ถ้าหาก กกต.คุมค่าใช้จ่ายการเลือกตั้งได้ การซื้อเสียงก็คงจะไม่เกิดขึ้น การเลือกตั้งก็บริสุทธิ์ยุติธรรม การทุจริตคอรัปชั่น ก็จะลดลงไปโดยปริยาย ประเทศไทยเจริญก้าวหน้าไปอีกไกล
การเลือกตั้งทั่วไปในแต่ละครั้ง เงินสะพัดมหาศาล โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ในวันที่ 14 พ.ค.นี้ "ธนวรรธน์ พลวิชัย" อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ระบุว่า จะมีเม็ดเงินสะพัดกว่า 5 หมื่นล้านบาท นั่นเป็นการคาดการณ์การใช้จ่ายเงินในระบบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั้งระบบ
อย่างไรก็ตามนอกจากเงินในระบบธุรกิจเลือกตั้งแล้ว ยังจะมีการใช้เงินในระบบใต้ดินกันมหาศาล เพื่อชิงเก้าอี้ส.ส.400 เขต และส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ 100 คนให้ได้มากที่สุด โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือเข้าไปเป็นรัฐบาล ซึ่งก่อนหน้านี้ มีพรรคการเมือง ดูดส.ส.ไปไว้ในสังกัดกันในช่วงก่อนยุบสภาไม่กี่เดือน ด้วยมูลค่า 30-50 ล้านบาทสำหรับ ส.ส.เกรด A ที่มีโอกาสชนะการเลือกตั้งสูง ส่วนเกรด B และ เกรดซี ค่าตัวลดหลั่นกันลงมา
แต่ทว่า เมื่อไปส่องดูประกาศของกกต.เกี่ยวกับการควบคุมค่าใช้จ่ายของส.ส.และพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง ในวันที่ 14 พ.ค.นี้ มีกำหนดไว้ดังนี้ ค่าสมัครส.ส.ในระบบเขต คนละ 1 หมื่นบาท ซึ่งหากพรรคใด ส่ง ผู้สมัครครบ 400 เขต จะต้องใช้เงิน จำนวน 4 ล้านบาท
ในส่วนค่าใช้จ่ายของ ส.ส.เขตในการเลือกตั้ง กกต.กำหนดไว้ คนละ ไม่เกิน 1.9 ล้านบาท ซึ่งหากพรรคใดใจถึงก็ต้องควักกระเป๋าให้ผู้สมัครทุกคน 400 เขต รวมกันแล้วต้องใช้เงินถึง 760 ล้านบาท ในขณะที่ ค่าใช้จ่ายพรรค ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ กกต. กำหนดเพดานไม่เกิน 44 ล้านบาท และ เมื่อรวมเบ็ดเสร็จแล้ว พรรคการเมืองอาจต้องใช้เงินประมาณ 808 ล้านบาท เพื่อออกเป็นค่าใช้จ่ายให้กับผู้สมัครส.ส. ซึ่งแนวโน้มพรรคใหญ่จะทำเช่นนั้น
ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายดังกล่าว นั้น เป็นเพียงค่าใช้จ่ายเบื้องต้นเท่านั้น ยังไม่รวมถึงเงินใต้ดินที่จะถูกนำมาเพื่อซื้อเสียง ซึ่งหากถามว่า พรรคการเมืองเหล่านั้น จะเอาเงินมาจากไหน แน่นอนว่า แต่ละพรรคต้องมีนายทุนใหญ่เข้ามาหนุน ออกทุนให้ระหว่างการเลือกตั้งถึงจะสามารถดึงผู้สมัครส.ส.เกรด A ให้มาอยู่ด้วย
โดยทุนใหญ่ดังกล่าวจะได้รับค่าตอบแทนหลังการเลือกตั้ง ในลักษณะการได้สัมปทานจากรัฐ หรือชนะการประมูลในโครงการสำคัญๆของรัฐบาล
สำหรับ ค่าใช้จ่ายเลือกตั้งปี 62 ของพรรคการเมือง ที่ กกต.ได้ประกาศ นั้น อาทิ พรรคเพื่อไทย 29,241,192.07 ล้านบาท พรรคอนาคตใหม่ (ก้าวไกล) 32,252,377,70 ล้านบาท พรรคพลังประชารัฐ 30,210,151.98 ล้านบาท พรรคภูมิใจไทย 23,902,200.31 ล้านบาทประชาธิปัตย์ 32,602,895.36 ล้านบาท
ทั้งหมดนี้ ก็พอจะประเมินได้ว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พ.ค.นี้ กกต.จะคุมค่าใช้จ่ายได้จริงหรือไม่ ซึ่ง ความจริง ถ้าหาก กกต.คุมค่าใช้จ่ายการเลือกตั้งได้ การซื้อเสียงก็คงจะไม่เกิดขึ้น การเลือกตั้งก็บริสุทธิ์ยุติธรรม การทุจริตคอรัปชั่น ก็จะลดลงไปโดยปริยาย ประเทศไทยเจริญก้าวหน้าไปอีกไกล