CCS Model นวัตกรรมรักษ์โลก กักเก็บคาร์บอนลงใต้ดินภาคพลังงาน

CCS Model นวัตกรรมรักษ์โลก กักเก็บคาร์บอนลงใต้ดินภาคพลังงาน
หนุนภาคพลังงาน โรงไฟฟ้า-แท่นขุดเจาะปิโตรเลียม ลดปลอยคาร์บอน ลงทุน CCS Model กักเก็บมลพิษลงใต้ดินแปรรูปให้เกิดประโยชน์

 

CCS (Carbon Capture and Storage) หรือ กระบวนการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กำลังเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อร่วมลดการปล่อยมลพิษออกสู่ชั้นบรรยากาศ  โดยเฉพาะของเสียจากแหล่งกำเนิดขนาดใหญ่ เช่น โรงไฟฟ้าพลังถ่านหิน โรงงานผลิตที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นผลิตภัณฑ์ข้างเคียงในอุตสาหกรรมอื่นๆ ตลอดจนกิจการขุดเจาะปิโตรเลียม ซึ่งจะเก็บคาร์บอนที่ได้ขนส่งไปไว้ในสถานที่ที่จะไม่สามารถกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศได้ เช่น โพรงทางธรณีวิทยาที่อยู่ใต้ดิน

ปัจจัยที่ผลักดันให้เกิดการศึกษาเรื่อง CCS  Model อย่างจริงจัง คือ ข้อตกลงปารีสที่ให้ความสำคัญเรื่อง วิกฤตด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากข้อตกลงปารีสที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาอุณหภูมิของโลก ไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เป็นผลให้ประเทศที่พัฒนาแล้วเร่งพัฒนาเทคโนโลยีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เทคโนโลยี CCS นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายประเทศทั่วโลกได้ใช้เทคโนโลยีนี้กับโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและถ่านหิน รวมทั้งได้ดำเนินการศึกษาและประยุกต์ใช้ในพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ตัวอย่างเช่น  แคนาดา เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น จีนและอินเดีย เป็นต้น

CCS อาจเหมือนเป็นเทคโนโลยีที่ไกลตัว แต่เราควรทำความรู้จักและตามทันกระแสโลกเรื่องสิ่งแวดล้อม การที่กลุ่มบริษัทชั้นนำด้านพลังงานของประเทศไทยได้เริ่มศึกษาความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี CCS Model อย่างจริงจัง จึงถือเป็นก้าวที่สำคัญเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยให้ได้ตามเป้าที่วางไว้และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อื่นคงตามมาในไม่ช้า

สำหรับประเทศไทย กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในฐานะกำกับดูแล อุตสาหกรรมปิโตรเลียม ได้ให้ความสนใจกับเทคโนโลยีดังกล่าว ซึ่งช่วยดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งกำเนิดและนำไปกักเก็บถาวรในชั้นหินทางธรณีวิทยาใต้ดิน (Geological Formation) รวมทั้งนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์ด้วยการนำไปแปรรูปให้เป็นสารสำคัญอื่นๆ  โดยมีแนวคิดกำหนดให้บริษัทขุดเจาะสำรวจ ทุกแห่ง ต้องนำระบบ CCS มาปรับใช้

ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้ศึกษา สำรวจ วิจัยข้อมูลธรณีวิทยา รวมทั้งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อผลักดันการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มทำโครงการนำร่องที่สำคัญ ได้แก่

1.โครงการอาทิตย์ ตั้งอยู่ในอ่าวไทย นอกชายฝั่งจังหวัดสงขลา ซึ่งจะสามารถเริ่มอัด CO2 (First injection) ได้จริงภายในปี ค.ศ. 2026

2.โครงการพื้นที่อ่าวไทยตอนบน (Northern Gulf of Thailand, North GOT) ซึ่งคาดว่าจะมีศักยภาพในการกักเก็บ CO2 ในชั้นหินอุ้มน้ำเค็มในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน เพื่อจัดการ CO2 ที่มีการปลดปล่อยบริเวณพื้นที่จากนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกของประเทศมาบตาพุดซึ่งเป็นแหล่งปล่อย CO2 ของประเทศ

3.โครงการแอ่งแม่เมาะและแอ่งลำปาง ในพื้นที่จังหวัดลำปาง กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ร่วมกับกรมการพลังงานทหาร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ปตท.สผ. และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศึกษาพื้นที่ศักยภาพเพื่อใช้ในการกักเก็บ CO2 จากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ

นอกจากนี้ยังได้ศึกษาและประเมินศักยภาพของแหล่งกักเก็บ CO2 ในอนาคต (CO2 Capacity) ในชั้นหินธรณีวิทยาหลายแหล่ง ทั้งบนบกและในทะเลอ่าวไทย โดยประเมินศักยภาพในการกักเก็บ CO2 ในพื้นที่จากหลุมผลิตปิโตรเลียมที่ไม่มีศักยภาพในการไหลเชิงพาณิชย์ (Depleted Reservoirs) จำนวน 3 แอ่ง คือ แอ่งมาเลย์ (North Malay Basin) แอ่งสินภูฮ่อม และ แอ่งพิษณุโลก

TAGS: #CCS #โรงไฟฟ้าถ่านหิน #ขุดเจาะปิโตรเลียม #ลดปล่อยคาร์บอน