คนไทยอ่วมทั่วหน้า หนีไม่พ้นพิษสงครามรัสเซีย-ยูเครน

คนไทยอ่วมทั่วหน้า หนีไม่พ้นพิษสงครามรัสเซีย-ยูเครน
กว่า 3 ปี ที่คนไทยตกอยู่ในว่าเศรษฐกิจไม่ดี รายได้ชักหน้าไม่ถึงหลัง จากพิษโควิดกำลังจะดีขึ้น ก็มาเจอพิษสงครามรัสเซีย-ยูเครนซ้ำเข้ามาเพิ่ม

วันที่ 24 พ.ค. 2566 จะครบรอบ 1 ปีเต็ม สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ตอนแรกคิดว่าจะเป็นสงครามระยะสั้น แต่ถูกลากยาวเป็นสงครามที่หาสันติภาพไม่เจอ ทำให้เศรษฐกิจโลกป่วน สะเทือนมาถึงเศรษฐกิจไทยชนิดหนีไม่ได้ ได้แต่บอกว่าต้องทำใจเท่านั้น

แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยตรง แต่เศรษฐกิจไทยและคนไทยโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สายป่านไม่ยาว ต่างได้รับผลกระทบกันทั่วหน้า ทั้งวงจรการใช้ชีวิตและการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นค่าครองชีพที่สูงขึ้น จากราคาอาหาร สินค้า โดยเฉพาะราคาพลังงานน้ำมัน แก๊ซหุงต้ม รวมถึงการทำมาหากินที่ลำบาก ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมากก่อน นับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 หรือในรอบกว่า 20 ปี

ผลกระทบใกล้ตัวที่สุดหนีไม่พ้น เรื่องราคาอาหารที่คนไทย โดยเฉพาะคนรายได้น้อยหาเช้ากินค่ำ ที่ปัจจุบันต้องกินข้าวแกงข้างถนน ในราคาจานละครึ่งร้อยแล้ว จากเดิมจานละ 30 บาทก็เอาอยู่ คิดเป็นราคาที่แพงขึ้นถึว 30-40% ซึ่งส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่ามาจากพิษสงครามรัสเซีย-ยูเครน 

ที่เป็นเช่นนั้น เพราะว่า เนื้อสัตว์หมู รวมถึงผักหญ้าต่างๆ ต้องใช้อาหารสัตว์จากต่างประเทศ พืชไร่ก็ต้องใช้ปุ๋ยจากต่างประเทศเช่นกัน โดยผู้ส่งออกรายใหญ่รายหนึ่งคือประเทศรัสเซีย-ยูเครน เมื่อสองประเทศนี้ทำสงครามกัน ทำให้การส่งออกต่างหยุดชะงัก ทำให้เกิดการขาดแคลน ส่งผลให้ต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ ปลูกผัก ปลูกหญ้า มีต้นทุนสูงและราคาแพงขึ้นในที่สุด

ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ไทย ประเมินว่า ตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ต้นทุนอาหารสัตว์ปรับขึ้น 25-30% และปี 2566 จะเพิ่มขึ้นไปอีกไม่น้อยกว่า 10% รวมกันก็ต้นทุนเพิ่มขึ้นถึง 40%

ผลกระทบที่ใกล้ตัวอีกตัวหนีไม่พ้น เรื่องราคาพลังงาน เพราะหลังจากเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน มหาอำนาจทางเศรษฐกิจต่างพากันคว่ำบาตรรัสเซีย ที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลก ทำให้การผลิตได้ลดลง รวมถึงความกังวลของสงครามจะยืดเยื้อหาทางลงไม่ได้หาทางจบไม่เจอ ทำให้ ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแพงขึ้นไม่หยุด

ราคาน้ำมันแพง ส่งผลให้ต้นทุนขนส่ง และการผลิตสินค้าแพง ค่าก๊าซธรรมชาติทำให้ต้นทุนการประกอบการอาหารแพงขึ้นแล้ว ยัง ทำส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ทำให้ราคาไฟฟ้าของไทยแพงขึ้นไปด้วย เพาะการผลิตไฟฟ้าของไทยต้องพึ่งน้ำมันดีเซล และก๊าซธรรมชาติที่นำเข้ามาจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่

นอกจากนี้ สงครามที่ยืดเยื้อยังส่งผลให้เศรษฐกิจโลกที่ทำจะฟื้น กลับมาชะลอตัว กระทบการค้าขายการส่งออกของไทย ที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ซึ่งการส่งออกของไทยมีสัญญาณหดตัวตั้งแต่ปลายปี 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งหลายฝ่ายประเมิ่นว่านตราบใดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ไม่สงบ เศรษฐกิจโลกก็ฟื้นยาก และการส่งออกของไทยก็ต้องได้รับผลกระทบลากยาวไปด้วย

เมื่อสงครามรัสเซีย-ยูเครน จากที่คิดว่าเป็นหนังตอนเดียวจบ กลายมาเป็นหนังซีรีย์หาตอนจบไม่ได้ รวมถึงปีหน้าจะมีการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ และรัสเซีย ทำให้สงครามรัสเซีย-ยูเครน ถูกมองว่าจะถูกลากออกไปอีกนาน ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจโลกและไทยต่อไป 

แม้แต่นักวิชาการไทย ยังไม่กล้าฟันธงว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครน จะจบลงอย่างไร และคนไทยจะต้องเตรียมรับมืออย่างไร นอกจากบอกว่า ให้ทำใจและปรับตัวไปตามสถานการณ์ให้ได้มากสุด

ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจ ที่นักธุรกิจและนักลงทุน ยังไม่มั่นใจการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะฟื้นดีขนาดไหน เพราะล่าสุด สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ฯ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2565 โต 2.6% และปี 2566 คาดว่าจะขยายตัว 2.7 – 3.7% ลดลงจากเดิมที่คาดโต 3.0 – 4.0% ที่คาดการณ์ไว้เมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมา

จากการประเมินของสภาพัฒน์ฯ ให้นักธุรกิจและนักลงทุนเชื่อว่า หากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังดำเนินการต่อไปเช่นนี้ ประกอบการกับการเมืองไทยจะมีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนพ.ค. 2566 เป็นปัจจัยลบทั้งภานนอกและภายในประเทศเข้ามาพร้อมกัน ทำให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวไปทางด้านต่ำสูง

ซึ่งการที่เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ แต่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ และต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น ทำให้เศรษฐกิจไทยที่ยังขยายตัวได้นั้น ไม่ได้ทำให้คนไทยรายได้น้อยหาเช้ากินค่ำ และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สภาพคล่องหมดตัวหมด รู้สึกดีขึ้น แต่ในทางตรงข้ามกับรู้สึกแย่ลงลำบากมากขึ้น เพราะเงินหมดตัวหนี้รอบทิศชักหน้าไม่ถึงหลัง จนไม่รู้ว่าจะรอดไปได้ก่อนสงครามรัสเซีย-ยูเครน จะยุติหรือไม่

TAGS: #สงคราม #รัสเซีย #ยูเครน #เศรษฐกิจ #พลังงาน #น้ำมัน