็ม ด้วยกลกลยุทธ์ “Must Win Battle" ส่งผลให้บริษัทฯ เติบโตเฉลี่ย 5.9% โตกว่าภาพรวมตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ถึง 3 เท่า
ล่าสุด อชิต โจชิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด เริ่มวิสัยทัศน์ใหม่สู่การเป็น "บริษัทเครื่องดื่มที่ผู้บริโภครักมากที่สุดในประเทศไทย เน้นการเติบโตทางธุรกิจควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
เปิดไลน์แพคเกจจิง rPET ใช้ทุกกลุ่มเครื่องดื่ม
อชิต กล่าวว่าเพื่อก้าวสู่การเป็นแบรนด์เลิฟของผู้บริโภคชาวไทยนับจากนี้ หนึ่งในแผนงานสำคัญ คือ การเตรียมความพร้อมในการใช้บรรจุภัณฑ์ (แพคเกจจิง) ด้วยกระบวนการผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล (rPET) 100%
โดยแพคเกจจิงดังกล่าว จะใช้ฐานโรงงงานผลิตในไทย เพื่อบรรจุสินค้าเครื่องดื่มของกลุ่มซันโตรีฯ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อนำมาใช้ในการทำตลาดในประเทศไทย เร็วๆนี้
อชิต กล่าวว่า “การผลิตแพคเกจจิง rPet ที่จะนำมาใช้กับกลุ่มเครื่องดื่มในพอร์ตซันโตรี่ฯ แน่นอนว่าส่งผลต่อต้นทุนแพคเกจจิงที่จะเพิ่มขึ้นราว 20-30% เทียบกับแพคเกจจิงพลาสติกเดิมทั่วไป โดยบริษัทมีแผนทยอยนำขวด rPet มาใช้ให้กับสินค้าเครื่องดื่มในเบื้องต้นราว 3% ก่อนเพื่อดูผลตอบรับผู้บริโภค จากนั้นจะทยอยเพิ่มเป็น 17% ภายในปี 2573 และวางเป้าหมายให้ครบได้ 100% ในอนาคต
ขยายพอร์ตเครื่องดื่มน้ำตาลน้อย รับเทรนด์สุขภาพ
อชิต กล่าวว่าจากวิสัยทัศน์ใหม่ที่วางไว้ที่จะเริ่มนับจากปีนี้เป็นต้นไปพร้อมกับการลงทุนในด้านต่างๆทั้งเครื่องจักรใหม่ เพื่อรองรับการเปิดตัวสินค้ากลุ่มใหม่ สินค้าแบรนด์ใหม่ ในการทำตลาดเครื่องดื่มในไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่มเสริมความแข็งแกร่งให้กับพอร์ตสินค้าเครื่องดื่มทั้งในกลุ่ม CDS และ NON-CDS
โดยซันโทรี่ฯ เตรียมทำตลาดผลิตภัณฑ์รสชาติใหม่ออกสู่ตลาด ในกลุ่มน้ำตาลน้อยและไม่มีน้ำตาล เพื่อรองรับเทรนด์สุขภาพที่กำลังมาแรง เพื่อชิงส่วนแบ่งการตลาดได้สูงถึง 2.6%
อชิต เสริมว่า “ขณะนี้บริษัทยังไม่มีแผนปรับราคาสินค้าเครื่องดื่มน้ำอัดลมแต่อย่างใด แม้ภาครัฐจะเริ่มใช้ภาษีความหวานระยะที่ 3 ในวันที่ 1 เม.ย.66 นี้ ซี่งภาพรวมในการผลิตยังมีต้นทุนวัตถุดิบอื่นๆที่ทยอยปรับขึ้นในช่วงที่ผ่านมานอกเหนือจากน้ำตาลและการเก็บภาษี ซึ่งบริษัทจะใช้วิธีบริหารจัดการต้นทุนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อคงราคาเดิมสินค้าไว้ให้นานที่สุด
อย่างไรก็ตาม ราวเดือนมิ.ย.ปี 2565 ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ปรับราคาเครื่องดื่มน้ำอัดลมเป๊ปซี่สูตรปกติ ไปแล้วในอัตราเฉลี่ย 1-2 บาท ทุกขนาด และทุกแพ็กเกจจิง
ส่ง Rock Star เข้าตลาดชูกำลังไลฟ์สไตล์ ยุคใหม่
อชิต กล่าวว่าบริษัท ยังเตรียมแผนขยายสินค้ากลุ่มนวัตกรรมเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เพื่อทำตลาดใหม่ทั้งในกลุ่มชาและกาแฟพร้อมดื่ม รวมถึงเครื่องดื่มให้พลังงานระดับพรีเมียม ภายใต้แบรนด์ ร็อคสตาร์ (Rock Star)
โดยสินค้ากลุ่มหลังนี้ เพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ ที่หันมาบริโภคเครื่องดื่มให้พลังงานในรูปแบบ “ไลฟ์สไตล์ เอ็นเนอร์จี ดริงก์” เพื่อเติมความสดชื่นในแต่ละวัน
