คอลัมน์ 'Growth and Sustainability' โดย 'วิฑูรย์ สิมะโชคดี' ตอน
โดยหลักการแล้ว “อุตสาหกรรมแฟชั่นของไทย” จะประกอบด้วย 3 อุตสาหกรรมหลัก คือ (1) อุตสาหกรรมสิ่งทอ-เสื้อผ้า (2) อุตสาหกรรมเครื่องประดับ พลอย-อัญมณี และ (3) อุตสาหกรรมเครื่องหนัง รองเท้า อุตสาหกรรมเหล่านี้จะประกอบด้วย กิจการขนาดกลาง เล็ก และใหญ่แบบครบวงจรที่มีจำนวนมาก มีการจ้างงานหลายล้านคน และมีปริมาณยอดส่งออกเป็นแสนล้านบาท
การพัฒนาตลาดของ “อุตสาหกรรมแฟชั่น” จะเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมในสาขาที่เกี่ยวข้องทั้งหมดด้วย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับ การทอผ้า การฟอกย้อม การพิมพ์ลาย เครื่องหนัง เครื่องประดับ รวมตลอดทั้งอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ คือตั้งแต่การปั่นด้าย ทอผ้า จนถึงการตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป นอกจากนี้อุตสาหกรรมแฟชั่นยังเกี่ยวข้องอย่างแน่นแฟ้นกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวด้วย เนื่องจากประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามและมีประวัติศาสตร์ยาวนาน ประกอบกับเรามีแหล่งชอปปิ้งและศูนย์การค้าสำหรับสินค้าแฟชั่นอย่างครบวงจรหลายแห่งที่มีคุณภาพติดระดับโลก
ที่สำคัญก็คือ “อุตสาหกรรมแฟชั่น” ยังรวมถึงบุคลากรที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย เช่น ดีไซน์เนอร์ ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ช่างแต่งหน้า ช่างทำผม นายแบบ นางแบบ ช่างภาพ สื่อมวลชล เจ้าของแบรนด์แฟชั่นดัง นาฬิกา กระเป๋า เครื่องหนัง เครื่องประดับ เครื่องสำอาง วงการไฮโซ เซเลบ และอาชีพอื่นๆ อีกมากมาย
“โครงการกรุงเทพเมืองแฟชั่น”นี้ นอกจากจะมุ่งเน้นการสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของ“อุตสหกรรมแฟชั่น”ของไทยแล้ว ยังทำให้เกิดความมั่นคงทางการจ้างงานแก่แรงงานและเป็นการกระจายรายได้อีกด้วย อีกทั้งสร้างผลกระทบที่เกี่ยวเนื่องต่อยังไปผู้ค้าขายและผู้ส่งออกเสื้อผ้าแฟชั่น ซึ่งทำให้เกิดรายได้อย่างมากมาย และมีผลกระทบในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจประเทศอย่างมากมาย
ดังนั้น การผลักดัน “โครงการกรุงเทพเมืองแฟชั่น” ให้เกิดขึ้น จึงน่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการพัฒนาเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย
การเรียนรู้จากอดีตในความสำเร็จและข้อบกพร่องของ “โครงการกรุงเทพเมืองแฟชั่น” จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการผลักดันโครงการต่างๆ ในลักษณะ Soft Power ต่อไปในอนาคตด้วย
ถึงวันนี้ “โครงการกรุงเทพเมืองแฟชั่น” ที่มุ่งเน้นในภารกิจ 3 มิติอย่างบูรณาการ คือ “สร้างคน - สร้างธุรกิจ - สร้างเมือง” จึงเป็น “Soft Power” อีกโครงการหนึ่งของไทย ที่ยังคงมากด้วยเสน่ห์และมนต์ขลัง ซึ่งคุ้มค่าแก่ “การลงทุนแบบยั่งยืน” (Sustainable Investment) ครับผม !