แบรนดิ มองเลนส์โลกปี 2568 เผชิญ 4 เรื่องใหญ่ ถาม ‘ประเทศไทย’ ตอนนี้เก่งเรื่องไหน? ในเวทีสากล ชี้เทรนด์ใหญ่ทุกภาคส่วนต้องคอลแล็บส์ สร้างเติบโตยั่งยืนพร้อมกัน
ปิยะชาติ (อาร์ม) อิศรภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริษัทแบรนดิ แอนด์ คอมพานีส์ จำกัด หรือ BRANDi ธุรกิจที่ปรึกษากลยุทธ์ความยั่งยืน กล่าวในงาน BRANDi and Companies Presents ‘FUTURE READY 2025’ ต่อทิศทางการขับเคลื่อนองค์กรธุรกิจระดับโลกยังต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2568 นี้ ประกอบด้วย 4 หัวข้อใหญ่ในระดับโลก (The 2025 Global Headline) ดังนี้
- ตื่นตูม (Panic) ระหว่างสองชาติ สหรัฐอเมริกา และ จีน โดยเฉพาะนโยบายของรัฐบาล โดนัลด์ ทรัมป์ 2.0 และ เทคโนโลยี ที่จะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในภาพใหญ่ที่ ทั่วโลกต้องจับตา
- แตกแยก (Fragmentation) ความขัดแย้งระหว่างรัฐ ที่มีจำนวนมากถึง 59 เหตุการณ์ นำไปสู่ สงครามข้ามประเทศ ซึ่งถือเป็นครั้งใหญ่นับตั้งแต่ปี 2489 หรือในรอบ 79 ปีที่ผ่านมา หลังผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่สอง
- ตีบตัน (Stagnation) จากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกคาดการณ์อยู่ที่ 3% จากก่อนหน้า 4% ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ (Pandemic) ซึ่งถือเป็นความท้าทายในการเติบโตทุกภาคอุตสาหกรรม
- ตกต่ำ (Degradation) จากผลกระทบของมนุษยชาติต่อโลก อาจทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นอีก 1.8 องศาเซลเซียส ซึ่งอาจนำไปสู่การแตกสลายของโลก
จากปัจจัยดังกล่าว ‘ปิยะชาติ’ ย้ำว่า ประเทศไทย ต้องกลับมาทบทวนพร้อมตั้งคำถามว่า “เราเก่งอะไร แล้วจะไปต่อในทิศทางใดเพื่อสร้างความยั่งยืนบนเวทีโลกทั้งในปัจจุบันและอนาคตซึ่งยังต้องสอดคล้องทั้ง 3 ส่วนหลัก คือ คน (People) โลก (Planet) และ ผลกำไร (Profit) อย่างต่อเนื่อง” พร้อมเสริมว่า ”การเตรียความพร้อมด้านคนยังเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งหากเรายังเป็นผู้เล่นในไทยลีก จะมีความพร้อมและความสามารถข้าไปแข่งขันในสนามที่มีผู้เล่นในลีกอื่นๆที่ต่างปรับตัวตามมาตรฐานใหม่ได้หรือไม่”
นอกจากนี้ ในโอกาสที่ตนเอง ซึ่งเป็นภาคเอกชนไทยได้มีส่วนร่วมในการประชุมประจำปี ‘สภาเศรษฐกิจโลก’ หรือ WEF (World Economic Forum) จัดขึ้น ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 20-25 ม.ค. 2568 ที่ผ่านมานั้น ยังพบว่า การหารือระหว่างผู้นำโลกในประเด็นเชิงเศรษฐกิจนั้น ยังมีท่าทีในลักษณะ ‘การเจรจาต่อรอง’ (Deal Maker) มากขึ้น
ปิยะชาติ กล่าวต่อถึงกระแสการเปลี่ยนแปลงโลกผ่านกลไกยุคหลังเพนดามิก ที่จะส่งผลทั้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการนำเข้าสินค้า มาตรการการกีดกันต่างๆ ทางการค้า และการควบคุมการส่งออก ขยายตัวมากขึ้น จากทิศทางดังกล่าวนำไปสู่การรวมกลุ่มพันธมิตรทางภูมิศาสตร์ (Geopolitical Transition Alliance) มากกว่า 16++ กลุ่มประเทศ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองและปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าระหว่างกลุ่มประเทศพันธมิตร
และสุดท้ายนำไปสู่ภาพใหญ่ ‘ไตรโลกาภิวัตน์’ (Tri-Globalization) ประกอบด้วย 3 กลุ่มประเทศขนาดใหญ่ คือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งจะเป็นซูเปอร์ พาวเวอร์ จากฝั่งตะวันตก , จีน มหาอำนาจเกิดใหม่ จากฝั่งตะวันออก และ สหภาพยุโรป จะยังเป็นฝ่ายรับผลปนะโยชน์อย่างต่อเนื่อง
