บทความทัศนะ (Opinion) โดย กรกิจ ดิษฐาน บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better และนักประวัติศาสตร์อิสระ
มีเสียงเรียกร้องมาสักพักแล้วให้คนไทยเพลาๆ การลอยกระทงลงบ้าง เพราะลอยแล้ววันรุ่งขึ้นขยะเกลื่อนแม่น้ำ ลามไปถึงทะเล
บางปีเรียกร้องให้เลิกลอยกระทงกันไปเลย เหมือนปีนี้มีบางเพจเสนอให้เลิกลอยกระทงในทะเล แล้วหันมาลอยในแหล่งน้ำปิด คือ ตามหนอง, บึง, สระ อะไรพวกนั้น
อันนี้ยังถือว่ามีทางออกให้ บางคนฮาร์ดคอร์จัดๆ ก็เสนอให้เลิกกันไป
สื่อบางแห่งก็บ้าจี้ตามไปด้วย ปั่นเป็นข่าวว่า "ชาวเน็ต" เรียกร้องให้เลิกลอยกระทง อยากถามว่า "ชาวเน็ต" คือใคร? และมีกี่คน?
เรื่องบางเรื่องจะมาอ้าง "ชาวเน็ต" ลอยๆ ไม่ได้ เพราะมันคือการปลุกปั่นความเห็นของประชาชนโดยอ้างลอยๆ ราวกับว่าความเห็นไม่กี่ความเห็นคือคนส่วนใหญ่ของประเทศ
ยังไม่ต้องถามว่าความเห็นพวกนั้นมี "คุณภาพแค่ไหน" มีความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมระดับไหน มีความรู้เรื่องวัฒนธรรมหรือไม่? และรู้หรือเปล่าว่าเทศกาลลอยกระทงทำเงินให้กับประเทศปีละเท่าไร?
ลองเอาเงินเข้าประเทศจากนักท่องเที่ยววันนั้น กับเงินรายได้พ่อค้าแม่ค้าในวันลอยกระทง กับเงินหมุนเวียนในระบบในวันนั้น แล้วมาบวกลบคูณหารกับค่าเหนื่อยในการเก็บกวาดกระทงกันดู ถ้ามันขาดทุนขึ้นมาค่อยหาเรื่องเลิกก็ยังไม่สาย
ผมจะยกตัวอย่างตัวเลขท่องเที่ยวช่วงก่อนโควิด คือ เดือนพฤศจิกายน 2562 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย จำนวน 3.35 ล้านคน ขยายตัว 5.92% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา สร้างรายได้ 0.16 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.87%
ดังนั้น เดือนแห่งลอยกระทงมันจึงเป็นเดือนแห่งปากท้องของคนไทย อย่าบอกว่าปากท้องของคนไม่กี่คน เพราะตราบใดที่ประเทศเราพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของทุกคน
นี่คือตัวอย่างของตัวเลขที่ยกมาเป็นพยาน ส่วนผลกระทบของการลอยกระทงต่อโลกผมยังไม่เห็นจะๆ แต่วงการสิ่งแวดล้อมของไทยควรจะมีมันใช่ไหม?
พึงพิจารณาจากสถิติพวกนี้ จากนั้นค่อยทำวิจัยในระยะยาวว่าขยะจากการลอยกระทงกระทบต่อโลกมากแค่ไหน ถ้ามันน้อยมากไม่คุ้มที่จะเลิกก็ค่อยว่ากัน
ไม่ใช่ว่า "กะด้วยสายตา" แล้วมาอ้างว่ามันเลวร้าย อันนี้ไม่เป็นการเป็นงานไปหน่อย
และพูดถึงขยะในทะเล แม้ว่าประเทศไทยจะติดท็อปประเทศที่มีขยะในทะเลมากอันดับต้นๆ ของโลก แต่เริ่มมีการตั้งข้อสังกตว่า ขยะที่บอกว่ามาจากประเทศนี้ประเทศนั้น (รวมถึงไทย) มันมาจากที่นั่นจริงหรือเปล่า?
