ผีป่าท้าทายผีเมือง 'ครูกายแก้ว' กับคำทำนายโบราณ "ผีป่าก็จะวิ่งเข้าสิงเมือง"    

ผีป่าท้าทายผีเมือง 'ครูกายแก้ว' กับคำทำนายโบราณ
ประชาชนโจษจันกันถึงคำทำนายโบราณเรื่องอาเพศหลังจากการนำรูปปั้นของ "ครูกายแก้ว" มาติดตั้ง 

กรณีรูปปั้น "ครูกายแก้ว" ถูกนำมาติดตั้งบริเวณเทวาลัยพระพิฆเนศ สี่แยกห้วยขวาง แต่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความ "ผิดปกติ" หลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการที่รูปปั้นติดแหง็กอยู่ที่ท้องสะพานลอยในวันที่ถูกนำเข้ามายังกรุงเทพฯ จนทำให้รถติดกันมโหฬาร และกลายเป็นกระแสถูกพูดถึงและค้นหาในโซเชียลมีเดียกันยกใหญ่

ต่อมามีการชี้ว่าตำนานเรื่องครูกายแก้วที่อ้างว่าเป็นอาจารย์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์แห่งอาณาจักรโขมรโบราณ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เพราะพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีครูเพียง 2 คนเท่าที่ปรากฏในศิลาจารึกปราสาทตาพรหม และครูทั้งสองคนน่าจะเกี่ยวข้องกับศาสนาพราหมณ์สายพระวิษณุ และพุทธศาสนานิกายมหายาน นอกจากนี้ พระเจ้าชัยวรมัน 7 ยังทรงเป็นพุทธมามกะ ศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างมาก ตรงกันข้ามกับความเชื่อเรื่องครูกายแก้วที่เป็นไสยศาสตร์อย่างชัดเจน

เรื่องวุ่นวายยัง ต่อมา ได้มีการจัดพิธีบวงสรวงครูกายแก้วในสถานที่ติดตั้ง ปรากฎว่าเกิดพายุในโหมกระหน่ำอย่างรุนแรง จนทำให้ผู้คนวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบ้านเมืองไม่ต้องการให้มีการกราบไหว้บูชาครูกายแก้ว

บางคนชี้ว่าถ้าหากเป็นพิธีที่เป็นมงคลจริงๆ ในระหว่างพิธีจะต้องมีการปรากฏขึ้นของสัญญาณที่เป็นมงคล เช่น ท้องฟ้าเปิด มีแสงอาทิตย์สดใส เป็นต้น เสียงโจษจันส่วนใหญ่ออกไปในทางไม่ดี และเชื่อว่าครูกายแก้วไม่น่าจะเป็นสิ่งที่เป็นคุณต่อบ้านเมือง บางคนถึงขั้นชี้ว่านี่คือภูตผีปีศาจ เป็นเวตาล (ผีดิบ) ซึ่งเรื่องนี้เป็นความเห็นส่วนบุคคล แต่ก็สะท้อนทัศนะของผู้คนจำนวนมากที่ต่อต้านกระแสครูกายแก้ว

เสียงวิจารณ์ใน Tiktok ค่อนข้างรุนแรง เช่น ในคลิปที่ถ่ายเหตุการณ์เกิดพายุฝนกระหน่ำรุนแรงระหว่างพิธีติดตั้งครูกายแก้วที่เผยแพร่ในแอคเคาท์ Thritpa มียอดวิวกว่า 1.5 ล้านวิว และมีความหนึ่งที่มีคนกดไลค์เกือบ 4,000 ไลค์ บอกว่า "ผีป่าก็จะวิ่งเข้าสิงเมือง ผีเมืองนั้นจะออกไปสู่ไพร พระเสื้อเมืองจะเอาตัวหนี พระกาลกุลีจะเข้ามาเป็นไส้" ต่อจากนั้นมีความเห็นอื่นเห็นด้วย เช่นความเห็นหนึ่งที่มีคนกดไลค์กว่า 500 ไลค์บอกว่า "ใช่เลย ปีศาจมาไว้กลางเมือง เทวดาหนีหมด"