“เห็นได้ชัดจากนโยบายทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เมื่อประกาศการปรับขึ้นภาษีอัตรา 25% ในทันทีระหว่างประเทศคู่ค้า พร้อมประกาศออกสื่อและเตรียมใช้จริงภายใน 90 วัน โดยช่วงระหว่างนี้เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการเจรจาต่อรองกันได้มากขึ้น” ปิยะชาติ อธิบายเสริม
ขณะเดียวกันยังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ โดยมีอัตรากำไร และด้านความปลอดภัยเป็นสื่งขับเคลื่อน ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ผู้ผลิตชิป ต่างกดดันให้ตัวเองออกไปค้นหาความปลอดภัยด้านอุปทาน (Supply) ไปพร้อมกับการรักษาความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนเอาไว้
ปิยะชาติ กล่าว่า “จากที่ผ่านมาอย่างผลิตภัณฑ์ไอโฟนหนึ่งชิ้น ถูกออกแบบในสหรัฐฯ แต่ชิปเซ็ทสร้างในใต้หวันโดยผู้ผลิตจากลุ่มยุโรป เพื่อประกอบขึ้นในจีน และบรรจุสินค้าในอาเซียน เป็นต้น” พร้อมเสริมว่า “สถานการณ์นี้ยังนำไปสู่กระแสการเพิ่มมูลค่าในระบบห่วงโซ่สินค้ามาขับเคลื่อน จากประเทศจีนที่มีศักยภาพในการเข้าสู่ระบบแวลูเชน เพื่อรับผลประโยชน์สูงสุดทางการค้าโลก ด้วยกลไกต่างๆที่มีศักยภาพตลอดซัพพลายเชนตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำได้ครบวงจรด้วยสินค้าที่ครีเอทขึ้นในจีน ที่ปัจจุบันมีแบรนด์ทรงพลังและติดท็อป20 ระดับโลก”
ขณะที่ การเปลี่ยนผ่านทางสังคม ที่เกือบทั่วโลกเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างต่อเนื่อง หลังปี 2562 เป็นต้นมาในกลุ่มคนที่มีอายุเกิน 65 ปี ขณะที่ในกลุ่มประเทศแอฟริกา กลับพบว่ามีอัตราการเกิดใหม่ของประชากร และ กลุ่มคนวัยทำงานที่สูงสวนทางกลับโลก และอาจเข้าสู่ช่วงการยกระดับทางเศรษฐกิจใหม่ (Raising Economy)
“สิ่งที่ควรรับมือ คือ การทบทวนทักษะในกลุ่มแรงงานที่มีอยู่สามารถแมทช์กับโลกการทำงานในยุคใหม่ได้มากน้อยเพียงใด”
ขณะที่ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ที่เข้ามามีส่วนร่วมหลักต่อการเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอกับคนทั่วโลก โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่จะต้องเทรนทั้ง 2 ด้านคือพัฒนาไปต่อข้างหน้าเพื่อเป็นผู้ช่วยมนุษย์ และ ควบคุมเพื่อไม่ให้ AI เข้ามาแทนที่มนุษย์
นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึง การเปลี่ยนผ่านทางสิ่งแวดล้อม ที่ยังส่งผลกระทบต่อโลกอย่างต่อเนื่อง ตามวาระการลดการปล่อย CO2 ซึ่งยังต้องดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง และสุดท้าย การเปลี่ยนทางทุนมนุษย์ ในการพัฒนาทักษะให้เป็นลักษณะ Co-Pilot เพื่อการทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่นกับAI
ปิยะชาติ ทิ้งท้ายว่า จากวาระที่เกิดขึ้น กล่าวสรุปได้ว่า ทั่วโลกกำลังถูกขับเคลื่อนไปสู่คอลาบอเรชั่น (Collaboration) การทำงานร่วมกันระหว่างพันธมิตรมากขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในด้านต่างๆ ที่จะเติบโตไปร่วมกัน ซี่งการไปสู่ในด้านนี้ จะต้องเริ่มตั้งแต่การปรับเปลี่ยน Mindset ชุดความคิดให้ไปสู่การเป็นเรื่องปกติ (Common Agenda) จากเดิมที่ใช้ชุดความคิดแบบเฉพาะตัวเอง (Mind Own Agenda) เพื่อเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกใหม่ (New World order Transition)