มูนี แบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์ ESG ที่มาก่อนกาล จากจุดเริ่มต้น 8 ปีก่อน‘วิลาสินี ชูรัตน์’ได้มองเห็นคุณค่าวัชพืชผักตบชวาที่เอ่อล้นในแม่น้ำและนำมาพัฒนาเป็นเส้นใยวัตถุดิบ สู่จุดตั้งต้นสินค้ารักษ์โลกในวันนี้
วิลาสินี ชูรัตน์ ผู้ก่อตั้งธุรกิจ ‘มูนี’ (MUNIE) แบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์ เล่าว่าในปี 2568 นี้ จะเป็นปีที่ ‘มูนี’ เข้าสู่การทำธุรกิจเป็นปีที่ 8 แล้ว จากแพสชั่นการทำธุรกิจ ที่มองห็นว่าวัชพืชอย่างผักตบชวาในบ้านเราที่ลอยอยู่ตามแม่น้ำลำคลองจำนวนมหาศาล ที่หลายคนอาจแค่เห็นแล้วก็ปล่อยให้ผ่านไป แต่ตัวเธอเองกลับเชื่อว่า เจ้าผักตบชวาลำต้นอวบๆเหล่านี้จะไม่เปล่าประโยชน์เลย หากนำมาแปรรูปเป็นเส้นใยสิ่งทอ และต่อยอดไปสู่สินค้าแฟชั่นเครื่องแต่งกายได้ ก็น่าจะเป็นวิธีเพิ่มมูลค่าให้กับกองวัชพืชเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี
จากจุดเริ่มต้นในครั้งนั้น วิลาสินี บอกว่า ใช้เวลาลองผิดลองถูกไปพร้อมกับการทำงานร่วมกับทีมผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์ในมหาวิทยาลัยธัญบุรี เพื่อวิจัยและพัฒนาเส้นใยผักตบชวามาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ มูนี ยังทำงานควบคู่ไปกับวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ ในภาคอีสาน จำนวน 5 กลุ่ม อย่าง กลุ่มหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น กลุ่มปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา และในจังหวัดร้อยเอ็ด ฯลฯ พร้อมแบ่งการทำงานแตกต่างกันไป เช่น งานกลุ่มย้อมสีธรรมชาติ งานกลุ่มทอผ้า หรือบางกลุ่มที่ยังมีทักษะการทำลวดลายมัดหมี่
“มูนี จะใช้การบริหารจัดการทำงานของวิสาหกิจชุมชนในแต่ละจังหวัด เพื่อลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ซึ่งมีข้อดี คือ เราได้ช่วยกระจายรายได้และสร้างงานให้ท้องถิ่นอย่างแท้จริง มีชาวบ้านที่ทำงานร่วมกับมูนีราว 30 ราย ซึ่งจะได้รับผลตอบแทนโดยการจ่ายค่าแรงเป็นชิ้นงาน อย่างถ้าเป็นการย้อมสีธรรมชาติจะจ่ายเป็นกิโลๆ 250-600 บาท แล้วแต่ สีเข้มอ่อน และวัตถุดิบที่ใช้ย้อมสี ถ้าทอผ้า จ่ายเป็นราคาต่อเมตร ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของลวดลาย โดยมูนีจะใช้วิธีให้คนทอเป็นผู้กำหนดราคา เพราะเป็นงานฝีมือ เหมือนเป็นงานศิลปะ”
โดย ในปีที่ผ่านมา มูนียังได้ขยายไลน์สินค้างานฝีมือถักโคร์เชต์จากผู้สูงอายุในกลุ่มกระเป๋า ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีมากอีกด้วย
วิลาสินี กล่าวว่า “แนวทางการทำธุรกิจภายใต้แนวคิดยั่งยืนสำหรับมูนี่ แล้ว คือการอยู่ร่วมกันระหว่างธุรกิจ และชุมชน อีกทั้งธรรมชาติต้องไม่ถูกทำลาย และพร้อมส่งแนวคิดเหล่านี้ต่อไปยังชุมชนที่ทำงานร่วมกันด้วย”
ปัจจุบันแบรนด์มูนี นอกเหนือจากผลิตและทำตลาดสินค้าหมวดแฟชั่นไลฟ์สไตล์ แล้ว ยังได้ขยายไลน์สินค้าไปยัง หมวด สินค้าตกแต่งบ้าน ของที่ระลึก ต่างๆ ที่ยังคงแนวคิดหลัก (Core Concept) ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้วัสดุจากธรรมชาติ ‘ผักตบชวา’ เป็นหลักอยู่
