ขยะพลาสติกที่ได้ชื่อว่าเป็น 'ขยะที่ย่อยสลายได้ยากที่สุด' นั้นกำลังจะมีนวัตกรรมใหม่ มาย่นระยะเวลากำจัดขยะจากหลักร้อยปี เหลือเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น!
มีรายงานวิจัยใหม่ล่าสุดที่ถูกตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature จากทีมวิจัยมหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน (University of Texas at Austin) ประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดเผยถึงการค้นพบเอนไซม์ใหม่ที่ชื่อ ‘FAST- PETase’ ซึ่งมีคุณสมบัติสามารถช่วยลดระยะเวลาย่อยสลายพลาสติกประเภท PET ที่มักนิยมนำมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร เช่น ขวดน้ำ, กล่องบรรจุอาหาร หรือกล่องพลาสติก ซึ่งเดิมทีพลาสติกเหล่านี้ต้องใช้เวลาย่อยสลายกว่าร้อยปี เหลือเพียงภายใน 1 วันเท่านั้น
ทั้งนี้ รายงานระบุว่า ทีมวิจัยได้ทำการปรับคุณสมบัติของเอนไซม์ PETase ซึ่งเป็นแบคทีเรียย่อยสลายพลาสติกที่มีอยู่เดิมตามธรรมชาติ ให้ออกฤทธิ์ได้ดีขึ้นและมีกระบวนการย่อยสลายเร็วขึ้นกลายมาเป็นเอนไซม์ชนิดใหม่ที่ชื่อว่า FAST- PETase (Functional, active, stable and tolerant PETase)
ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้ทำการทดลองนำเอนไซม์ FAST- PETase มาย่อยสลายบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากโพลิเมอร์โพลีเอทิลีนเทเรพทาเลต (PET) จำนวน 51 รูปแบบที่แตกต่างกัน และพบว่าสามารถย่อยสลายบรรจุภัณฑ์บางรูปแบบได้ภายใน 1 สัปดาห์ และบางรูปแบบสามารถย่อยสลายได้ภายในเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง ซึ่งความเร็วในการย่อยสลายขึ้นอยู่กับรูปแบบและความหนาของเนื้อพลาสติก นอกจากนี้พลาสติกที่ย่อยสลายไปแล้วยังสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้อีกด้วย
ปัจจุบัน วิธีการกำจัดพลาสติกที่นิยมใช้กันทั่วไปมากที่สุด คือการทิ้งลงในหลุมฝังกลบที่เน่าเปื่อยในอัตราที่ช้ามาก หรือเผาทิ้ง ซึ่งก็แลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูง และต้องใช้พลังงานมาก โดยกระบวนดังกล่าวนั้นยังไปสร้างก๊าซพิษในบรรยากาศ
ถือว่าเป็นการค้นพบที่สำคัญมาก ๆ สำหรับมนุษยชาติ รวมทั้งเป็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญต่อวงการรีไซเคิล ที่อาจเป็นความหวังให้มนุษย์เราสามารถกำจัดขยะพลาสติกวันละหลายล้านตัน และทำให้สามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมทั่วโลกได้อย่างจริงจัง