เมียนมาเสี่ยงประเทศแตก จีนหนุนฝ่ายต่อต้านเผด็จการเพราะเผด็จการทหารไม่ฟังคำขอกำจัด'จีนเทา'
สรุปบทวิเคราะห์ของหน่วยงานในสหรัฐฯ เผยปมเบื้องลึกความขัดแย้งที่ชายแดนเมียนมา-จีน
สรุปสถานการณ์
- จากรายงานของ The Irrawaddy สื่ออิสระของเมียนมา เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ระบุว่า เป็นเวลา 10 วันแล้วนับตั้งแต่กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่รวมตัวกันในชื่อ 'พันธมิตรภราดรภาพ' (Brotherhood Alliance) ได้โจมตีฐานที่มั่นของกองทัพเมียนมาในรัฐฉานโดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนเมียนมา-จีน ในชื่อปฏิบัติการ Operation 1027 และยึดฐานที่มั่นได้ 100 แห่ง แต่กองทัพเมียนมายังไม่สามารถตอบโต้คืนได้อย่างเป็นรูปธรรม ทำได้แต่เพียงรักษากลไกการบริหารหน่วยงานราชการในเมืองหลักๆ ของรัฐฉานตอนบนเท่านั้น
- เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน สื่อของรัฐบาลเมียนมา คือ Global New Light of Myanmar รายงานอ้างคำกล่าวของ มี้น ส่วย ประธานาธิบดีของเมียนมา ที่กล่าวในการประชุมสภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติในกรุงเนปีดอ ว่า “หากรัฐบาลไม่จัดการเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนอย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศก็จะถูกแบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ จำเป็นต้องควบคุมปัญหานี้อย่างระมัดระวัง”
- จากรายงานแหล่งเดียวกัน ระบุว่า พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ผู้นำรัฐประหารได้เปิดการประชุม โดยกล่าวว่ากองทัพ “สามารถควบคุมสถานการณ์ได้สำเร็จ” หลังจาก “โจมตีอย่างมีนัยสำคัญต่อ MNDAA (กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมาร์)” และ MNDAA มี "ผู้เสียชีวิตจำนวนมาก"
- อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน The Irrawaddy ยังรายงานอ้างจากแหล่งข่าวทางทหารว่า ผู้นำเผด็จการทหาร มิน ออง หล่าย ได้สั่งให้กองหนุนทหารทั้งหมดเตรียมพร้อมสำหรับการสู้รบในแนวหน้า ท่ามกลางปัญหาการขาดแคลนทหาร แม้แต่แพทย์ทหารที่ยังเรียนอยู่ในระดับปริญญาหรือทำงานในโรงพยาบาลทหารก็ได้รับคำสั่งให้เข้าร่วมกองกำลังรบในพื้นที่ขัดแย้งเช่นกัน แสดงถึงภาวะขาดแคลนกำลังพล และปัญหาเร่งด่วนจากการถูกโจมตีโดยพันธมิตรชาติพันธุ์
อะไรที่เป็นสาเหตุให้กองทัพเมียนมาตื่นตระหนกได้ถึงขนาดนี้ หรือว่าจะมีอะไรปมเบื้องลึกที่ใหญ่กว่าความขัดแย้งกับกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อย?
