การเมืองยังพลิกผัน 4 ด่านหิน"พิธา"เส้นทางสู่นายกฯคนที่30

การเมืองยังพลิกผัน 4 ด่านหิน
การจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกลในขณะนี้นั้น ในทางการเมือง ถือว่ามาแค่ครึ่งทาง โอกาสพลิกผันที่ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรียังมีอยู่

การตั้งรัฐบาลก้าวไกลในขณะนี้นั้น ในทางการเมือง ถือว่ามาแค่ครึ่งทาง ยังไม่สมบูรณ์ โอกาสพลิกผันที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรียังมีอยู่สูง

แม้ พรรคก้าวไกล รวบรวมเสียงจากพรรคการเมืองอื่นรวม 8พรรคมีเสียงสนับสนุน 313 เสียง พร้อมประกาศตั้งรัฐบาลด้วยกันด้วยการหนุนนายพิธา  เป็นนายกรัฐมนตรี โดยได้มีการเซ็น MOU ร่วมทำงานกันไปแล้ว แต่ทว่ายังมีด่านสำคัญที่นายพิธา และพรรคก้าวไกล ต้องฝ่าไปให้ได้ อีกหลายด่าน แต่ ที่สำคัญมีอยู่ 4 ด่านหิน หาก นายพิธา ผ่านไปได้โอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีสดใส

ด่านแรกคือ การต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีในพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งหนีระบบโควตายากมาก ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ เก้าอี้รัฐมนตรีมีไม่เกิน 35 คน เมื่อเสียงรัฐบาล 313 เสียง ต้องหารด้วย 35 เท่ากับว่าใช้สัดส่วนส.ส. 9 คนต่อ 1เก้าอี้รัฐมนตรี

ในเบื้องต้นพรรคก้าวไกลมี  151  เสียง จะได้รัฐมนตรี 17 ตำแหน่ง เพื่อไทย 141  เสียง 15 ตำแหน่ง ประชาติชาติ  9  เสียง  1 ตำแหน่ง ไทยสร้างไทย 6 เสียง  1 ตำแหน่ง พรรคเล็ก 5 เสียง ประกอบด้วยเพื่อไทยรวมพลัง 2 เสียง เสรีรวมไทย    1 เสียง เป็นธรรม 1 เสียง พลังสังคมใหม่  1  เสียง รวมกันแล้วจะได้ รัฐมนตรี 1  ตำแหน่ง

หลังจากตกลงกันได้ว่าพรรคไหนจะเก้าอี้รัฐมนตรีกี่ตำแหน่ง ก็มาเข้าสู่โหมด การแบ่งกระทรวงกันอีก ซึ่งแต่ละพรรคต้องการกระทรวงเกรดเอ ซึ่งอาจต้องสลับกันเลือกกระทรวงที่จะไปบริหารจัดการ ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลที่มีเสียงมากและใกล้เคียงกัน

ประเด็นเรื่องการแบ่งกระทรวงนี้ถือว่าสำคัญ หากคุยกันไม่ลงตัวอาจนำไปสู่การถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาลได้

สำหรับกระทรวงมีทั้งหมด 20 กระทรวงเท่ากับว่า จะมี 20 รัฐมนตรีว่าการ ที่เหลือ มีรองนายกรัฐมนตรี  และ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง

รายชื่อกระทรวง ประกอบด้วย สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ  กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทยกระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และ กระทรวงอุตสาหกรรม

ประเด็นโควต้าเก้าอี้รัฐมนตรีพรรคร่วมต้องคุยให้จบก่อน ไม่เช่นนั้นจะทำให้มีปัญหาต่อการโหวตตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร 

โดยตำแหน่งประธานสภา จะมีการเลือกกัน หลังจาก กกต.ได้รับรองผลการเลือกตั้งส.ส.ครบ 95 % จึงจะเปิดสภาได้  เมื่อได้ตัวประธานสภาแล้ว  ประธานก็จะนัดประชุมรัฐสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีต่อไป
  
