ยั่งยืนเพราะไม่เสี่ยง

ยั่งยืนเพราะไม่เสี่ยง
คอลัมน์ 'Growth and Sustainability' โดย 'วิฑูรย์  สิมะโชคดี'

องค์กร ที่ประสบความสำเร็จและมีโอกาสที่จะยั่งยืนต่อไปในอนาคต จะต้องเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม  มีส่วนในการทำให้ชุมชนเข้มแข็ง และสังคมส่วนรวมดีขึ้นด้วย  คือ  ต้องไม่ใช่องค์กรที่มุ่งหวังแต่กำไรเพียงอย่างเดียว

ความยั่งยืนขององค์กร จะเกิดขึ้นจากปัจจัยสำคัญอีกสองประการ คือ นอกจากเรื่องรายได้แล้ว ยังมีเรื่องของ (1) ความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยของคนงาน   และ (2) สิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน  ซึ่งมีผลกระทบต่อบุคคลหรือชุมชนภายนอกโรงงานด้วย

ทุกวันนี้  โลกยั่งยืนก็เพราะองค์กรยั่งยืน  เช่นเดียวกับที่ องค์กรยั่งยืน ก็เพราะโลกยั่งยืน

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งโลกและองค์กร จะยั่งยืนได้ ก็ด้วย “หนึ่งสมองและสองมือ” ของพวกเราทุกคนเท่านั้น

ในกรณีของความยั่งยืน ขององค์กรที่เกี่ยวเนื่องกับ “ความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยของคนงาน” นั้น จะเกี่ยวข้องกับ “ความเสี่ยง” ในสถานที่ทำงานหรือโรงงานเป็นสำคัญ

แต่เดิมนั้น “การบริหารความเสี่ยง” (Risk Management) จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของ “การป้องกันอุบัติเหตุอันตราย” และ “การสร้างเสริมความปลอดภัยในที่ทำงาน” เพราะยึดเอา “ความเสี่ยงภัยในการทำงาน” เป็นหลักคิด เพื่อการลดอุบัติเหตุและลดความสูญเสียในโรงงาน อันเป็นเหตุให้กำไรลดลง และธุรกิจมีปัญหา

คือ ถ้ามี “ความถ้าเสี่ยง” ต่างๆ ในโรงงานมาก คนงานก็จะมีโอกาสบาดเจ็บพิการได้มาก หรือมีทรัพย์สินเสียหาย องค์กรก็สูญเสียมากด้วย

“การบริหารความเสี่ยง” หรือ “การประเมินความเสี่ยง” จึงสำคัญมากต่อการบริหารจัดการโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้คนงานทำงานได้อย่างปลอดภัยที่สุด ตรงไหนหรือบริเวณไหนที่มีจุดเสี่ยง หรือจุดอันตราย ก็หาวิธีป้องกันล่วงหน้า เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสีย

แต่ต่อมา คำว่า “การบริหารความเสี่ยง” ได้นำมาใช้ในวิชา “การบริหารธุรกิจ” ซึ่งเกี่ยวข้องกับ การเงิน และกำไรขาดทุนขององค์กรด้วย  เพื่อลด “จุดเสี่ยง” หรือ “ความเสี่ยง” ที่ทำให้องค์กรต้องสูญเสียหรือขาดทุน

บทความวันนี้  ผมขอนำเอาเรื่องของ “การบริหารความเสี่ยงในโรงงาน” มาพูดคุยก่อน  เพื่อทำการลดจุดเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอันตรายได้ (เพื่อให้ที่ทำงานปลอดภัย)

พูดง่ายๆ ว่า “การประเมินความเสี่ยงในสถานที่ทำงาน” ก็คือ กระบวนการที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการตรวจสอบ  เพื่อค้นหาจุดเสี่ยง หรือจุดอันตรายที่อาจทำให้คนงานหรือคนที่อยู่ใกล้เคียงบาดเจ็บ พิการ หรือล้มตาย ตลอดจนอาจทำให้ทรัพย์สินเสียหาย และทำการประเมินดูว่าจุดเสี่ยงหรือจุดอันตรายนั้นๆ จะก่อให้เกิดความบาดเจ็บพิการหรือสูญเสียได้มากน้อยเพียงใดบ้าง

ดังนั้น  “การตรวจสถานที่ทำงาน” จึงแตกต่างจาก “การประเมินความเสี่ยง” เพราะการตรวจสอบเป็นเพียงการค้นหาจุดอันตรายต่างๆ  แต่การประเมินจะเป็นการวิเคราะห์ถึงผลกระทบ (ความร้ายแรงมากน้อย) ที่อาจเกิดขึ้นจากจุดอันตรายนั้นๆ ในโรงงาน ครับผม !

 

 

TAGS: #Sustainability #วิฑูรย์  #สิมะโชคดี #องค์กรที่ยั่งยืน