คอลัมน์ 'Growth and Sustainability' โดย 'วิฑูรย์ สิมะโชคดี'
ทุกวันนี้ “กระแสสิ่งแวดล้อม” ที่ธุรกิจอุตสาหกรรมพูดถึง ก็คือ “ESG”
ESG ไม่ได้เป็นเพียง “กระแส” เท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่ธุรกิจอุตสาหกรรมต้องทำ เพราะ ESG คือ แนวความคิดในการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะต้องทำต้องมี
ESG ก็คือคำย่อของ Environment, Social, และ Governance ซึ่งเป็นแนวความคิดระดับโลกที่ธุรกิจอุตสาหกรรมทุกขนาดจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อให้โลกของเราอยู่ได้อย่างยั่งยืน และธุรกิจอุตสาหกรรมสามารถดำเนินเป็นกิจการต่อไปได้ในอนาคตอย่างต่อเนื่องด้วย
แรงกดดันที่ทำให้ธุรกิจอุตสาหกรรมต้องรีบพัฒนาองค์กรตามแนวความคิดของ ESG ไม่ใช่เพียงเพราะว่า ธุรกิจอุตสาหกรรมเป็นภาคส่วนสำคัญในการสนับสนุนโลกให้ยั่งยืนเท่านั้น หากแต่เป็นแรงกดดันที่ทำให้ธุรกิจอุตสาหกรรมทุกขนาด (โดยเฉพาะSMEs) ต้องเข้าถึง ต้องเข้าใจ และต้องนำแนวความคิด ESG เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการองค์กรและประกอบกิจการต่อไป
แรงกดดันที่ว่านี้ได้แก่
(1) กฎหมาย กฎระเบียบ และหลักเกณฑ์ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาษีคาร์บอน คาร์บอนเครดิต คือ ถ้าธุรกิจอุตสาหกรรมมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนสูง ในอนาคตสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ การจ่ายชดเชยในสิ่งแวดล้อมที่เสียหายไปจากการทำธุรกิจอุตสาหกรรม ในรูปของภาษีคาร์บอน เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมสูงขึ้น ซึ่งทำให้แข่งขันยากขึ้นด้วย
(2) ความกังวลว่าจะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ การคาดหวังว่า ธุรกิจอุตสาหกรรมจะต้องมีส่วนช่วยลดอุณหภูมิโลกให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียสให้ได้ ซึ่งเป็นการคาดหวังของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจอุตสาหกรรม ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ธุรกิจอุตสาหกรรมต้องให้ความสำคัญ และมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบต่อโลกและสังคม
(3) ปัญหาสังคมในปัจจุบัน เช่น เรื่องความเหลื่อมล้ำ ความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิมนุษยชน การปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และอื่นๆ โดยเฉพาะคน Gen Z จะมีมากขึ้นที่เริ่มเข้ามาสู่องค์กรต่างๆ รวมถึงพนักงานที่มีความรู้ความสามารถระดับ Talent ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาสังคมมากขึ้นเป็นพิเศษ
(4) ชื่อเสียงของบริษัท ที่เกิดจากการบริหารอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ของผู้บริหาร ความซื่อสัตย์สุจริตของบุคลากรในองค์กร การปราศจากการคอรัปชั่น เป็นต้น องค์กรที่มีแนวทางการบริหารจัดการความยั่งยืนที่ชัดเจน ย่อมสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมให้เกิดกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หุ้นส่วน และพันธมิตรต่างๆ
แนวความคิดเรื่องของ ESG ในวันนี้ จึงเป็น “หลักเกณฑ์สำคัญ” ในการประกอบกิจการในปัจจุบัน และเป็น “ตัวดึงดูด นักลงทุน” ทั่วโลกเพื่อร่วมทุนในการพัฒนาความเจริญเติบโตของกิจการต่อไปในอนาคตที่ยั่งยืน ครับผม !