กรุงเทพฯจะรอดไหม? น้ำทะเลกำลังจะสูงขึ้นอีกเพราะแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์ละลายหนัก
สรุปสถานการณ์
- จากการวิจัยล่าสุดที่เผยแพร่ในวารสาร Nature Communications ระบุว่า ธารน้ำแข็งทางตอนเหนือของกรีนแลนด์เป็นแหล่งน้ำแข็งเพียงพอที่จะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 2.1 เมตร ทว่า ตั้งแต่ปี 1978 ชั้นน้ำแข็งในกรีนแลนด์ตอนเหนือได้สูญเสียปริมาตรไปมากกว่า 35% ของปริมาตรทั้งหมด
- แผ่นน้ำแข็งนี้ถือว่ามีความเสถียรมานานแล้ว แต่ล่าสุด 3 ชั้นในนั้นพังทลายลงอย่างสิ้นเชิง สำหรับชั้นน้ำแข็งลอยน้ำที่เหลืออยู่ นักวิจัยสังเกตเห็นการสูญเสียมวลชั้นน้ำแข็งที่เพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวาง และมีอัตราการหลอมละลายจากระดับฐานรากที่เพิ่มขึ้น
- ระหว่างปี พ.ศ. 2543 ถึง พ.ศ. 2563 ยิ่งอุณหภูมิของมหาสมุทรเพิ่มขึ้น อัตราการละลายของฐานรากก็ยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวาง ดังนั้น คาดการณ์ว่า ในอนาคตอัตราการหลอมละลายที่ระดับฐานจะยังคงเพิ่มขึ้นหรือยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อเสถียรภาพของธารน้ำแข็งกรีนแลนด์
- นักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์ชั้นน้ำแข็ง 8 ชั้นที่ค้ำจุนธารน้ำแข็งทางตอนเหนือของเกาะกรีนแลนด์ หากทั้งหมดนี้ละลาย มันจะเพิ่มระดับน้ำทะเลได้ 2.1 เมตร และรายงานระบุว่าระหว่างปี พ.ศ.2549 ถึง พ.ศ.2561 การละลายของแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นมากกว่า 17%
กรุงเทพฯ คือเมืองที่เสี่ยงจมน้ำที่สุดแห่งหนึ่ง
สถานการณ์ทีเกิดขึ้นกับแผ่นน้ำแข็งที่กรีนแลนด์เป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก เพราะมันเกิดขึ้นกับแหล่งน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่เคยคิดกันว่ามันมีความเสถียร หรือพูดง่ายๆ ก็คือไม่น่าจะละลายได้ง่าย แต่ตอนนี้มันไม่ใช่แบบนั้นอีกต่อไป
การละลายของแผ่นน้ำแข็งกรีนด์แลนด์จะส่งผลไปทั่วโลก ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมืองสำคัญที่อยู่ริมชายฝั่งละอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลจะได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า หนึ่งในนั้นคือ กรุงเทพมหานคร ซึ่งสูงกว่าระดับน้ำทะเลแค่ 0.5 ถึง 1.5 เมตร
นอกจากนี้ กรุงเทพฯ ยังมีปัญหาทรุดตัวจากการสูบน้ำบาดาล ทำให้บางพื้นที่ของกรุงเทพฯ ตอนนี้อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 1 เมตรไปเรียบร้อยแล้ว
จากการคาดการณ์ของนักวิทยาศาสตร์บางคน การเพิ่มสูงขึ้นของน้ำทะเลประกอบกับการทรุดตัวลงของแผ่นดิน คาดว่าภายในปี 2030 หรือปี พ.ศ. 2573 พื้นที่สำคัญของกรุงเทพฯ จะจมอยู่ใต้น้ำ
นี่คือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับกรุงเทพฯ ถ้าน้ำทะเลสูงขึ้นเรื่อยๆ
- ข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่าเมืองต่างๆ ริมอ่าวกรุงเทพ (บริเวณอ่าวไทยตอนในสุด) สูญเสียพื้นที่ชายฝั่งประมาณ 1 ถึง 5 เมตรในแต่ละปี และแน่นอนว่ามันจะหนักขึ้นเรื่อยๆ
- นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น 0.3 เมตร จะทำให้แนวชายฝั่งหายไปประมาณ 30 เมตร คาดว่าระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น 1.5 เมตร จะทำให้แนวชายฝั่งหดหายไป 136 เมตร
- จากการศึกษาโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) คาดการณ์ว่าประชากร 5 ใน 10 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงน้ำท่วมภายในปี 2070 หรือปี พ.ศ. 2613
- สถานการณ์จะเลวร้ายลงในปลายศตวรรษนี้ เพราะระดับน้ำทะเลเฉลี่ยทั่วโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2 เมตรในปลายศตวรรษนี้ ขณะที่กรุงเทพฯ อยู่เหนือทะเลแค่ 0.5 ถึง 1.5 เมตร ดังนั้นกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะจมน้ำแน่นอน
ภาพประกอบข่าว - ธารน้ำแข็งทเวตส์ (Thwaites Glacier) ในทวีปแอนตาร์กติกา ภาพถ่ายโดย NASA (Public Domain)