กนอ.ผนึก ส.อ.ท. ยกระดับอุตสาหกรรมไทย  สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

กนอ.ผนึก ส.อ.ท. ยกระดับอุตสาหกรรมไทย  สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน
กนอ.-ส.อ.ท.ประกาศขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมสู่ Carbon Neutrality หนุนเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ ตอบโจทย์นโยบายรัฐบาลพัฒนาเศรษฐกิจใหม่

นายณัฐพล  รังสิตพล  ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษเปิดงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2566 : Eco Innovation Forum 2023 ว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยปัจจุบันมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อยู่ที่ร้อยละ 30.9  ขณะที่ภาคการส่งออกมีมูลค่าติดลบติดต่อกัน 3 ไตรมาส และมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง จากทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ดังนั้น เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกและการแข่งขันที่รุนแรง รัฐบาลจึงกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมสีเขียว และอุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศ  รวมทั้งการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศ เพื่อให้เป็นเครื่องยนต์ใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศ

สำหรับนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมใน 3 เดือนข้างหน้า ประกอบด้วย 1.ส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพให้เป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจใหม่สำหรับกระตุ้นรายได้มวลรวมของประเทศ ผ่านอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมฮาลาล              

2.ขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษขยายไปสู่ 4 ภาคของประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจและเกิดความสะดวกกับนักลงทุนมากขึ้น 3.เร่งหามาตรการเพื่อส่งเสริมการผลิตและการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายภายในประเทศทั้งมาตรการทางภาษี และการขยายจุดให้บริการชาร์จแบตเตอรี่สำหรับประชาชน

4.ส่งเสริมศักยภาพและสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้สามารถเข้าถึงโอกาสในการแข่งขัน 5.ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง ด้วยการสนับสนุนให้ประชาชนมีอาชีพมั่นคงจากต้นทุนในชุมชน และ 6.ส่งเสริมการเข้าถึงของผู้ประกอบการและประชาชนด้วย One Stop Service โดยเน้นย้ำให้ทุกการดำเนินงานมุ่งสู่เป้าหมายอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

“กระทรวงฯ มีเป้าหมายพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน ภายใต้ยุทธศาสตร์ “อุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน” ผ่านการขับเคลื่อน 4 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 ความสำเร็จทางธุรกิจ มุ่งให้ผู้ประกอบการมีกำไรในการดำเนินธุรกิจ มิติที่ 2 ความอยู่ดีกับสังคมโดยรวม ส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างสถานประกอบการ ชุมชน และสังคม มิติที่ 3 ความลงตัวกับกติกาสากล ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมสู่อุตสาหกรรมสีเขียว และมิติที่ 4 การกระจายรายได้สู่ชุมชนที่ตั้ง

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย( กนอ. )กล่าวว่า กนอ.รวมทั้งผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม มีเป้าหมายเดียวกันในการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของความยั่งยืน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ทันกับกระแสความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ซึ่งงานสัมมนาวิชาการ ECO Innovation Forum 2023 เน้นสื่อสารประเด็นด้านความยั่งยืนที่จะเป็นประโยชน์กับภาคอุตสาหกรรม โดย กนอ. และสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน ส.อ.ท. ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 ซึ่งปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “MIND INSPIRE for Eco 2023” เป็นแรงบันดาลใจเพื่อใช้ หัว และ ใจ นำพาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยก้าวสู่สากล ด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน และเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เป็นกลไกหนึ่งในการพัฒนาอุตสาหกรรมตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดผลกระทบจากการประกอบการอุตสาหกรรมต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน สร้างการเติบโต ด้านเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนไปพร้อมกัน โดยภายในงานมีการเผยแพร่ผลการดำเนินงาน

นอกจากนี้ยังมอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้แก่นิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในระดับต่างๆ โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และโรงงานเครือข่ายลดก๊าซเรือนกระจก ที่มีส่วนร่วมขับเคลื่อนและพัฒนาอุตสาหกรรมสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างยั่งยืน มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน(Carbon Neutrality) และสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทย ด้วย BCG Model ของกระทรวงอุตสาหกรรม

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ทั้งจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส.อ.ท. เล็งเห็นความสำคัญของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม จึงกำหนด 4 ยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ 1.การผนึกกำลังอุตสาหกรรมไทยให้เข้มแข็ง 2.ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสู่อนาคต         

3.พัฒนา Smart SMEs ยกระดับสู่สากล และ 4.พัฒนาการบริการเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทย อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรม ต้องมีการปรับตัวและพัฒนาตนเองสู่ความยั่งยืน ทั้งการเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ การเตรียมความพร้อมในการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งการจัดงานสัมมนาวิชาการ “Eco Innovation Forum” เป็นกิจกรรมหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในการพัฒนาตนเองสู่ความยั่งยืน

สำหรับการจัดงานสัมมนาในปีนี้ ภายในงานมีการจัดเสวนาวิชาการในหลายประเด็น อาทิ ปัจจัยความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมในรูปแบบธรรมศาสตร์โมเดล การเสวนา “Climate change” การรับมือและเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการต่อมาตรการ CBAM การเสวนา Industrial Collaboration for Greening supply chain with Eco Factory (WG&WP) และการบรรยายพิเศษ “เท่าทันกฎหมายการจัดการกากอุตสาหกรรมใหม่ และภารกิจ กนอ. กับการจัดการกากอุตสาหกรรม”

นอกจากนี้ ยังมีพิธีมอบโล่เกียรติยศ และประกาศนียบัตรเกียรติคุณ ให้กับนิคมอุตสาหกรรมที่ยกระดับเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับ Eco-World Class จำนวน 7 แห่ง ระดับ Eco-Excellence จำนวน 15 แห่ง ระดับ Eco-Champion จำนวน 17 แห่ง โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) จำนวน 47 แห่ง โรงงานเครือข่ายลดก๊าซเรือนกระจกดีเด่น จำนวน  6 แห่ง โรงงานสนับสนุนข้อมูลการดำเนินงานพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จำนวน 40 แห่ง และวอเตอร์ฟุตพริ้น (Water Footprint) จำนวน 16 แห่ง โดยมีผู้ร่วมงานจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม นักวิชาการ ภาคประชาชน และสื่อมวลชนไม่ต่ำกว่า 500 คน

 

TAGS: #กนอ. #เมืองอุตสาหกรรม #Carbon #Neutrality