ESG กับ การลงทุน

ESG กับ การลงทุน
วิฑูรย์  สิมะโชคดี

ทุกวันนี้  ความเจริญและความทันสมัยของโลกในหลายๆ ด้าน  ได้นำไปสู่ปัญหาความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อมมากขึ้นทุกที พร้อมๆ กับสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมโลกเพิ่มมากขึ้นด้วย

สถานการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด ยิ่งซ้ำเติมปัญหาต่างๆ ให้ขยายวงกว้างขวางขึ้นทั่วโลก

ดังนั้น ในภาวะที่โลกต้องเผชิญกับวิกฤตซ้ำซ้อนเช่นนี้  ความร่วมมือกันตั้งแต่วันนี้  เพื่อกลับมาดูแลโลกใบนี้อย่างเร่งด่วน  จึงไม่ใช่ “ทางเลือก” อีกต่อไป  แต่เป็น ”ทางรอด” สำหรับมนุษยชาติที่จะอยู่ร่วมกันบนโลกนี้อย่างสงบสุขและยั่งยืนเท่านั้น

สถิติที่น่าเป็นห่วง ก็คือการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและการอุปโภคบริโภคอย่างสิ้นเปลือง ตามจำนวนประชากรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 9.6พันล้านคน ในปี 2050 ก็จะมีผลให้ทรัพยากรธรรมชาติทั่วโลกขาดแคลนมากขึ้นทุกที

นักลงทุนจากสถาบันและองค์กรต่างๆ ทั่วโลก  จึงรวมตัวกันภายใต้ชื่อ “UN PRI” (Principle for Responsible Investment)  (จากการสนับสนุนขององค์การสหประชาชาติ)  เพื่อยึดหลักปฏิบัติสำหรับ “การลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ”  ซึ่งเน้นการปฏิบัติในประเด็นสำคัญด้าน “ESG” ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า “ธุรกิจอุตสาหกรรมควรเติบโตควบคู่ไปกับการคำนีงถึง 3 ปัจจัยหลัก คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล”

“ESG” จึงเป็นทั้งแนวความคิดและยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ใช้ขับเคลื่อนธุรกิจอุตสาหกรรมให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดย E คือ Environmental หมายถึง การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม  S คือ Social หมายถึง การจัดการด้านสังคม   และ G คือ Governance หมายถึง การจัดการด้านธรรมาภิบาล

 ESG จะเป็นปัจจัยที่มีความเชื่อมโยงและเกื้อหนุนกัน พร้อมๆ กับสนับสนุนธุรกิจอุตสาหกรรมให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน   นักลงทุนจึงควรนำปัจจัย ESG มาประกอบการวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุนในกิจการต่างๆ  โดยเปิดเผยข้อมูลด้าน “ESG”  อย่างเป็นรูปธรรม  เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมั่นใจได้ว่ามีส่วนร่วมสนับสนุนบริษัทที่ดำเนินธุรกิจและประกอบกิจการอย่างมีความรับผิดชอบและเพื่อความยั่งยืนอย่างแท้จริง 

ปัจจุบัน  แนวความคิดในการดำเนินธุรกิจและประกอบกิจการอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน  โดยยึดกรอบของ ESG กำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ทั้งจากบริษัทจดทะเบียนและนักลงทุนทั่วโลก ที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนในบริษัที่มีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนทั้งของกิจการและสังคมโดยรวม  โดยจะใช้ผลการดำเนินงานด้าน “ESG” ของธุรกิจอุตสาหกรรม จากตัวชี้วัดทั้ง 3ด้านนี้มาเป็นเกณฑ์ประกอบการพิจารณา  เพื่อประเมินความยั่งยืน ความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว  และความสามารถในการสร้างคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย  จากนั้นจึงตัดสินใจร่วมลงทุนหรือไม่ต่อไป

หลักการหรือแนวความคิดในประเด็น ESG จึงสะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนต้องการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบและแสวงหาผลตอบแทนที่ไม่ใช่อยู่ในรูปของผลกำไรเพียงอย่างเดียว  แต่ยังต้องการเห็นการดำเนินงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลของกิจการมากขึ้นด้วย

“ESG”  จึงยึดเอา “ความยั่งยืน” ของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม สังคมและส่วนรวมเป็น “เป้าหมาย”  ซึ่งสอดคล้องกับ “เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ของโลกหรือ Sustainable Development Goals (SDGs) 17 ข้อ ที่ประเทศต่างๆ เห็นชอบร่วมกันตามรายงานของ World Economic Forum (WEF) เมื่อปี 2015 แล้ว ครับผม !

TAGS: #ESG #UN #PRI #สื่งแวดล้อม #บรรษัทภิบาล