เพราะการจะดูว่าขยะทะเลลอยมากจากไหน เขามักจะดูที่ฉลาดระบุที่ผลิต (เช่น Made in Thailand) แต่สินค้าที่ผลิตจากไทยมันขายไปทั่วโลก บางทีมันอาจถูกทิ้งจากประเทศอื่นก็เป็นได้
เช่น ประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่ติดทะเลรอบๆ ไทย และนำเข้าสินค้าไทยมากมายมหาศาล การศึกษาที่อ้างว่าไทยทิ้งขยะลงทะเลมากๆ นั้น ได้คำนึงถึงปัจจัยพวกนี้หรือเปล่า?
นี่แหละคือความซับซ้อนของปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ว่าเห็นกระทงลอยเกลื่อนวันเดียว แล้วจะมาเหมาว่ามันทำลายธรรมชาติตลอดปีตลอดชาติ มันไม่ขัดต่อเหตุและผลไปหน่อยหรือ?
ถ้าจะเลิกมันต้องทำการศึกษาให้หลายแง่มุมแบบนี้ จู่ๆ จะมาอ้างชาวเน็ตจากที่ไหนก็ไม่รู้หรือจะอ้างโพลโซเชียลที่ไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ แล้วจะมากดดันให้หยุดลอยกระทง มันใช้ได้ที่ไหน?
และรู้หรือเปล่าว่า ลอยกระทงคือ "อิทธิพลวัฒนธรรมที่เสริมอำนาจการเมือง" (Soft power) ของไทย ทำให้คนนอกมาเที่ยวบ้านเรา ทำให้คนในบ้านเรามีกินมีใช้ และทำให้ไทยปรากฏอยู่บนแผ่นที่โลก?
ถูกแล้ว ความหมายของ Soft power คือ "สิ่งเบาๆ เช่น วัฒนธรรมที่ช่วยหนุนพลังอำนาจที่ทำให้ไทยเป็นที่รู้จักของชาวโลก" ลอยกระทงก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งของพลังนั้น
และมันไม่ใช่แค่ทำให้คนมาเที่ยวในเดือนพฤศจิกายนมากขึ้น มันทำให้คนเข้ามาไทยมากขึ้นทั้งปีทั้งชาติ
เราจะเห็นว่าความบอบบางของกระทง และจริตอันอ่อนหวานของคนไทยที่ประดิษฐ์ประดอยมันขึ้นมา ทำให้ชาวโลกต้องยอมศิโรราบในความแข็งแกร่งทางวัฒนระรมของไทย
นี่คือ ความอ่อนละไมและบอบบาง (Soft) ที่สร้างอำนาจควบคุมเงินตราและการเมืองระหว่างประเทศ (power)
ต่อให้ไม่มีรัฐบาลเศรษฐาที่หลงใหลกับ Soft power เสียเหลือเกิน ประเทศไทยก็เก่งเรื่อง Soft power อยู่แล้ว เพราะทั้งรัฐและราษฎร์ทุ่มเทกายใจสร้างพลังนี้กันขึ้นมาหลายสิบปี
เพราะเหตุนี้เอง เพื่อนบ้านของเราจึงเริ่มที่จะ "เล่นง่าย" หวังจะชิง Soft power ที่เราสร้างมาโดยไม่ต้องออกแรงและเงิน ด้วยการ "เคลม" เอาดื้อๆ เช่น อ้างว่ามวยไทยลอกมาจากมวยของเขา วัฒนธรรมไทยลอกของเขามา ประเพณีไทยก็เอามาจากของเขา
เคลมกันง่ายๆ เหมือนเด็กอมมือแย่งของเล่น แต่เอาเข้าจริงรัฐบาลประเทศพวกนั้นคงนั่งยิ้มนอนยิ้ม เพราะประชาชนของตัวเองขยันทำงานแทนรัฐบาลในการอ้างสิทธิ์ Soft power ที่ไทยสร้างขึ้นมา ถึงทำไม่สำเร็จเต็มร้อย แต่มันต้องมีคนเชื่อบ้างล่ะ