การอ้างคำกล่าวว่า "ผีป่าก็จะวิ่งเข้าสิงเมือง" ยังเกิดขึ้นในคลิปเดียวกัน และในคลิปของแอคเคาท์อื่นๆ ที่เผยแพร่เหตุการณ์โกลาหลในระหว่างพิธี ทำให้คำกล่าวนี้เป็นหนึ่งในคำกล่าวยอดฮิตที่ถูกกล่าวถึงในคลิปที่เอ่ยถึงครูกายแก้ว เพราะสะท้อนถึงความรู้สึกของผู้คนว่านี่คือการนำเอา "ผีป่า" เข้ามาอยู่ในเมือง จนทำให้เกิดอาเพศ และทำให้เทพยดารักษาเมืองทนไม่ไหว

คำกล่าวว่า "ผีป่าก็จะวิ่งเข้าสิงเมือง" ถูกบางคนบอกว่าเป็น "คำทำนายหนึ่ง" ซึ่งเป็นการกล่าวที่ถูกต้อง เพราะนำมาจาก "เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา" ว่ากันว่า มีเนื้อหาเกี่ยวกับการทำนายสถานการณ์ของกรุงศรีอยุธยาในอนาคต มีเนื้อหาที่เป็นจุดไคลแมกซ์ตอนที่เล่าถึงอาเพศที่จะเกิดขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา ดังนี้

"คือเดือนดาวดินฟ้าจะอาเพศ อุบัติเหตุเกิดทั่วทุกทิศาน มหาเมฆจะลุกเป็นเพลิงกาฬ  เกิดนิมิตพิสดารทุกบ้านเมือง พระคงคาจะแดงเดือดดั่งเลือดนก อกแผ่นดินเป็นบ้าฟ้าจะเหลือง ผีป่าก็จะวิ่งเข้าสิงเมือง ผีเมืองนั้นจะออกไปอยู่ไพร พระเสื้อเมืองจะเอาตัวหนี พระกาฬกุลีจะเข้ามาเป็นไส้ พระธรณีจะตีอกไห้ อกพระกาฬจะไหม้อยู่เกรียมกรม"

มีการวิเคราะห์ว่า "เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา" น่าจะแต่งขึ้ยราวสมัยรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองถึงสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ยัสรุปชัดเจนไม่ได้ และยังไม่ทราบผู้แต่ง 

อย่างไรก็ตาม "เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา" มักถูกอ้างถึงกันมากเวลาบ้านเมืองเกิดอาเภทเหตุร้ายต่างๆ เช่นในครั้งนี้ ผู้คนรู้สึกกันว่าบ้านเมืองเกิดเรื่องไม่ชอบมาพากล จึงอ้าง "เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา" กันอีกครั้ง 

"ผีป่า" ในที่นี้หมายถึง "ผีร้าย" ที่สิงสู่ตามป่าเขา ชอบทำร้ายมนุษย์และสัตว์ นำโรคภัยไข้เจ็บมาให้ ตามคติความเชื่อโบราณมักจะหมายถึงอสุรกาย (ครึ่งคนครึ่งสัตว์ หรือสัตว์ประหลาด) ที่มีฤทธิ์แต่มักเป็นฤทธิ์ให้โทษแก่ผู้คน 

"ผีป่า" ชื่อก็บอกแล้วว่าต้องอยู่ในป่าอยู่ในดง ถ้าผีพวกนี้เข้าเมือง แสดงว่าผิดที่ผิดทาง จะทำให้เกิดความวิบัติขึ้นในบ้านเมือง อย่างที่ บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ นักเขียนสารคดีชั้นครูที่เชี่ยวชาญเรื่องชนกลุ่มน้อยในไทย ได้กล่าวไว้ในหนังสือ "ชาวเขาในไทย" ว่าในหมู่ชาวกะเหรี่ยงนั้น "ผีป่าถือว่าเป็นผีร้ายคอยทําร้ายผู้คน มากกว่าจะคอยคุ้มครองป้องกันภัยให้ กะเหรี่ยงมีความกลัวมากกว่านับถือ"

เช่น ในวรรณคดีเรื่อง "กาพย์พระไชยสุริยา" บอกว่า  "ผีป่ามากระทำ มะระณะกรรมชาวบูรี" แปลว่า ผีป่ามาทำให้ชาวเมืองหรือประชาชนในประเทศต้องพบกับความตาย