ขณะที่ตลาดเครื่องดื่มให้พลังงานระดับพรีเมียม คาดมีสัดส่วนราว 6-7% ของมูลค่ารวมตลาด เอนเนอร์จี ดริงก์ อยู่ที่ 20,000 ล้านบาท ซี่งกลุ่มเป้าหมายหลักสินค้าจะเป็นกลุ่มผู้บริโภคใช้แรงงาน
ทั้งนี้จากแผนธุรกิจภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ดังกล่าว เพื่อผลักดันรายได้บริษัททุกกลุ่มสินค้าให้เติบโตมากกว่าตลาดรวม ในอัตราไม่ต่ำกว่า 2 หลัก พร้อมวางเป้าหมายมีส่วนแบ่งการตลาดในแต่ละกลุ่มสินค้าเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 1% ต่อเนื่อง
เป้าขายโตกว่าตลาดรวม อัตรา2หลัก
อชิต กล่าวต่อในส่วนของช่องทางการทำตลาดในไทย ยังมีความแข็งแกร่งจากเครือข่ายตัวแทนกระจายสินค้าหลัก ที่มีจำนวนมากกว่า 20 รายในปัจจุบัน เพื่อทำตลาดในร้านค้าปลีกดั้งเดิม เครือข่ายร้านอาหาร พร้อมขยายช่องทาง E-commerce เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตาม จากแผนธุรกิจที่วางไว้ บริษัทฯมองใน 5 ปีข้างหน้าจะยังมีสัดส่วนรายได้จากการทำตลาดสินค้าเครื่องดื่มน้ำอัดลมราว 70% และในกลุ่มเครื่องดื่มไม่อัดลม สัดส่วน30% ด้วยแต่ละกลุ่มยังมีฐานการตลาดที่ใหญ่มาก ทำให้ยังมีช่องว่างการทำตลาดอีกมาก
ปัจจุบันบริษัทฯ มีผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มครอบคลุมในกลุ่ม CDS อาทิ แบรนด์เป๊ปซี่, มิรินด้า, เซเว่นอัพ และในกลุ่ม Non-CDS อาทิแบรนด์ ลิปตัน, เกเตอเรด, ร็อคสตาร์, ทีพลัส, และ น้ำดื่มอควาฟิน่า โดยภาพรวมตลาดเครื่องดื่มน้ำอัดลมในปี 2565 คาดอยู่ที่ 57,000 ล้านบาท และเครื่องดื่มไม่อัดลม (ไม่รวมน้ำดื่ม) คาดมีมูลค่าราว 1.5-2 แสนล้านบาท
จัดงบกว่า 1,000 ล.บาท ทำตลาดกว่า 22 แคมเปญ
ด้าน อนวัช สังขะทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าในปี2566 บริษัทเตรียมใช้งบการทำตลาดสินค้ารวมไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท โดยจะมุ่งให้น้ำหนักการทำดิจิทัล มาร์เก็ตติง เป็นหลัก เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่
เพื่อรองรับตลาดเครื่องดื่มไทยในช่วงปี 2561-2565 ซี่งพบว่ายังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยในปีนี้ บริษัทวางแผนธุรกิจเพื่อชิงส่วนแบ่งการตลาด ผ่าน 5 กลยุทธ์หลัก ดังนี้
1.Consumer Centric ทำความเข้าใจผู้บริโภคอย่างถ่องแท้
2.Product พัฒนาและนำเสนอสินค้าทั้ง 9 แบรนด์ ให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคและตอบรับการเติบโตของตลาด
3.Awareness สร้างการรับรู้ผ่าน 22 แคมเปญส่งเสริมการตลาดตลอดปี 2566 เพื่อครองใจผู้บริโภค
4.Engage สร้างประสบการณ์ตรงให้ผู้บริโภค โดยตั้งเป้าแจกชิม 10 ล้านขวด และสื่อสารการตลาดผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์
5.Convert วางแผนกลยุทธ์ราคาและกิจกรรมส่งเสริมการขายที่จูงใจ
แนวทางดังกล่าว ยังเป็นไปในทิศทางเดียวกับกระแสตลาดเครื่องดื่มในปี 2023 พบว่า ความนิยมเครื่องดื่มกลุ่มโคล่า ยังครองอันดับ1 คิดเป็นสัดส่วน 72% ของกลุ่มCDS และสัดส่วน 35% ของตลาดเครื่องดื่มรวม (Liquid Refreshing Beverage : LRB)
โดยเครื่องดื่มกลุ่มโคล่า มีอัตราเติบโตสองเท่า โดยกลุ่มสินค้าเครื่องดื่ม CSD+ หรือ กลุ่มน้ำอัดลมเพิ่มคุณประโยชน์ ขยายตัวสูงกว่า 12เท่า เช่นเดียวกับกลุ่มชาพร้อมดื่ม เติบโต23% และกลุ่มกาแฟ เติบโต 11%