1 ปีสงครามรัสเซียยูเครน กับ 5 ผลกระทบที่พลิกโลก

1 ปีสงครามรัสเซียยูเครน กับ 5 ผลกระทบที่พลิกโลก
สงครามรัสเซียยูเครนที่ยืดเยื้อจนเข้าสู่ปีที่ 2 ของความขัดแย้งได้สร้างผลกระทบที่เปลี่ยนโฉมโลกในหลายประการ

สงครามยูเครนรัสเซียที่ยืดเยื้อจนครบ 1 ปี นับตั้งแต่ที่รัสเซียเริ่มรุกรายยูเครนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2022 ได้กลายเป็นหายนะทั้งสำหรับยูเครนตลอดจนวิกฤตที่สร้างผลกระทบวงกว้างต่อโลก ท่ามหนึ่งปีที่ผ่านไปของสงครามพลเรือนยูเครนหลายพันคนที่เสียชีวิต อาคารนับไม่ถ้วนถูกทำลาย ทหารนับหมื่นของทั้งสองฝ่ายได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต แต่นอกเหนือจากความสูญเสียตลอด 1 ปี การรุกรานของรัสเซียได้สร้างผลกระทบสำคัญอย่างน้อย 5 ประการที่สะเทือนไปทั้งโลก

 

ยุโรปเป็นสนามรบอีกครั้ง

แม้เทคโนโลยีจะมีบทบาทสำคัญในยุคนี้ทั้ง ดาวเทียมและโดรน ทว่าการสู้รบในภูมิภาคดอนบาส ทางตะวันออกของยูเครนยังคงเป็นพื้นที่สู้รบที่โหดเหี้ยมด้วยดินโคลน สนามเพลาะ และการจู่โจมของทหารราบที่นองเลือด ชวนให้นึกถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 สงครามยูเครนกับรัสเซียได้จุดชนวนให้สองชาติมหาอำนาจมีการแข่งขันด้านอาวุธครั้งใหม่ที่บรรดาขั้วมหาอำนาจเริ่มสะสมกำลังพลและยุทโธปกรณ์มากขึ้น บรรยากาศแบบนี้คล้ายกับช่วงก่อนที่ส่งครามโลกครั้งที่สองจะปะทุ

 รัสเซียระดมทหารเกณฑ์หลายแสนคนและตั้งเป้าขยายกำลังทหารจาก 1 ล้านเป็น 1.5 ล้านนาย สหรัฐฯ ได้เพิ่มการผลิตอาวุธเพื่อทดแทนคลังอาวุธที่ส่งไปยังยูเครน ฝรั่งเศสวางแผนที่จะเพิ่มการใช้จ่ายทางทหารขึ้นหนึ่งในสามภายในปี 2030 ในขณะที่เยอรมนีซึ่งมีนโยบายห้ามส่งอาวุธไปยังพื้นที่ที่มีความขัดแย้งมาอย่างยาวนาน กำลังพิจารณาส่งขีปนาวุธและรถถังไปช่วยยูเครน

ก่อนสงครามปะทุ บรรดานักวิเคราะห์มองว่า สงครามรอบนี้จะยกระดับไปสู่การใช้เทคโนโลยีและสงครามไซเบอร์ห้ำหั่นกัน ทว่าตรงกันข้าม ทั้งรัสเซียกับยูเครนต่างพึ่งพายุทโธปกรณ์ทั้งรถถัง ปืนใหญ่และขีปนาวุธจำนวนมาก พร้อมทั้งเรียกร้องการสนับสนุนจากตะวันตกในลักษณะนี้มากขึ้น

 

'ชาติเป็นกลาง' เปลี่ยนจุดยืน

การรุกรานยูเครน ทำให้ชาติที่มีจุดยืนเป็นกลางมาตลอดและมีพรมแดนยาวหลายร้อยหลายพันกิโลเมตรที่ติดกับรัสเซียโดยเฉพาะฟินแลนด์ กับสวีเดน ที่เริ่มลังเลต่อจุดยืนความเป็นกลางของตนจนยื่นใบสมัครของเข้าเป็นหนึ่งในชาติสมาชิกนาโต้แบบ'ฟาสต์แทร็ก'