“สินค้าแบรนด์มูนีทั้งหมด 100% วางตำแหน่งเป็น Ecology Product เพราะมันคือ DNA ในการทำแบรนด์ของเรา” วิลาสินี ย้ำให้เห็นภาพแบรนด์ชัดขึ้น พร้อมเสริมว่า “วัตุถดิบหลักที่นำมาผลิตสินค้าทุกแคทตากอรี่ยังคงเป็นผักตบชวา ด้วยในตอนนี้ตลาดลูกค้าต่างชาติให้ความสนใจวัสดุตัวนี้มาก เพราะนอกจากเป็นเส้นใยธรรมชาติทางเลือกแล้วยังช่วยเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมทางน้ำ เหมือนยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว และลูกค้าคนไทยก็หันมาสนใจเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทำจากผ้าใยผักตบชวา”
แบรนด์ SME ไทย มาตรฐาน EU
จากเส้นทางของเส้นใยผักตบชวา ด้วยการพัฒนาสินค้าภายใต้แบรนด์มูนี ยังได้สะท้อนถึงความตั้งใจจริงของการเป็น Eco Lifestyle Branding อย่างแท้จริง ด้วยในปี 2567 ที่ผ่านมา ‘MUNIE’ ยังได้รับรางวัล ‘UN wep award’ เป็นรางวัลระดับสากลเป็นเครื่องหมายว่า มูนี่ จริงจังอย่างมากในเรื่องความยั่งยืน
วิลาสินี บอกว่า ปัจจุบันสหภาพยุโรป (EU) ได้ออกข้อกำหนด EUDR ว่าด้วยการป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า หากส่งของเข้ายุโรป ต้องมีเอกสารแจ้งว่าไม้นี้ได้จากแหล่งไหน และมีการควบคุมการตัดไม้หรือไม่ ทำให้ผู้ประกอบการ ระดับ SME ประสบปัญหาเรื่องเอกสาร การส่งออก
จากข้อกำหนดเหล่านี้ ทำให้มูนี มองหาโอกาสขยายตลาดใหม่ในกลุ่มเฟอร์นิเจอร์จากไม้ไผ่ เพื่อตอบโจทย์ตลาดที่รักงานไม้ แต่ไม่ต้องการตัดไม้ทำลายทรัพยากรป่าไม้ โดยมูนี่ ได้ Co project ในการร่วมออกแบบและการทำงานกับ ฮันส์ เคงเกน นักออกแบบชาวเนเธอร์แลนด์ พัฒนาคอลเล็คชั่น Stay ในการดีไซน์ชิ้นงานขึ้นมา
โดยขณะนี้ ยังเป็นช่วงเริ่มต้น ของเปิดตัวคอลเลคชั่นสินค้าจากไม้ไผ่และใช้วัสดุผสมร่วมกับผ้าทอมือจากใยผักตบชวา ในชื่อคอลเลคชั่น “Stay” ได้จัดแสดงในงานเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2568 | BKKDW2025 วีค จัดขึ้นที่ เซ็นทรัล เดอะ ออริจินัล สโตร์ ระหว่างวันที่ 8-16 ก.พ.ที่ผ่านมา และเตรียมนำไปอวดโฉมผลิตภัณฑ์อีกครั้งในงาน Style Bangkok 2025 จัดขึ้น ณ ศูนย์สิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 2-6 เม.ย. นี้
พร้อมเสริมต่อ ถึงแนวทางการทำตลาดสินค้าโค-โปรเจกต์ เฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งต่างๆ จากวัสดุไม้ไผ่ที่มีส่วนผสมเส้นใยผักตบชวามูนี่ ในครั้งนี้ เพื่อขยายไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ ในตลาดโรงแรม รีสอร์ต บูทีค โฮเตล ที่มีแนวคิดหลักด้านความยั่งยืน หรือ ที่เรียกว่า Sustainable Market เช่นเดียวกันอีก
วิลาสินี กล่าวว่า ปัจจุบันแบรนด์มูนี ทำตลาดหลักในไทยและในภูมิภาคอาเซียน พร้อมวางแผนขยายตลาดใหม่ๆ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ด้วยในเวลานี้ ยังต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆ รอบนอก ทั้ง การขึ้นกำแพงภาษี และ สงครามการค้า จีน อเมริกา เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้ มูนี่ ให้ความระมัดระวังก่อนบุกตลาดใหม่
ขณะที่กลุ่มเป้าหมายหลักแบรนด์มูนี่ จะวางเป็น กลุ่มที่มีแนวคิดชื่นชอบและให้ความสำคัญสินค้าอีโค และคนรุ่นใหม่ที่สนใจงานฝีมือ (Artisan) และงานทำมือ (Craft) ที่มีความเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวไม่ซ้ำใคร
โดยมูนี มีช่องทางจำหน่ายทั้ง อีคอมเมิร์ซผ่านเว็บไซต์แบรนด์ และช่องทางออฟไลน์ ด้วยหน้าร้านที่โครงการ one Bangkok ชั้น 1, คิง เพาเวอร์ บันยันทริ แกลเลอรี่ ชั้น 21 โรงแรมบันบันทรี และ ศูนย์การค้าริเวอร์ไซด์ พลาซ่า เจริญนคร ชั้น 2