"ผีเมือง" หมายถึงเทวาที่รักษาเมือง คำว่า "ผี" ในที่นี้ไม่ได้แปลว่าคนตายหรือภูติร้าย แต่หมายถึงเทวดา เพราะเป็นผีที่เป็นฝ่ายดี คำว่าผีในภาษาไทยโบราณมีความหมายครอบคลุมทั้งอสุรกายร้ายและเทวาดาที่ให้คุณกับมนุษย์ 

รองศาสตราจารย์สุมิตร ปิติพัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพัฒนาธรรมของคนเชื้อชาติไทอธิบายไว้ว่า ในดินแดนของคนไททางตอนเหนือของเวียดนาม ซึ่งถือเป็นหนึ่งในถิ่นฐานเดิมของบรรพบุรุษคนไทนั้น "ในแต่ละเมืองจะมีศาลเจ้าใหญ่เป็นที่สิงสถิตย์ของผีเมือง ที่ทําหน้าที่ดูแลความทุกข์สุขของคนในเมือง" (จากหนังสือ "คนไทเมืองกว่า ไทแถงและไทเมืองในประเทศเวียดนาม" หน้า 53)

เช่นคำว่า "พระเสื้อเมือง" แต่โบราณยังใช้คำว่า "ผีเสื้อเมือง" คำว่า "ผีเสื้อ" หมายถึง ผี (เทวดา) ที่ปกปักรักษา (เสื้อ) เมืองและชุมชน

ผีเมืองหรือเสื้อเมืองในเวลาต่อจะถือกันว่าวิญญาณของบรรพบุรุษที่ดี เป็นกษัตริย์หรือเจ้านายชนชั้นสูง ที่เมื่อสิ้นพระชนม์แล้วกลายเป็นวิญญาณที่ปกป้องบ้านเมือง 

ดังนั้น ประชาชนจึงต้องบวงสรวงผีเมืองให้ดี ถูกต้องตามขนบ และจะต้องไม่ให้ผีภายนอกเข้ามาวุ่นวายได้ 

ในเพลงยาวฯ ยังเอ่ยถึง "พระกาฬกุลีจะเข้ามาเป็นไส้" คำว่า "พระกาฬกุลี" หมายถึงพระกาฬ/พระกาล ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งความตาย คำว่า "กุลี" ก็น่าจะหมายถึงพระกาฬด้วยเช่นกัน แต่เป็นคำนามเพศหญิงในภาษาบาลีสันสกฤต (กาละเป็นคำนามเพศชาย กาลีเป็นคำนามเพศหญิง) เทพเจ้าองค์นี้มีภาพลักษณ์โยงกับการสูญเสียและการทำลายล้าง ในเพลงยาวพยากรณ์ฯ บอกว่า "เข้ามาเป็นไส้" ก็คือแทรกซึมเข้ามาในบ้านเมืองก็จะทำให้เกิดความวิบัติขึ้น

พระกาฬไม่ถือเป็นผีร้าย ตามธรรมเนียมศาสนาพราหมณ์ทรงเป็นผู้ดูแลดวงวิญญาณนำไปสู่ภพภูมิตามเวรกรรมที่ทำไว้ และในพระนครมักมี "ศาลพระกาฬ" อยู่กลางใจเมืองคู่กับศาลหลักเมือง (ที่หมายถึงศาลผีเสื้อเมือง) แต่เพราะพระกาฬโยงกับความตาย จึงทำให้ผู้คนยำเกรงและทำให้มักโยงพระกาฬกับเรื่องร้ายๆ แม้แต่พาหนะของพระกาฬคือนกแสกก็ถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความตาย

เวลาที่ผู้คนเห็นเหตุการณ์ที่อธิบายไม่ได้ แต่ทำให้พวกเขารู้สึกหวั่นใจว่าเป็นพลังของสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า มาเตือนถึงเหตุร้ายต่อบ้านเมือง ผู้คนก็มักจะอ้าง "เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา" ขึ้นมาเพื่อชี้ให้เห็นว่า "นี่มันอัปรีย์บ้านอัปรีย์เมือง" 