ขณะเดียวกันชาติสหภาพยุโรปทั้ง 27 ชาติก็ดำเนินนโยบายคว่ำบาตรรัสเซียอย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งเงินและยุทโธปกรณ์มูลค่ารวมนับพันล้านเหรียญให้ยูเครน เรื่องนี้ไมเคิล คลาร์ก นักวิเคราะห์ด้านกลาโหม อดีตหัวหน้าสถาบันวิจัย Royal United Services ให้มุมมองว่า "อียูกำลังใช้มาตรการคว่ำบาตร ซึ่งเป็นมาตรการที่ค่อนข้างรุนแรง ส่วนสหรัฐที่เคยให้ความสนใจกับการขยายอิทธิพลของจีน ได้กลับมามีบทบาทในยุโรปมากขึ้นพร้อมกับการล้างแค้นในแบบที่เราไม่เคยคิดว่ามันจะเกิดขึ้นอีกครั้ง

ประเทศสมาชิกนาโต้ที่มีพรมแดนติดกับอยู่เครน ก็พลอยรับอานิสงส์จากความขัดแย้งในยูเครนเช่นกันซึ่งคือ โปแลนด์กำลังมีบทบาทมากขึ้นซึ่งอาจเปลี่ยนศูนย์กลางอำนาจของยุโรปให้เอนเอียงไปทางตะวันออกมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งพันธมิตรนาโต้ก็พร้อมรับมือกับสงครามระยะยาวของรัสเซีย


ม่านเหล็กใหม่

สงครามทำให้รัสเซียกลายเป็นรัฐนอกรีตในสายตาชาติตะวันตก บรรดาบริษัทต่างชาติขนาดใหญ่หลายรายต่างพากันถอนธุรกิจออกจากแดนหมีขาว เช่นเดียวกับบริษัทขนาดใหญ่ของรัสเซียที่ถูกต่างชาติขึ้นบัญชีดำ

ถึงกระนั้น มอสโกก็ใช่ว่าจะไร้มิตรเสียทีเดียว รัสเซียได้กระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีน แม้ว่าปักกิ่งห่างไกลจากการสถานการณ์สู้รบและจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้ส่งอาวุธ เมื่อเร็ว ๆ นี้สหรัฐได้แสดงความกังวลที่อาจมีการเปลี่ยนแปลง

จีนกำลังเฝ้าดูความขัดแย้งอย่างใกล้ชิดซึ่งอาจเป็นทั้งกำลังใจหรือคำเตือนแก่ปักกิ่งเกี่ยวกับความพยายามใด ๆ ที่จะเรียกคืนไต้หวันที่ปกครองตนเองด้วยกำลังทหารในลักษณะเดียวกับที่รัสเซียทำต่อยูเครน

ปูตินยังได้ใช้คอนเนคชั่นพิเศษกับบรรดาเกาหลีเหนือและอิหร่าน ให้พวกเขาช่วยจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์มากมายตลอดจนโดรนติดอาวุธแก่กองทัพรัสเซีย มอสโกใช้สงครามนี้สร้างอิทธิพลในแอฟริกาและตะวันออกกลาง ผ่านกลุ่มทหารรับจ้าง Wagner ของรัสเซีย ซึ่งพวกเขามีอำนาจมากขึ้นในทุกพื้นที่ตั้งแต่ดอนบาสของยูเีรนไปจนถึงซาเฮลในทะเลทรายซาฮาราของแอฟริกา


