ผลวิจัยพบ 61% ของพลเมืองชาติผู้นำด้าน AI ยังรู้สึกระแวงปัญญาประดิษฐ์ มองอาจถูกใช้เป็นภัยต่อมนุษย์
คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ และเคพีเอ็มจี ออสเตรเลีย (KPMG Australia) ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนจาก 17 ประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย จีน ฝรั่งเศส และสหรัฐฯ มากกว่า 17,000 คน ด้วยปัจจัยที่ว่าประเทศเหล่านี้เป็นผู้นำกิจกรรม และมีความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์
โดยประชาชนกลุ่มสำรวจร้อยละ 39 เผยความยินดีจะไว้วางใจระบบปัญญาประดิษฐ์ และ 1 ใน 3 ของประชาชนทั่วโลกแสดงการยอมรับระดับสูง ส่วนราวร้อยละ 85 เชื่อว่าการใช้ปัญญาประดิษฐ์จะก่อเกิดประโยชน์มากมาย เช่น ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เกิดนวัตกรรมใหม่ ต้นทุนลดลง และใช้ทรัพยากรดีขึ้น
อย่างไรก็ดี ประชาชนกลุ่มสำรวจร้อยละ 73 แสดงความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงจากการใช้ปัญญาประดิษฐ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นข้อกังวลใหญ่ที่สุด (ร้อยละ 84) จากรายการความเสี่ยง 9 ข้อ ตามด้วยการจัดการหรือการใช้ปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นอันตราย และการสูญเสียงานเพราะระบบอัตโนมัติ
การศึกษาครั้งนี้ยังพบประชาชนร้อยละ 61 กังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่ “ไม่แน่นอนและคาดเดาไม่ได้” ของปัญญาประดิษฐ์ต่อสังคม โดยร้อยละ 71 ของกลุ่มสำรวจทั้งหมดเชื่อว่าจำเป็นต้องมีการกำกับควบคุมปัญญาประดิษฐ์
เจมส์ แมบบอตต์ จากเคพีเอ็มจี ฟิวเจอร์ส (KPMG Futures) กล่าวว่าความท้าทายสำคัญคือประชาชน 1 ใน 3 มีความเชื่อมั่นระดับต่ำต่อองค์กรรัฐบาล เทคโนโลยี และพาณิชย์ในการพัฒนา ใช้งาน และควบคุมปัญญาประดิษฐ์เพื่อประโยชน์สูงสุดของสังคม
แมบบอตต์กล่าวว่าองค์กรต่างๆ สามารถสร้างความไว้วางใจของการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ด้วยการวางกลไกอันสะท้อนการใช้งานอย่างมีความรับผิดชอบ เช่น การเฝ้าติดตามความถูกต้องและความน่าเชื่อถืออย่างสม่ำเสมอ การปฏิบัติตามจรรยาบรรณปัญญาประดิษฐ์ การทบทวนและรับรองจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นอิสระ และการยึดมั่นมาตรฐานสากล