รอบแรก "พิธา"ผ่านยาก ลุ้นรอบสองดึง "ปชป.-ชทพ."ร่วม

รอบแรก
โหวตนายกฯรอบแรก "พิธา" ผ่านยาก เตรียมงัดแผนสองดึง "ปชป.-ชทพ."เติมเสียงหวังพลิกเกมชนะรอบสอง

การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 ก.ค.นี้ ชัดเจน ทาง 8 พรรคร่วมรัฐบาล 312 เสียง ที่นำโดยพรรคก้าวไกล จะเสนอให้ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ "หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ "พิธา" จะต้องได้คะแนน 376 เสียงขึ้นไป จากทั้งหมด 750 เสียง (ส.ส.500 เสียง และ ส.ว.250 เสียง)จึงจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี

ถึงนาทีนี้ "พิธา" มีเสียงอยู่ในมือแล้ว ที่เป็น ส.ส. จำนวน 312 เสียง ซึ่งยังขาดอยู่อีก 64 เสียง ซึ่งต้องหวังจากฝั่งส.ว.โหวต ให้

แต่ในขณะนี้ ท่าทีของส.ว.ส่วนใหญ่ต่างส่งสัญญาณ ไม่โหวตให้ "พิธา" เนื่องจาก ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของพรรคก้าวไกล เรื่อง การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รวมถึงหมวด 1 หมวด 2 รวมถึงท่าทีจุดยืนในเรื่องต่างๆที่ยืนตรงกันข้ามกันมาตลอด

อีกทั้ง ส.ว.ชุดนี้ มาจากการแต่งตั้ง จากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่นเองและ ส.ว.ส่วนใหญ่เป็นทหาร ก็ย่อมไม่สนับสนุน "พิธา"

ฉะนั้นแนวโน้มที่ "พิธา"จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีในการโหวตรอบแรกคงยากยิ่ง

แม้ขุนพลพรรคก้าวไกลมั่นใจ จะได้รับเสียงสนับสนุนจากส.ว.ครบตามที่ต้องการ จากการไปเจรจา  

"ภาพรวมส.ว.แบ่งออกเป็นสองส่วน โดยฝั่งแรก 50 คน ซึ่งมีเป็นไปได้มาก ที่เขาจะโหวตให้ เราตั้งเป้าประสานงานได้ทุกคน หรือ 40 กว่าคน ให้ได้มากที่สุด ส่วนฝั่ง 200 คน ที่มีความเป็นไปได้ อยู่ในสายที่นักธุรกิจ ข้าราชการพลเรือน 

ส่วนทหารยากที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่าส.ว.สายทหารทุกท่านจะแฮบปี้ พล.อ.ประยุทธ์ เราก็พยายามจะพูดคุย มาถึงวันนี้มั่นใจชัวร์ 30-40 คน มั่นใจได้  " ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล แจงในที่ประชุม 8 พรรคร่วมก่อนหน้านี้ 

อย่างไรก็ตามหาก "พิธา"ไม่ผ่านการโหวตในรอบแรก "ก้าวไกล"ก็เดินแผนสองทันที คือขอโหวตนายกฯรอบสอง โดยดึงพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมี 25 เสียง และพรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง รวมถึงพรรคเล็กอีกบางส่วน มาร่วมด้วย 

แต่ทั้งนี้ต้องดูว่าเสียงส.ว.ที่โหวตในรอบแรกให้ "พิธา"มีมากน้อยแค่ไหน ถ้าได้ประมาณ 30 เสียงขึ้นไป โอกาสที่จะมีความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลรอบสองก็มีสูง แต่หากได้ส.ว.ไม่ถึง30 เสียง หรือ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่เอาด้วยกับพรรคก้าวไกล โอกาสโหวตรอบสองของ "พิธา" อาจปิดฉากลง

หากสถานการณ์เป็นเช่นนั้น พรรคเพื่อไทยจะมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลทันทีโดย มี "เศรษฐา ทวีสิน"เป็นนายกฯ ส่วนจะมีการดึงพรรคอื่นมาข้ามขั้วหรือไม่ ขึ้นยู่กับพรรคก้าวไกล จะถอนตัวหรือไม่ โอกาสดึงพรรคข้ามขั้วมีสูง

ในขณะที่ขั้วฝ่ายค้านเดิม ก็คงจะส่งคนลงแข่งนายกฯ ดูแนวโน้มน่าจะเป็น "พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค"หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ เนื่องจาก "ลุงป้อม- ลุงตู่ -อนุทิน"คงไม่ลงแข่งให้เปลืองตัว เว้นแต่มั่นใจว่าจะได้เป็นนายกฯจริง  แต่ในรอบแรกนั้น ส.ว.คงไม่กล้าโหวตสวนกระแส แต่อาจจะงดออกเสียงมากกว่า

ฉะนั้นการเมืองต้องมองกันช็อทต่อช็อท และหากไม่ผ่านรอบแรกสูตรตั้งรัฐบาลรอบสองคงมีอีกเพียบ ให้ลุ้นระทึกกัน  การเมืองก็จะร้อนระอุ ม็อบก็โผล่  ทุกอย่างพลิกผันได้ตลอดเวลา ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด

สำหรับขั้นตอนการเลือก "นายกรัฐมนตรี" คนที่ 30 มีดังนี้

1.เริ่มจากที่ "สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร" หรือ ส.ส. เสนอชื่อบุคคลเป็นนายกฯ จากบัญชีรายชื่อแคนดิเดตของพรรคที่มี จำนวน ส.ส. ตั้งแต่ 25 คนขึ้นไป

2.สำหรับการเสนอชื่อแคนดิเดตของพรรค ต้องมี ส.ส. รับรอง ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ โดยสามารถเสนอชื่อให้เลือกได้มากกว่า 1 คน

3.ในการเลือกนายกฯให้กระทำเป็นการเปิดเผย โดยเลขาธิการสภาฯ จะเรียกชื่อสมาชิก ส.ส. และสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ตามลำดับอักษรเป็นรายบุคคล และให้ออกเสียงโดยการกล่าวชื่อบุคคลที่เห็นชอบ

4.ในที่ประชุมซึ่งมี ส.ส. 500 เสียง และส.ว. 250 เสียง รวมกันเป็น 750 เสียง ผู้ที่ได้คะแนน 376 เสียงขึ้นไป จะได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯ

5.ถ้าปรากฎว่า หากลงคะแนนแล้วไม่มีใครได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่ง ก็จะวนโหวตต่อไปจนกว่าจะมีผู้ได้คะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

TAGS: #โหวตนายกฯ #รัฐบาลก้าวไกล #พิธา #ปชป. #ชทพ.