เส้นทางพลังงานไทยสู่การเป็น Net Zero

เส้นทางพลังงานไทยสู่การเป็น Net Zero
ขับเคลื่อนภาคพลังงานไทยรับมือสภาพอากาศแปรปรวน พุ่งเป้าพลังงานทดแทน ลดใช้ฟอสซิล มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน-ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

หากพูดถึงบทบาทของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หลายๆ คนอาจทราบดีว่า ภารกิจสำคัญก็คือ การสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพทางพลังงาน สามารถบริหารจัดการให้มีพลังงานเพียงพอต่อความต้องการใช้ในระยะยาว และบริหารจัดการเรื่องราคาพลังงานให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ผลิตและผู้ใช้ แต่นับจากนี้ไป กกพ.จะมีบทบาทสำคัญในการนำพาประเทศก้าวไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

เพราะวันนี้ ทุกภาคส่วนกำลังก้าวไปสู่บทบาทใหม่ที่มีความสำคัญต่อทุกชีวิตบนโลกใบนี้ เพื่อให้เราสามารถรับมือกับสภาวะอากาศที่แปรปรวนอันเป็นผลมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาลจากทุกประเทศทั่วโลก และทำให้นานาประเทศทั่วโลกทำข้อตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือที่เรียกว่า COP26 เพื่อร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และร่วมกันผลักดันนโยบาย มาตรการสนับสนุน เพื่อให้ก้าวไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ได้แก่ ก้าวไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี พ.ศ. 2593 และก้าวไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี พ.ศ. 2608

สำหรับประเทศไทยเรานั้น ทุกภาคส่วนทั้งรัฐบาล หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ต่างก็มีนโยบายและแผนการดำเนินงานที่จะมุ่งไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์และใส่หมวด Sustain BIZ/Green ที่มุมบน

โดยในส่วนของนโยบายนั้น รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงาน จะส่งต่อนโยบายมายังหน่วยงานที่อยู่ภายใต้กระทรวงพลังงาน เพื่อกำหนดทิศทาง ภารกิจ และเป้าหมายให้สอดคล้องกัน โดยมีคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเป็นแม่งาน ส่วนการกำกับดูแลนั้น เป็นบทบาทหน้าที่ของทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งจะนำนโยบายที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์


จากรัฐบาล มาเชื่อมโยงเข้ากับภารกิจและแผนงานในการกำกับดูแล เช่น หากได้รับนโยบายอย่างชัดเจนจากทางรัฐบาล กกพ. ก็จะนำมาจัดทำเงื่อนไข หลักเกณฑ์ในการอนุญาต และการออกระเบียบต่างๆ ที่จะสนับสนุนให้เกิดการใช้พลังงานสะอาด หรือลดการใช้พลังงานถ่านหิน เป็นต้น

และภาคการกำกับดูแลที่ว่า ก็จะต้องทำงานร่วมกันกับภาคการผลิต หรือ Operator เพื่อนำไปสู่การออกระเบียบ กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่จะสนับสนุนแก่บรรดาผู้ผลิตไฟฟ้าและพลังงานที่กำลังมุ่งเน้นการลงทุน และการผลิตพลังงานจากแหล่งเชื้อเพลิงและแหล่งพลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการสนับสนุนให้เกิดกลไกการใช้พลังงานสะอาด ตามนโยบายของ Enhanced Single Buyer ที่การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะเป็นการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดจากโรงไฟฟ้าทุกขนาด

สำหรับภาคของการใช้ ก็จะต้องส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดให้เข้าถึงระดับครัวเรือน ด้วยมาตรการการสนับสนุนการติดโซลาร์บนหลังคา รวมถึงเรื่องการยกระดับในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น สายส่ง และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด

ปัจจุบัน กกพ. ก็ได้ส่งเสริมให้เกิดการผลิตพลังงานสะอาดในหลายรูปแบบ ทั้งพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ พลังงานลม รวมถึง ไบโอแก็ส ไบโอแมส หรือโรงไฟฟ้าที่ใช้เศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร และในอนาคตก็มีแผนจะสนับสนุนเรื่องพลังงานไฮโดรเจนเพื่อทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลให้น้อยลง หรือแม้แต่การใช้พลังงานสะอาดนิวเคลียร์ ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สามารถให้ความมั่นใจด้านความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

สำหรับการดำเนินงานไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์นั้น จะยึดโยงกับแผนพลังงานชาติ ซึ่งจะมี (1) แผนการผลิตไฟฟ้า และการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า (2) แผนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (3) แผนการใช้ก๊าซธรรมชาติ (4) แผนการใช้น้ำมัน และ (5) แผนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแผนพลังงานแต่ละประเภทจะกำหนดเป้าหมายและแผนงานเกี่ยวกับการใช้พลังงานสะอาดไว้ เช่น แผนการผลิตไฟฟ้า มีเป้าหมายที่จะใช้พลังงานสะอาด และพลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้าให้ได้สัดส่วนถึงร้อยละ 51 จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 30

นอกจากนี้ก็จะมีการกำหนดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่จะปล่อยลดลงในอนาคตอีกด้วย เช่น ในปีพ.ศ.2563 ไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงานประมาณ 100ล้านตัน Co2 แต่ในช่วงปี พ.ศ. 2593 คาดว่าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหลือประมาณ 41 ล้านตัน ซึ่งก็ลดลงเกือบร้อยละ 60 ซึ่งจะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น


ก็จะต้องมาจากการทำงานร่วมกันทั้งจากรัฐบาลผู้กำหนดนโยบาย ภาครัฐผู้กำกับดูแล และภาคการผลิต ซึ่งหากเราสามารถผลักดันให้มีผู้ผลิตพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น ทั้งพลังงานโซลาร์ พลังงานลม พลังงานชีวมวล พลังงานไบโอแก๊ส พลังงานจากขยะ สนับสนุนการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลให้น้อยลง และสนับสนุนให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น และใช้พลังงานสะอาดอย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะสามารถก้าวไปสู่เป้าหมายได้

แต่สิ่งท้าทายที่จะตามมา หลังจากที่สามารถลดพลังงานที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ ก็คือ ราคาพลังงานที่เราต้องจ่ายก็อาจจะสูงขึ้นด้วยเพราะเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นมีราคาถูกกว่าเชื้อเพลิงที่มาจากพลังงานสะอาด แม้ว่าแนวโน้มราคาต้นทุนของพลังงานสะอาดในอนาคตอาจจะลดลงก็ตาม ถึงวันนั้น เราพร้อมที่จะจ่ายค่าไฟฟ้า จ่ายค่าพลังงานสะอาดที่แพงขึ้น เพื่อร่วมกันรักษาโลกใบนี้ไว้หรือไม่ หรือยังไม่ต้องรีบคิดตอนนี้ เอาไว้มีชีวิตอยู่จนถึงวันนั้นก่อนค่อยตอบอีกทีก็ได้

TAGS: #NetZero #คาร์บอน #ปล่อยก๊าซเรือนกระจก