ต่อไปนี้คือสรุปบทวิเคราะห์เรื่อง "รัฐบาลทหารของเมียนมาร์กำลังสูญเสียการควบคุมชายแดนติดกับจีน" เผยแพร่เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน จาก U.S. Institute of Peace ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ที่ศึกษาเรื่องสันติภาพและความขัดแย้งทั่วโลก เป็นหน่วยงานที่ร่วมบริหารโดยคณะกรรมาธิการสองพรรคในรัฐสภา และกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ
1. กองทัพเมียนมาสูญเสียการควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่บริเวณชายแดนของประเทศที่ติดกับจีนในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา เพราะกลุ่มติดอาวุธต่อต้านเผด็จการทำการโจมตีแบบไม่เคยมีมาก่อน เป้าหมายหลักของการโจมตีแบบผสมผสานคือการทำลายกลุ่มอาชญากร (จีนเทา) ที่สร้างรายได้ในเขตแดนตามแนวชายแดนจีนที่ดำเนินการโดยกองกำลังรักษาชายแดนที่ได้รับการสนับสนุนจากทหารเมียนมาอย่างมีนัยสำคัญ
2. การที่กลุ่มติดอาวุธต่อต้านเผด็จการเปลี่ยนเป้าหมายใหม่ เป็นการ.ใช้ประโยชน์จากความพยายามล่าสุดของจีนในการหยุดยั้งกลุ่มจีนเทาที่ล่อลวงพลเมืองจีน และการโจมตีครั้งนี้ "อาจเป็นจุดเปลี่ยนในการต่อสู้ระดับชาติเพื่อต่อต้านการปกครองของทหาร ซึ่งจะก่อให้เกิดความท้าทายใหม่ร้ายแรงต่อผู้นำที่ต่อต้านรัฐประหาร ประชาคมระหว่างประเทศ และเพื่อนบ้านของเมียนมา"
3. ที่ผ่านมาจีนพยายามจัดการกับธุรกิจจีนเทาในเมียนมา รวมถึงการกดดันให้กองทัพเมียนมาปราบปรามกองกำลังรักษาชายแดนและศูนย์ฉ้อโกงที่พวกจีนเทาเปิดดำเนินการ แต่เพราะนายพลเมีนมาไม่ได้ให้ความร่วมมือ "ฝ่ายจีนที่ไม่พอใจรัฐบาลทหารจึงดำเนินขั้นตอนที่เข้มงวดยิ่งขึ้น และประสานให้กองกำลังต่อต้านเผด็จการดำเนินการให้สอดคล้องกับจีน" นั่นหมายความว่าทางการจีนหันมาหนุนฝ่ายตรงข้ามกับกองทัพเมียนมาแล้ว ฐานที่กองทัพเมียนมาไม่จริงจังในการปราบจีนเทา
4. การโจมตีครั้งนี้จะเป็นสาเหตุให้กองทัพชาติพันธุ์ต่างๆ ต้องการที่จัดตั้งเขตปกครองตนเอง และยังเพิ่มอิทธิพลของจีนในกองกำลังต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาอย่างมากด้วย และจีรอาจเปิดกว้างมากขึ้นต่อความเป็นไปได้ในการร่วมมือกับกลุ่มต่อต้านทหารเมียนมา (แต่เดิมจีนใกล้ชิดกับกองทัพเมียนมามากกว่า) ความสัมพันธ์นี้อาจมีผลต่อแผนการสร้างประเทศเมียนมาในรูปแบบการปกครองใหม่ที่กลุ่มประชาธิปไตยต้องการด้วย นั่นคือ เมียนมาที่ปกครองด้วยระบอบสหพันธรัฐ
5. ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม จีนแสดงท่าทีชัดเจนไปยังกองทัพเมียนมาว่า ยอมรับไม่ได้ที่ทหารเมียนมาจะคอยอุ้มพวกจีนเทา ซึ่งลักลอบลักพาตัวคนหลายแสนคนจากทั่วโลก และขโมยเงินและฟอกเงินหลายพันล้านดอลลาร์ต่อเดือนจากเหยื่อทั่วโลก รัฐบาลจีนยืนกรานให้กองทัพเมียนควบคุมกองกำลังรักษาชายแดน (BGF) ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากแถบชายแดน ประกอบด้วยกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่ยอมรวมเป็นหน่วยเดียวกันหลังหยุดยิง เช่น กะเหรี่ยงกลุ่มต่างๆ
6. แต่ BGF คอยคุ้มหัวพวกจีนเทา รัฐบาลทหารไม่เพียงแต่เพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของจีนเท่านั้น แต่ยังเข้าข้าง BGF โดยเฉพาะที่รัฐกะเหรี่ยงมีการเปิดคอมเพล็กซ์จีนเทาอย่างโจ่งแจ้งบริเวณชายแดนไทย และยังมี BGF ในดินแดนโกก้าง คุ้มครองพวกจีนเทาให้ทำธุรกิจผิดกฎหมายที่ติดพรมจีนเลยด้วยซ้ำ โดย BGF ในดินแดนโกก้าง ถือกำเนิดมาจาก มิน ออง หล่าย
