BFC กับ Soft Power

BFC กับ Soft Power
คอลัมน์ฺ 'Growth and Sustainability' โดย 'วิฑูรย์  สิมะโชคดี'

ในทัศนะของผมแล้ว “โครงการกรุงเทพเมืองแฟชั่น” (ในวันนั้น) ก็คือ “Soft Power” ของไทยโดยแท้ (ในวันนี้) เพราะคำว่า “Soft Power” เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง

“Soft Power” ก็คือ การใช้อิทธิพลทางวัฒนธรรม และหรือคุณค่าทางสังคม เพื่อ “จูงใจ” และ “เชื้อเชิญ” ให้ผู้คนสนใจแล้วอยากทำตาม ดังเช่น กระแสเกาหลีฟีเวอร์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก (หลังซีรีส์ภาพยนตร์เกาหลี รวมถึงเหล่าศิลปิน K-pop โด่งดังไปทั่วโลก) ได้สอดแทรกวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเชื่อ ค่านิยมของคนเกาหลีเข้าไปในสื่อต่างๆ เหล่านั้น  แล้วทำให้วัยรุ่นและผู้คนทั่วโลกเอาอย่างและทำตามด้วยความชื่นชมเห็นชอบและสมัครใจ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตปกติ

ในขณะที่ “Hard Power” ก็คือ การใช้อำนาจทางกฎหมาย  ทางการทหาร หรือ มาตรการทางเศรษฐกิจ เพื่อ “บังคับ” (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) ให้ผู้คนทำตามสิ่งที่ต้องการ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือเหตุการณ์สงครามและการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองทั่วโลกที่ทำให้วิถีชีวิตปกติของประชาชนเปลี่ยนไปตามสภาพการที่กดดันหรือบีบคั้น

ในความเป็นจริงแล้ว แม้ “Hard Power” จะได้ผลที่เห็นได้ชัดและเร็ว  แต่ก็จะเกิดผลเพียงชั่วคราว และก่อให้เกิดผลลัพธ์แบบที่จับต้องได้เท่านั้น แต่ “Soft Power” ที่ทำการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง จะให้ผลลัพธ์ที่ยาวนานและถาวรมากกว่า (แม้จะใช้เวลานานกว่า) แถมยังเกิดผลลัพธ์ทางอารมณ์และจิตใจต่อกลุ่มเป้าหมายด้วยการขยายอิทธิพลด้านศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต อาหารการกิน การใช้สินค้า เป็นต้น

ว่าไปแล้ว  แต่ละประเทศก็จะมี Soft Power ในแบบฉบับของตัวเอง อเมริกาก็เป็นเรื่องของความบันเทิงอย่างภาพยนตร์ เพลง และรายการเกมส์โชว์ต่างๆ  ฝรั่งเศสก็เป็นเรื่องของอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว  ประเทศในฝั่งสแกนดิเนเวียน ก็เป็นเรื่องของแนวความคิดและปรัชญาการดำเนินชีวิต ส่วนประเทศญี่ปุ่น และประเทศจีน ก็เป็นเรื่องของเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมและสถานที่ท่องเที่ยวเป็นหลัก

ส่วนประเทศไทยเราก็มีจุดเด่นด้านศิลปวัฒนธรรม อัธยาศัยไมตรี  การต้อนรับขับสู้  ยิ้มสยาม  สถานที่ท่องเที่ยว  ประวัติศาสตร์  วิถีชีวิต และอื่นๆ อีกมากมายที่สามารถใช้เป็นพื้นฐานในการสร้าง “Soft Power” ได้
บ้านเราจึงให้นิยามของ “Soft Power” โดยสรุปในรูปลักษณะของ “5F” ที่สัมผัสจับต้องได้ง่าย อันได้แก่ Food, Film, Fashion, Festival, และ Fighting 
ดังนั้น “โครงการกรุงเทพเมืองแฟชั่น” (Bangkok Fashion City : BFC) จึงเป็น Soft Power ในยุคแรกๆ ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมของไทยเรา  ซึ่งฝากผลงานที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่งถึงเท่าทุกวันนี้ ครับผม !

TAGS: #Growth #and #Sustainability #วิฑูรย์ # สิมะโชคดี