อย่างไรก็ตามในส่วนของเก้าอี้ประธานสภานั้นถือว่าเป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่งในการคุมเกมการเมือง คุมส.ส.ในสภา พรรคไหน ได้เก้าอี้นี้ ไปถือว่าคุมเกมการเมืองในสภาได้ทันที ดังนั้นพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ต่างต้องการตำแหน่งนี้ 

พรรคก้าวไกล อ้างเป็นประเพณีพรรคแกนนำตั้งรัฐบาลอันดับ1ต้องได้ประธานสภา
ขณะที่พรรคเพื่อไทย อ้างเสียงใกล้เคียงกัน เมื่อ "ก้าวไกล" ได้ ตำแหน่งนายกฯฝ่ายบริหาร แล้ว ประธานสภาในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ต้องเป็นเพื่อไทย

อย่างไรก็ตามเหตุผลที่จริงในการอยากได้ประธานสภาไว้ในมือของทั้งสองพรรคนั่นคือ ความไม่ไว้วางใจต่อกัน โดยทางพรรคก้าวไกล เกรงว่าหากปล่อยตำแหน่งสภาไปอยู่ในมือพรรคเพื่อไทย อาจจะถูกหักหลังได้ในเรื่องการตั้งรัฐบาลแข่ง  รวมถึงการกำหนดเกม หรือวาระงาน กฎหมายต่างๆอาจไม่ไหลลื่น

ในส่วนเพื่อไทยอยากได้ตำแหน่งนี้ เพราะประเมินแล้วว่า ส.ว.จะไม่โหวตให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเพื่อไทย ในฐานะพรรคอันดับ2 จะต้องจัดรัฐบาลต่อทันที  ไม่ใช่ปล่อยให้ก้าวไกลจัดไปเรื่อยๆ และถ้าเพื่อไทยจัดรัฐบาล อาจต้องนำพรรคอื่นเข้ามาเพิ่ม ซึ่งอาจเป็นเหตุให้พรรคก้าวไกลถอนตัวไปเป็นฝ่ายค้าน ซึ่งอาจทำให้พรรคเพื่อไทยทำงานได้ยาก  จึงต้องการตำแหน่งประธานไว้เป็นหลักประกัน

ความขัดแย้งเรื่องตำแหน่งประธานสภาจึงต้องจับตากันอย่ากระพริบ หากตกลงกันไม่ได้รัฐบาลก้าวไกล จะล่มทันทีโดยไม่ต้องรอให้ส.ว.โหวตนายกรัฐมนตรี 

ที่สำคัญหากเพื่อไทยและก้าวไกล ยืนกรานเสนอชื่อคนของตัวเองเป็นประธานสภาแล้วให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรโหวตโอกาสคนจากพรรคเพื่อไทยได้รับเลือกเป็นประธานสภาสูง โดยเบื้องต้น พรรคเพื่อไทย จะเสนอชื่อ นายสุชาติ ตันเจริญ อดีตรองประธานสภา ในขณะพรรคก้าวไกล จะส่ง นายณัฐวุฒิ บัวประทุม 

ทั้งนี้ ถ้าปมประธานสภา ตกลงกันได้ ก็มาถึงด่านส.ว.ซึ่งเสียงโหวตส.ว.เป็นจุดชี้ชะตา "พิธา"จะได้เป็นนายกฯหรือไม่ ก้าวไกลต้องการอีก 63 เสียงจะได้เสียง376 เสียง ตอนนี้ได้แล้ว 15 เสียง และ หากโหวตแล้วเสียงไม่ถึง เพื่อไทยก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลในฐานะพรรคอันดับ 2

เท่านั้นยังไม่พอยังมี กรณี "พิธา"ถือ หุ้นสื่อไอทีวี  หากศาลรธน.ตีความผิด "พิธา"จะหลุดจากการเป็นส.ส.และนายกรัฐมนตรี ทันที

การเมืองนาทีนี้ยังผลิกผันได้ตลอดเวลาต้องตามกันอย่ากระพริบ !!!
 

TAGS: #พิธา #ก้าวไกล #เพื่อไทย #รัฐบาลก้าวไกล