7. ในช่วงกลางปีนี้ จีนให้ไฟเขียวแก่สื่อและอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของจีนเพื่อสร้างสื่อบันเทิงเกี่ยวกับความวุ่นวายในเมียนมาและทำให้ผู้คนชาวจีนตื่นกลัวกับอาชญากรรมของพวกจีนเทาในเมียนมา ที่มักจะล่อลวงและลักพาคนจีนไปใช้แรงงานทาส เช่น ภาพยนตร์เรื่อง “No More Bets” “Tainted Love” และ “Lost in the Stars” ทำรายได้ทะลุบ็อกซ์ออฟฟิศไปแล้วกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ "เป็นการบอกเป็นนัยว่าชาวจีนจะปลอดภัยได้เฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยความช่วยเหลือจากจีนเท่านั้น"
8. เมื่อเผด็จการทหารเมียนมาไม่ยอมทำตามที่จีนขอ จีนจึงดำเนินการเอง โดยขั้นแรกเริ่มในเดือนกันยายน ในพื้นที่รัฐฉานตอนเหนือมีกลุ่มติดอาวุธที่แนบแน่นกับจีน คือ พวกว้าและกลุ่มที่เมืองลา กลุ่มนี้ใช้เงินจีน พูดภาษาจีน มีระบบต่างๆ เหมือนในจีน และบางคนมีบัตรประชาชนจีนด้วย จีนใช้กลุ่มว้าและกลุ่มอื่นๆ ที่อิงกับตน ช่วยกำจัดพวกจีนเทา โดยมีปฏิบัติการกวาดล้างกลางเดือนกันยายน และส่งตัวจีนเทากลับไปยังจีน 1,207 คน
9. แต่นี่ยังเป็นการ "ยึดอำนาจ" ของจีนในพื้นที่เมียนมาด้วย เพราะแม้กลุ่มว้าจะใกล้ชิดกับจีน แต่แกนนำของกองกำลังว้ากลับอุ้มพวกจีนเทา ดังนั้น หลังจากนั้นไม่นาน จีนได้ออกหมายจับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของว้าสองคนที่เกี่ยวข้องกับผู้นำสูงสุดของว้า คือ เป้าโหย่วเสียง โดยตั้งข้อหาพวกเขาว่าเป็น "เจ้าพ่อ" ที่อยู่เบื้องหลังกลุ่มอาชญากรจีนเทาในดินแดนว้า และควบคุมตัวรองผู้บัญชาการของกองทัพแห่งรัฐว้า ซึ่งเป็นหลานชายคนโปรดของผู้นำว้าในขณะที่กำลังไปเยือนประเทศจีน
10. หลังจากนั้นพวกว้าก็เอาการเอางานขึ้นมาทันที โดยบุกทลายแหล่งธุรกิจจีนเทาถึง 40 แห่งและส่งคนถึง 4,000 คนไปให้จีน ในจำนวนนี้เป็นคนต่างชาติหลายร้อยคน ต่อมา จีนล่อลวงผู้นำระดับชั้นสูงของโกก้าง ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธเชื้อสายจีนในเมียนมา ให้เข้าร่วมงานวิ่งมาราธอนข้ามพรมแดนและเทศกาลพื้นบ้านในเดือนกันยายน และจับกุมคนเหล่านี้ได้ 11 คน ในนั้นรวมถึง หลิวเจิ้งฉี ซึ่งเป็นหนึ่งในจีนเทาตัวเอ้ของโกก้าง และยังมีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจที่แน่นแฟ้นกับ มิน อ่อง หล่าย
สรุป - นี่คือที่มาที่ไปก่อนจะมีปฏิวัติการ Operation 1027 ที่ทำให้กองทัพเมียนมาพ่ายแพ้หมดรูปอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งๆ ที่น่าจะเหนือกว่ากองกำลังพันธมิตรต่อต้านเผด็จการด้วยซ้ำ แต่ถ้าเป็นไปตามการวิเคราะห์ของหน่วยงานในสหรัฐฯ ปฏิบัติการนี้อาจมีนัยไปถึงการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมาที่ไม่ยอมทำตามที่จีนร้องขอ นั่นคือการกำจัดพวกจีนเทาให้หมดสิ้นไป แล้วจีนจะหันมาหนุนฝ่ายต่อต้านที่ยอมทำตามที่จีนต้องการ คือ กวาดล้างพวกจีนเทา ดังนั้นเป้าหมายของ Operation 1027 การกำจัดจีนเทาเป็นหลัก โดยโจมตีทหารเมียนมาไปด้วย ฐานเป็นผู้คุ้มครองจีนเทา
หากกลุ่มพันธมิตรนี้แข็งแกร่งขึ้นมา ความฝันของพวกเขาที่จะสร้างระบอบสหพันธรัฐในเมียนมาก็ใกล้จะเป็นจริงเข้าไปทุกที โดยอาจมีจีนให้การยอมรับในที่สุด
ดังนั้น เผด็จการเมียนมาถึงกับต้องบอกว่า การสู้รบครั้งนี้มีเอกภาพของประเทศเป็นเดิมพัน เพราะมันอาจทำให้ประเทศแตกเป็นเสี่ยงๆ ได้
รายงานพิเศษจากทีมข่าว The Better