เก้าอี้ผู้นำฝ่ายค้าน...อาจต้องจับฉลาก

เก้าอี้ผู้นำฝ่ายค้าน...อาจต้องจับฉลาก
ไม่เพียงเก้าอี้นายกฯที่ว่ายาก ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านก็ยากไม่เบา ท้ายสุดอาจต้องจับฉลาก และดีไม่ดี โอกาส พรรคร่วมรัฐบาล ยึดเก้าอี้ผู้นำฝ่ายค้าน ก็เป็นได้ สูง  การเมืองไทยอะไรก็เกิดขึ้นได้ !

ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่30 ของประเทศไทย ถึงนาทีนี้ โอกาสยังมีผลิกผันได้เสมอ ตราบใดที่ยังไม่มีการโหวตให้ชัดเจน  แต่ช่วงเวลานี้  "เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทย มีแต้มต่อมากใครเพื่อน เบื้องต้นมีการกำหนดคิววันโหวต ไว้ 3 วันประกอบด้วย วันที่  18 , 21 , 22 สิงหาคม นี้ รอวันประธาน "วันนอร์"เคาะอย่างเป็นทางการ 

ทั้งนี้ ในส่วน "เพื่อไทย"ต้องการเร่งโหวตให้เร็วที่สุด เพราะขืนปล่อยให้ชักช้า แม้เพียงวันเดียวโอกาสผลิกผันไปเป็นอื่นก็มีสูง แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีการพิจารณาวินิจฉัยปมญัตติซ้ำ ข้อ141 ในการโหวต "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ "เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 16 ส.ค.นี้ ว่า ศาลจะรับหรือไม่รับไว้พิจารณา ถ้าไม่รับก็จบเดินหน้าโหวตนายกฯทันที  

แต่หากศาลรับไว้พิจารณา ก็ต้องลุ้นอีกว่า ศาลจะมีคำสั่งให้รอผลโหวตนายกฯไว้จนกว่าจะพิจารณาเสร็จก่อนหรือไม่ แม้ในความเป็นจริงแล้ว 8 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมที่หนุน "พิธา"เป็นนายกฯไม่มีอยู่จริงแล้ว เพราะมีการเลิกเอ็มโอยูไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คงต้องเป็นไปตามขั้นตอน ต้องรอลุ้นกันยาวๆ  

คราวนี้หันไปส่องดู ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กันบ้าง ซึ่งจะมีการแต่งตั้งหลังจากมีการแต่งตั้งรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว พบว่าครั้งนี้ ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน ก็น่าจะยากไม่แพ้เก้าอี้นายกฯ เพราะบรรดาหัวหน้าพรรคการเมือง ที่คาดว่าจะมาเป็นฝ่ายค้าน ส่อขาดคุณสมบัติการเป็นผู้นำฝ่ายค้าน

ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นตำแหน่งต้องมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้ง มีหน้าที่สำคัญคือการเป็นหัวหน้าในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และมีเงินเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น เท่ากับรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานวุฒิสภา คือ เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 73,240 บาท เงินเพิ่มเดือนละ 42,500 บาท รวมเป็นเดือนละ 115,740 บาท มากกว่าส.ส.ที่มีเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 71,230 บาทเงินเพิ่มเดือนละ 42,330 บาท รวมเป็นเดือนละ 113,560 บาท

ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 บัญญัติไว้ว่า…ภายหลังที่คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้ว พระมหากษัตริย์ จะทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่มีจํานวนสมาชิก มากที่สุด และสมาชิกมิได้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีที่พรรคการเมืองตามวรรคหนึ่ง มีสมาชิกเท่ากัน ให้ใช้วิธีจับสลาก

เมื่อพิจารณา ตามสูตรในการจัดตั้งรัฐบาลล่าสุด ที่ชัดเจน ประกอบพรรคเพื่อไทย 141 พรรคภูมิใจไทย 71 พรรคประชารัฐ 40 พรรคชาติไทยพัฒนา 10 พรรคประชาชาติ 9 พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 พรรคชาติพัฒนากล้า 2 เสรีรวมไทย 1 พลังสังคมใหม่1 พรรคท้องที่ไทย 1  รวม  278 เสียง

ในขณะที่ พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง และพรรคประชาธิปัตย์ 25 เสียง แบะท่าร่วมรัฐบาลเช่นกัน แต่มีเงื่อนไข ต้องโหวตนายกรัฐมนตรีให้ ก่อนเข้าร่วมรัฐบาล