เศรษฐกิจผันผวน พลังงานแพง

ผลกระทบของสงครามทำให้ทางเศรษฐกิจผันผวนตั้งแต่ในยุโรปไปจนถึงในแอฟริกาและเอเชีย ช่วงก่อนสงครามปะทุ ประเทศในสหภาพยุโรปนำเข้าก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจากรัสเซียเกือบครึ่งหนึ่ง การรุกรานและการคว่ำบาตรตอบโต้รัสเซียส่งผลให้ราคาพลังงานพุ่งขึ้นในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ตลอดจนการตอบโต้ของรัสเซียทำให้ราคาพลังงานของชาติในยุโรปแพงขึ้นหลายเท่าตัว 

สงครามทำให้การค้าโลกที่กำลังฟื้นตัวจากการระบาดต้องหยุดชะงัก ส่งผลให้เงินเฟ้อและราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นผู้จัดหาข้าวสาลีและน้ำมันทานตะวันรายใหญ่ และรัสเซียเป็นผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่ของโลก

แม้ว่าปัจจุบันทั้งรัสเซียและยูเครนจะเห็นพ้องให้เรือบรรทุกธัญพืช กลับมาแล่นเข้าออกขนส่งสินค้าผ่านทะเลดำได้อีกครั้ง ทว่าความมั่นคงด้านอาหารยังถือเป็นไพ่หลักที่รัสเซียมองว่าเป็นแต้มต่อรองกับชาติตะวันตก เช่นเดียวกับพลังงาน 

สงครามยังทำให้ความมุ่งมั่นสู่พลังงานสีเขียวของยุโรปเปลี่ยนไปด้วย เนื่องจากก๊าซธรรมชาติที่ราคาพุ่งสูง ทำให้บรรดาชาติยุโรปต้องกลับมาใช้ถ่านหินในการผลิตกระแสไฟฟ้ามากขึ้น นั่นทำให้เป้าของยุโรปในการมุ่งสู่การเพิ่มการใช้พลังงานสะอาดภายใน 5 ปี ไม่เป็นไปตามเป้า


ยุคใหม่ของความไม่แน่นอน

ความขัดแย้งเป็นเครื่องเตือนใจอย่างชัดเจนว่าปัจเจกชนมีอำนาจควบคุมประวัติศาสตร์เพียงเล็กน้อย ไม่มีใครรู้เรื่องนี้ดีไปกว่าชาวยูเครน 8 ล้านคนที่ถูกบังคับให้หนีออกจากบ้านและประเทศเพื่อไปมีชีวิตใหม่ในชุมชนต่างๆ ทั่วยุโรปและที่อื่น ๆ สำหรับประชาชนหลายล้านคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ความมั่นคงและสงบสุขของยุโรปเปลี่ยนแปลงอย่สงกะทันหัน นำมาซึ่งความไม่แน่นอนหลายประการ

ปูตินขู่ว่าจะใช้อาวุธปรมาณูหากความขัดแย้งลุกลามบานปลาย ส่งผลให้ความกลัวสงครามนิวเคลียร์ที่เคยสงบนิ่งมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็นกลับมาสู่ชาติยุโรปอีกครั้งหนึ่ง 

แพตริเซีย ลูอิส ผู้อำนวยการโครงการความมั่นคงระหว่างประเทศของ Chatham House กล่าวว่า การที่ปูตินหยิบเรื่องการใช้อาวุธนิวเคลียร์ได้กระตุ้นให้ชาติยุโรปรู้สึก “โกรธมากกว่าความกลัว” โดยเฉพาะที่ยุโรปอยู่กึ่งกลางระหว่างสองขั้วมหาอำนาจที่สะสมอาวุธนิวเคลียร์เป็นจำนวนมากอย่างสหรัฐและรัสเซีย 

ท้ายที่สุดไม่ว่าสงครามรัสเซียยูเครนจะลงเอยอย่างไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดห้วงเวลาความขัดแย้ง 1 ปี ได้เปลี่ยนจุดยืนตลอดจนสร้างผลกระทบต่อทั่วโลกทั้งในแง่ภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจไปอย่างสิ้นเชิง

TAGS: #สงคราม #รัสเซีย #ยูเครน #ไบเดน #ปูติน #เซเลนสกี