คอลัมน์ 'Growth and Sustainability' โดย 'วิฑูรย์ สิมะโชคดี'
เมื่อ “ความยั่งยืน” คือ เป้าหมายของทุกองค์กรและทุกชุมชนในสังคมโลกความยั่งยืนขององค์กรจึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความยั่งยืนของโลก เพราะถ้าองค์กรต่างๆ ไม่ยั่งยืนแล้ว การพัฒนาที่ยั่งยืนก็คงเป็นได้ไปได้ยาก
การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) จึงมีความสำคัญยิ่งสำหรับผู้นำและผู้บริหารในปัจจุบัน
ความยั่งยืนขององค์กรธุรกิจอุตสาหกรรมจะอยู่ที่ “กำไร-ขาดทุน” และ “ความต่อเนื่องของกิจการ” เป็นหลัก ส่วน ความยั่งยืนของชุมชนและสังคมโลก จะอยู่ที่ “สิ่งแวดล้อม” และ “คุณภาพชีวิต” ของชุมชนและชาวโลกเป็นสำคัญ(คือ สิ่งแวดล้อมที่อยู่ในและรอบชุมชน(กากขยะ น้ำเสีย และอากาศ)ต้องมีคุณภาพดีตามมาตรฐานรวมถึง“สิ่งแวดล้อมของโลก”ที่มีปัจจัยในเรื่องของ“การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ” (Climate Change) เกี่ยวข้องด้วยด้วย)
การพัฒนาที่ยั่งยืน จึงเป็นเป้าหมายของโลก (Sustainable Development Goals : SDGs) ที่เราทุกคนจะต้องร่วมด้วยช่วยกันเพื่อสร้างสรรค์โลกใบนี้ให้เป็นสีเขียวเพื่อให้ชีวิตของมนุษย์และสัตว์โลกอยู่ด้วยกันได้ภายใต้ “สิ่งแวดล้อมที่ดี” ซึ่งทำให้ “คุณภาพชีวิต” ของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตบนโลกดีขึ้นด้วย
ทุกวันนี้จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่องค์กรสหประชาชาติและประเทศต่างๆทั่วโลกได้ให้ความสำคัญในการเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์โลกใบนี้ให้ยั่งยืนด้วยการกระตุ้นให้เราตระหนักรู้เรียนรู้(ขวนขวายหาความรู้) และยอมรับที่จะปฏิบัติตาม “มาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม”
ปัจจุบัน แหล่งความรู้เกี่ยวกับ “การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” มีมากมาย ไม่ว่าจากมหาวิทยาลัย หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ตำราวิชาการ งานวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ และอื่นๆ อีกมากมาย รวมทั้งยุทธศาสตร์และนโยบายของภาครัฐที่ปรากฏในโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวางซึ่งทำให้กระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นเพื่อโลก
ด้วยเหตุนี้ ความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการประกอบกิจการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงมีความสำคัญมากขึ้นทุกที
ศัพท์แสงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ “การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” ทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจจึงมีมากมาย อาทิ SDGs, BCG, ESG, CE, GI, GHG, Carbon Footprint, Net Zero, Climate Change, CBAM เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่มุ่งสู่ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อคงไว้ซึ่ง “คุณภาพชีวิตที่ดี” ของสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้
จิตสำนึกในการพัฒนาที่ยั่งยืนจึงมีความสำคัญต่อทุกผู้คนที่ประกอบอาชีพต่างๆทั้งเป็นพนักงานลูกจ้าง แต่ละคนหรือเป็นธุรกิจอุตาหกรรม(ค้าขายบริการหรือโรงงานอุตสาหกรรม)คือการรักธรรมชาติรักสิ่งแวดล้อม การไม่ทำลายหรือเบียดเบียนสิ่งแวดล้อมการไม่ฉกฉวยและใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันอย่างสิ้นเปลือง จนรุ่นลูกหลานของเราไม่มีโอกาสได้เห็นไม่ได้ใช้สิ่งนั้นในวันหน้า
สิ่งต่างๆ ที่เรามีใช้ในวันนี้ เขาก็มีใช้ของเขาในวันหน้าเช่นเดียวกัน เราได้เห็นความสวยงามของธรรมชาติ (ผืนป่า และสัตว์ป่า) เขาก็ได้เห็นได้สัมผัสเหมือนเราในชั่วอายุของเขา ไม่ใช่คนยุคเราใช้จนหมด ลูกหลานไม่มีใช้หรือไม่ได้เห็น ดั่งนี้ จึงเรียกว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน”
วันนี้ของเราทุกคนจึงต้องสร้างองค์กรให้ยั่งยืนด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนโลกให้ยั่งยืนพร้อมๆ กันไปด้วย ครับผม !