คอลัมน์ 'Growth and Sustainability' โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี
ทุกวันนี้ โลกเรากำลังเผชิญกับปัญหาด้านการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาภาวะที่โลกร้อนขึ้น ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและปัญหาอื่นๆ ที่รุมเร้าพวกเราอีกมากมาย
ดังนั้น ผู้ประกอบการทางธุรกิจอุตสาหกรรมจะให้ความสำคัญเพียงแค่การทำกำไร และการลดต้นทุน เพียงแค่สองปัจจัยนี้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว แต่ยังต้องคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมที่อาจได้รับผลกระทบจากกระบวนการผลิตของเราด้วย ซึ่งรวมถึงการต้องใส่ใจกับธรรมาภิบาลของบริษัท เพื่อลดความขัดแย้งและสร้างความเกื้อกูลแก่ผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมต่อไปได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
ปัจจุบัน นักลงทุนระยะยาว (นักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนต่างประเทศ) เริ่มให้มีความสำคัญกับการลงทุนในบริษัที่มีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่น่าเชื่อถือ และเป็นไปเพื่อความยั่งงยืนของกิจการและสังคมโดยรวม คือเป็น Sustainability Investment เพื่อจะได้มั่นใจว่าบริษัทที่ได้ร่วมลงทุนไปนั้น จะสามารถดำเนินธุรกิจ ให้มีผลกำไรอย่างต่อเนื่อง และสร้งผลตอบแทนทางการลงทุนได้สม่ำเสมอในระยะยาว โดยไม่ก่อปัญหาต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น “การลงทุนแบบยั่งยืน” จึงเป็นที่สนใจของนักลงทุนระยะยาวทั้งของคนไทยและคนต่างชาติเพิ่มมากขึ้นทุกที
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะสมาชิกกลุ่ม Sustainability Stock Exchange (SSE) ยังมีแนวคิดที่จะจัดทำ Thailand Sustainability Investment หรือ รายชื่อกลุ่มหลักทรัพย์ที่มีการดำเนินงานแบบยั่งยืน เพื่อให้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนแก่นักลงทุนที่มีความสนใจในหุ้นกลุ่มนั้นๆ อีกด้วย
ความต้องการของผู้ลงทุนที่มีต่อข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนในปัจจุบัน จึงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงข้อมูลทางการเงิน ผู้ลงทุนยังให้ความสำคัญกับข้อมูลที่มิใช่ตัวเลขทางการเงินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะข้อมูลดังกล่าว สามารถบ่งชี้ถึงโอกาสและความเสี่ยง รวมทั้งขีดความสามารถขององค์กรที่มีต่อผลประกอบการในอนาคตของบริษัท
คำว่า ESG ย่อมาจาก Environmental, Social, and Governance จึงเกิดขึ้นในแวดวงตลาดทุน เพื่ออธิบายถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทและการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุน
Financial Times ได้บัญญัติความหมายของ ESG ว่า เป็นคำที่ใช้ในตลาดทุนโดยผู้ลงทุน เพื่อใช้ประเมินการดำเนินงานของบริษัท และทำให้ล่วงรู้ถึงผลประกอบการในอนาคตของบริษัท ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการประกอบการดังกล่าวนี้ มาจากบทบาทของบริษัทที่มีต่อ “ความรับผิดชอบต่อสังคม” ของกิจการ (CSR) ภายใต้บริบทของ “การพัฒนาที่ยั่งยืน”
การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน จึงหมายถึง การที่บริษัทประกอบธุรกิจโดยคำนึงถึงการเติบโตของผลกำไร ควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและธรรมาภิบาล หรือที่เรียกว่า “ESG” ซึ่งมีองค์ประกอบ 3 ด้าน อันได้แก่
1. Environment (การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม) คือการเน้นใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจของบริษัท
2. Social (การจัดการด้านสังคม) คือการบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม ดูแลความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของพนักงาน รวมถึงมีสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนรอบด้าน
3. Governance (การจัดการด้านธรรมาภิบาล) คือการมีนโยบายกำกับดูแลกิจการที่ดี ต่อต้านการทุจริตคอรับชั่น ดำเนินงานอย่างโปร่งใส และดูและผลประโยชน์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
ดังนั้น นักลงทุนระยะยาว จึงต้องพัฒนาองค์กรด้วยความแนวคิดเรื่อง ESG อย่างจริงจังต่อไป เพื่อเป็นหลักประกันในความยั่งยืนของกิจการที่ผู้ลงทุนทุกคนเรียกร้อง ครับผม !