ดังนั้นหากเป็นไปตามนี้ ในส่วนของพรรคฝ่ายค้าน นั้นประกอบด้วย  พรรคก้าวไกล  151 พรรคไทยสร้างไทย 6 พรรคเป็นธรรม  1  พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 พรรคใหม่ 1 และ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1 

โดยหลักการ หัวหน้าพรรคก้าวไกล  "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ "จะได้เป็นผู้นำฝ่ายค้าน แต่เมื่อ "ปดิพัทธ์ สันติภาดา"ส.ส.ก้าวไกล ได้เป็นรองประธานผู้แทนราษฎร ไปแล้ว ทำให้พรรคก้าวไกล จะไม่ได้ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน ตามรัฐธรรมนูญ 106  เว้นแต่ "ปดิพัทธ์ "ลาออกจากรองประธานสภา ซึ่งล่าสุด "ปดิพัทธ์ "ยืนกรานจะไม่ลาออก

แม้ "ปดิพัทธ์ "จะลาออก ก็ใช่ว่า "พิธา"จะได้เป็นผู้นำฝ่ายค้านทันที เพราะ "พิธา"ยังมีปัญหาคุณสมบัติ ส.ส.ปมถือหุ้นไอทีวี และถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่อยู่ และหากต้องพ้นสมาชิกสภาพการเป็นส.ส.จริง ก็ต้องลาออกจากหัวหน้าพรรคก้าวไกลก่อน แล้วเปิดโอกาสให้ส.ส.ก้าวไกล คนใดคนหนึ่งขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค จึงเข้าข่ายจะได้รับการแต่งตั้ง ซึ่งดูแล้ว "ก้าวไกล"คงต้องบายตำแหน่งนี้

คิวถัดมาเป็น พรรคไทยสร้างไทย มี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นหัวหน้าพรรค แต่เมื่อ คุณหญิงสุดารัตน์ ลาออกจากส.ส.ไปแล้ว ก็เป็นผู้นำฝ่ายค้านไม่ได้ เว้นแต่ คุณหญิงสุดารัตน์ ลาออกจากหัวหน้าพรรค และให้ "ฐากร  ตัณฑสิทธิ์ "ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรค ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค  จึงจะมีคุณสมบัติเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ซึ่งกว่าจะถึงขั้นตอนนั้นก็คงยาก

ครั้นจะไปดูพรรครวมไทยสร้างชาติ กรณีไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาล "พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค"หัวหน้าพรรคก็ขาดคุณบัติอยู่ดีเพราะได้ลาออกจากส.ส.ไปแล้ว หรือแม้ แต่ พรรคประชาธิปัตย์ หากเป็นฝ่ายค้าน ก็ยังไม่มีหัวหน้าพรรคเพราะ "จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ "เป็นแค่รักษาการ หัวหน้าพรรค หรือแคนดิเดตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ อย่าง "นราพัฒน์ แก้วทอง"ก็ไม่เป็นส.ส.ก็เป็นผู้นำฝ่ายค้านไม่ได้อยู่ดี 

ท้ายสุดเห็นทีอาจจะต้องให้หัวหน้าพรรคที่มีคะแนน 2 เสียง อย่าง พรรคเพื่อไทรวมพลัง ของ "วสวรรธน์ พวงพรศรี"หัวหน้าพรรค  และพรรคชาติพัฒนากล้า ของ "สุวัจน์ ลิปตพัลลภ" อาจต้องจับฉลากกันเป็นผู้นำฝายค้าน แต่ในเวลานี้ทั้งสองพรรคได้ประกาศเข้าร่วมรัฐบาล และ คงจะไม่ได้เก้าอี้รัฐมนตรี หรือ ตำแหน่งตามรธน.มาตรา 106 กำหนด   จึงยังมีสิทธิ์ชิงเก้าอี้ผู้นำฝ่ายค้านได้  เพียงแต่เวลานี้ พรรคชาติพัฒนากล้า  ยังไม่มีหัวหน้าพรรคเนื่องจาก "กรณ์ จาติกวณิชย์"ลาออกไป อยู่ระหว่างเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ แนวโน้ม หาก  น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้เป็นหัวหน้าพรรค จึงจะมีโอกาส ได้จับฉลาก เป็นผู้นำฝ่ายฝ่ายค้าน

งานนี้เลือกไปเลือกมา  ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านอาจต้องจับฉลาก และดีไม่ดี โอกาส พรรคร่วมรัฐบาล ยึดเก้าอี้ผู้นำฝ่ายค้าน ก็เป็นได้ สูง  การเมืองไทยอะไรก็เกิดขึ้นได้ !

TAGS: #ผู้นำฝ่ายค้าน #โหวตนายกฯ #การเมือง #พิธา