เพราะมันทำเงินมหาศาล กับเหตุผลที่กัมพูชาต้องไล่ประชาชนออกจากนครวัด
เหตุการณ์เบื้องหลัง
- Amnesty International องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เผยว่า รัฐบาลกัมพูชาเริ่มขับไล่ประชาชน 10,000 ครอบครัวออกจากพื้นที่ของ "นครวัด" หรือ "เมืองพระนคร" (ซึ่งกินพื้นที่ขอปราสาทนครวัด นครธม และปราสาทอีกหลายแห่งในกลุ่มเมืองพระนคร ทางตอนเหนือของเมืองเสียมเรียบ) ตั้งแต่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565
- ทางการกัมพูชาอ้างถึงความจำเป็นในการปกป้องโบราณสถานจากความเสียหายที่อาจส่งผลกระทบต่อสถานะมรดกโลกของ UNESCO โดยเจ้าหน้าที่ได้ย้ายผู้คนไปยังสถานที่รองรับการย้ายถิ่นฐาน ซึ่งเป็นพื้นที่แห้งแล้งและขาดบริการที่จำเป็น Amnesty International ชี้ว่าเป็นการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษชนระหว่างประเทศ
- มอนต์เซ เฟอร์เรอร์ รองผู้อำนวยการภูมิภาคฝ่ายวิจัย Amnesty International กล่าวว่า “ทางการกัมพูชาได้ถอนรากถอนโคนครอบครัวที่อาศัยอยู่ในเมืองพระนครมาหลายชั่วอายุคนอย่างโหดร้าย พวกเขาจะต้องยุติการบังคับขับไล่ผู้คนและการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศโดยทันที”
- เฟอร์เรอร์ ยังกล่าวว่า “หาก UNESCO มุ่งมั่นที่จะให้สิทธิมนุษยชนเป็นหัวใจสำคัญของกิจกรรมทั้งหมดขององค์กร ก็ควรประณามอย่างโจ่งแจ้งต่อการบังคับขับไล่ (ประชาชน) ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการจัดการแหล่งมรดกโลก ใช้อิทธิพลของตนเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาหยุดการกระทำเหล่านั้น และผลักดันให้มี การสอบสวนของสาธารณะและอย่างเป็นอิสระ”
มันไม่ใช่แค่เรื่องการอนุรักษ์ แต่มันคือ "เงิน"
รายได้หลักอย่างหนึ่งของกัมพูชามาจากการท่องเที่ยว โดยภาคการท่องเที่ยวมีสัดส่วน 3.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของประเทศ โดยในปี 2565 มีรายได้กว่า 1,410 ล้านดอลลาร์ นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวมากที่สุด คือ คนไทย ในปี 2566 มีจำนวนกว่า 700,000 คน จากรายงานเดือนมิถุนายน 2566 ส่วนอันดับสองคือ คนเวียดนามกว่า 300,000 คน
เฉพาะรายได้จากการท่องเที่ยวอุทยานโบราณคดีเมืองพระนคร ตามรายงานวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 602,570 คนมาเยี่ยมชมอุทยานแห่งนี้ระหว่างเดือนมกราคมถึงตุลาคม ส่งผลให้มียอดขายตั๋วรวม 27.88 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มีผู้เข้าชมเพิ่มขึ้น 255.82% และรายได้เพิ่มขึ้น 312.35%
สำหรับค่าเข้าชมอุทยานเมืองพระนคร ถือว่าค่อนข้างสูง ประกอบไปด้วยบัตรเที่ยวชมประเภทหนึ่งวันราคา 37 ดอลลาร์ บัตรประเภท 3 วันราคา 62 ดอลลาร์ และบัตรประเภท 7 วันราคา 72 ดอลลาร์ แต่ชาวกัมพูชาไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าเข้าชม
เมื่อเดือนกันยายน หน่วยงานดูแลอุทยานโบราณคดีเมืองพระนคร คือ APSARA ประกาศห้ามการถ่ายภาพโบราณสถานในนครวัดโดยมีเจตนาเพื่อในเชิงพาณิชย์ แม้แต่การโพสต์ภาพยนต์ใน YouTube ก็ต้องขออนุญาตก่อน