แต่ "เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา" อาจจะไม่ใช่คำทำนายอย่างที่เข้าใจ แต่อาจถูกแต่งขึ้นมาเพื่อโฆษณาชวนเชื่อ อย่างที่ศาสตราจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ แสดงทัศนะไว้ในหนังสือ "(ต่าง) คิดในคอก (ตน) :ว่าด้วยวัฒนธรรมและวิธีคิด" (พ.ศ. 2003 หน้าที่ 27) ว่า 

"ตามความเข้าใจของผม เพลงยาวบทนี้เป็นเอกสารโฆษณาชวนเชื่อของหลวงสรศักดิ์ (ตำแหน่งของพระเจ้าเสือในรัชกาลพระนารายณ์) ที่อ้างคำโบราณมาวิพากษ์นโยบายของพระนารายณ์ที่เปิดให้ฝรั่งเศสและคริสเตียนเข้ามาวางก้ามในกรุงศรีอยุธยา ข่มขี่และเบียดเบียนพระศาสนา" และศาสตราจารย์ นิธิ เห็นว่า "เพลงยาวบทนี้ชี้ว่าอาเพศเหล่านี้จะนำมาซึ่งความไร้หลักธรรมของบ้านเมือง นัยก็อเมื่อไร้หลักธรรมดาก็นำมาซึ่งความพินาศ"

การวิเคราะห์ของศาสตราจารย์ นิธิ มองไปที่เหตุผลทางประวัติศาสตร์ แต่เหตุผลทางประวัติศาสตร์ของไทยก็เกี่ยวโยงกับความเชื่อของคนไทยด้วย หากเป็นการปล่อยข่าวกระตุ้นให้ประชาชนไม่พอใจนโยบายเอาใจฝรั่งและ "คนต่างศาสนา" จริง ก็เป็นการแทงถูกจุด เพราะคนไทยไม่ว่าจะในสมัยไหนต่างก็รู้สึกละเอียดอ่อนกับความเชื่อของปู่ย่าตายาย หากมีความเชื่อใหม่เข้ามาที่พวกเขารู้สึกว่า "เบียดเบียนพระศาสนา" คนไทยก็จะต่อต้านในทันที 

กรณีของครูกายแก้วก็เช่นกัน ผู้คนในโลกโซเชียลพากันยืนยันความเชื่อว่าพวกเขาจะไม่ยอมนับถือสิ่งที่น่ากลัวแบบนี้ และยืนยันที่จะนับถือพระพุทธศาสนา พระรัตนตรัย และเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ที่บรรพบุรุษศรัทธาเชื่อถืออย่างเหนียวแน่น ในตอนนี้กระแสสังคมได้ผลักลัทธิครูกายแก้วออกไปจากความเชื่อของคนไทย เพราะดูท่าว่าลัทธินี้จะเป็นอย่างที่คำทำนายที่เพลงยาวฯ บอกว่า "จะลับรัศมีแก้วเจ้าทั้งสาม" หมายถึงมาเบียดเบียน "แก้วทั้งสาม" คือพระรัตนตรัยของชาวพุทธ

แม้ว่าคนไทยจะเชื่อถือในไสยศาสตร์ด้วย แต่ดูเหมือนว่าลัทธิครูกายแก้วจะเป็นสิ่งทีเกินจะรับไหว และกลัวว่าหากบูชาไป แม้จะได้อย่างที่ขอ แต่ก็อาจต้องแลกบางอย่างให้กับ "สิ่งนั้น" เหมือนกับที่เพลงยาวฯ บอกว่า "จะเกิดความอันตรายเป็นแม่นมั่น" บางคนถึงกับโยงไปว่าการนำรูปครูกายแก้วเข้ามาตั้งในเมือง อาจมีเจตนาทำอาถรรพ์เพื่อหวังผลทางการเมืองอะไรสักอย่าง 

แม้จะฟังดูเหลือเชื่อ แต่มันสะท้อนว่าสังคมไทยไม่ว่าจะคนในระดับรัฐบาลหรือคนเดินดินทั่วไปต่างก็เชื่อว่าเรื่องลี้ลับและคำทำนายมีผลต่อชะตากรรมของบ้านเมือง


โดย กรกิจ ดิษฐาน

TAGS: #ครูกายแก้ว #สายมู #มูเตลู #ไสยศาสตร์