เพราะเงินจึงมีอิทธิพลมืดที่ครอบงำ "อังกอร์"
ด้วยความที่มันเป็นเงินเป็นทองทั้งนั้น หน่วยงานดูแลอุทยานเมืองพระนคร หลายปีที่แล้วจึงเคยมีกรณีอื้อฉาวเกี่ยวกับการแจ้งยอดเงินค่าเข้าชมต่ำกว่าความเป็นจริง อีกทั้งยังมีข้อครหาเรื่องที่รัฐบาลสมัยฮุน เซน เอื้อประโยชน์ให้นายทุนเข้ามาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากโบราณสถานแห่งนี้ นั่นคือ Sokimex ที่เคยเข้ามาดูแลเรื่องตั๋วเข้าชมผ่านหน่วยงาน APSARA
- พรรคการเมืองฝ่ายค้านหลักในขณะนั้นนำโดย กึม สุขา และ สม รังสี ผู้นำร่วมของพรรคกู้ชาติกัมพูชาซึ่งเป็นฝ่ายค้านที่ขณะนี้ถูกยุบไปแล้ว กล่าวหาว่า APSARA ปรับแปลงรายงานรายได้จากการเข้าชมนครวัดให้น้อยลง เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับ ซก กง ผู้ก่อตั้งและเจ้าของบริษัท Sokimex
- ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2555 กลุ่มที่ไม่เปิดเผยนามได้ยื่นคำร้องเรียนการทุจริตต่อหน่วยงานต่อต้านการทุจริตของประเทศ โดยกล่าวหาว่า Sokimex ดูดรายได้ค่าตั๋วเข้าชมนครวัดส่วนใหญ่ออกไป และระบุว่าสัญญาระหว่างรัฐบาลกับบริษัท Sokimex ว่า “ไม่ปกติ”
- บุน นฤทธิ์ ผู้อำนวยการทั่วไปของ APSARA ตอบโต้ว่ากล่าวหานั้นไม่มีมูลความจริง แต่ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2560 ซุน ฉาย ส.ส.อาวุโสฝ่ายค้านเรียกร้องอีกครั้งให้ทบทวนการใช้จ่ายของรัฐบาลผ่าน APSARA ซึ่งเกี่ยวข้องกับ ซก กง
ถ้าไม่ยอมออกไปก็จงเข้าคุกซะ
• Amnesty International ได้ทำการสัมภาษณ์ชาวกัมพูชาที่ถูกไล่ออกจากอุทยานเมืองพระนครจำนวนกว่า 100 คน ซึ่งต่างก็บอกว่าทางการกัมพูชาให้วิธีการข่มขู่ให้ประชาชนออกไปจากบ้านของพวกเขา เช่น เกษตรกรรายหนึ่งบอกว่า "พวกเขาขอให้เรายืนข้างหนึ่ง แบ่งเป็นคนที่ยอม (ยอมสละนาข้าว) และคนที่ไม่ยอมไปยืนข้างหนึ่ งแล้วบอกว่าใครประท้วงจะเข้าคุกทันที"
• Amnesty International พบว่า หัวหน้าหมู่บ้าน หน่วยงานท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานรัฐบาลกัมพูชาผ่านหน่วยงาน APSARA ได้คุกคามและข่มขู่ครอบครัวหลายสิบครอบครัวด้วยการไปเยี่ยมบ้านของพวกเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่าและขอให้พวกเขาออกไป แต่ชาวบ้านคนหนึ่งบอกว่า “พวกเขาบอกว่าไม่ได้บังคับ แต่ถ้าคุณไม่ทำ คุณจะสูญเสียที่ดิน … ดังนั้นเราจึงยอมสมัครใจ”
• ประชาชนที่ใช้นามแฝงว่าเทวี กล่าวว่า APSARA และเจ้าหน้าที่กระทรวงที่ดินบอกเธอว่า “UNESCO ต้องการให้คุณออกไป เราเกรงว่า UNESCO จะถอนสถานที่ดังกล่าวออกจากสถานะมรดกโลก ดังนั้นคุณต้องไป” แต่เธอบอกว่า “ฉันอยากถาม UNESCO ว่าทำไมพวกเขาถึงไล่เราออก เราไม่เคยทำร้ายปราสาทหินเลย ตอนที่ฉันยังเป็นเด็ก เราเล่นเกม ปีนป่ายทำความสะอาดที่นครวัด”
พ่อของเทวีเสียชีวิตหลังจากตกลงมา ระหว่างซ่อมแซมปราสาทหินแห่งหนึ่ง
หมายเหตุ - UNESCO ตอบคำถามกับ Amnesty International ว่า ไม่เคยเรียกร้องให้มีการโยกย้ายประชากรออกไป
Photo - AFP / TANG CHHIN Sothy