อย่างเช่น มวยของบางประเทศที่อ้างว่าเป็นต้นตำรับมวยไทย เล่นโหน Soft power มวยไทยเอาดื้อๆ แบบนี้ แม้จะน่ารังเกียจ แต่มันได้ผล เพราะมีคนหลงเชื่ออยู่ เชื่อแล้วไง? ก็เงินทั้งนั้นสิครับที่จะไหลเข้าอุตสาหกรรมกีฬาและท่องเที่ยวของประเทศนั้น
ตอนนี้บางประเทศเริ่มอ้างว่าตัวเป็นต้นตำรับลอยกระทง ไม่ใช่แค่อ้างข้อมูลลอยๆ แต่ยังเริ่มเลียนแบบไทยไปทีละน้อย แต่อ้างว่าเป็น "ศิลปะของเรา" เขาสะกดจิตเขาเองให้เชื่อก็แล้วไป แต่ถ้าทำไปนานๆ เกรงว่าคนชาติอื่นจะถูกสะกดจิตให้เชื่อไปด้วย
เมื่อถึงตอนนั้น ชาวโลกก็จะเริ่มงงว่า ตกลงว่าลอยกระทงมันเป็นของไทยหรือของข้างๆ บ้านไทยกันแน่? ยิ่งถ้าเราเลิกหรือลดทอนประเพณีนี้ บอกได้สองคำเลยครับ "ฉิบหายแน่" เพราะมีคอนรอเสียบอยู่แล้ว
ดังนั้น อะไรก็ตามที่จะมาบั่นทอน Soft power ของไทย เราจะยอมไม่ได้เด็ดขาด เพราะไทยปั้นให้มันเป็น "ผลิตภัณฑ์แห่งชาติ" มากับมือ และเก็บเกี่ยวเงินทองไม่รู้เท่าไรจากมัน
ไม่ต้องลากไปถึงบรรพบุรุษหรอกครับว่าใครคิดลอยกระทงขึ้นมา เอาแค่ใครคิดแคมเปญลอยกระทงให้ชาวโลกรู้จักก็พอแล้ว คนเหล่านี้เป็นวีรบุรุษของ Soft power ไทยโดยแท้
นี่แหละคือเหตุที่ทำไมเราจะมาอ้างอะไรลอยๆ เพื่อเลิกวัฒนธรรมของเราไม่ได้ ต่อให้คนที่อยากเลิกรังเกียจคำว่า "วัฒนธรรมอันดีงาม" ก็ควรจะใส่ใจสักหน่อยว่าวัฒนธรรมพวกนี้ทำให้คนมีกินมีใช้มากมายแค่ไหน
อีกอย่าง ลอยกระทงไม่ใช่การบูชาสิ่งที่มองไม่เห็นอีกต่อไป เพราะจะมีสักกี่คนที่รู้ว่ากระทงนั้นไหว้ใครหรืออะไร? ส่วนใหญ่มาลอยเพราะมันสนุกเสียมากว่า และด้วยการผลักดันของหลายฝ่าย กระทงยุคนี้มันเป็นพลาสติกหรือโฟมน้อยลงด้วย
เพราะพอไม่เป็นพลาสติกหรือโฟม หันมาใช้วัสดุธรรมชาติ "นักอนุรักษ์" บางคนก็โวยวายอีกว่า วัสดุธรรมชาติทำให้น้ำเน่าเสีย ตกลงจะให้ใช้อะไรกันดีครับ?
ดังนั้น คนจะติมันก็หาเรื่องติได้ทุกเรื่องๆ ผิดกับคนที่หาทางแก้ไข จะไม่เสียเวลาติโน่นตินี่ แต่จะหาทางออกให้ทุกฝ่ายบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น
ลองดูเทศกาลคริสต์มาสเมืองนอกเมืองนาสิครับ ปีๆ หนึ่งมีต้นสนกี่ล้านต้นที่ถูกตัด เฉพาะแค่สหรัฐฯ ประเทศเดียวก็หลายล้านต้น เช่น ในปี 2560 ตามข้อมูลปีล่าสุดจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา มีต้นคริสต์มาสถูกตัดไปถึง 15,094,678 ต้น
ตัดแล้วก็เอาไปตั้งโชว์ โชว์ได้เดือนสองเดือนก็โยนทิ้ง บางแห่งประเมินกันว่ามีต้นคริสต์มาสถูกตัดมากถึง 120 ล้านต้น
นี่ยังไม่นับความวอดวายจากของจำพวก "อุปกรณ์ประกอบฉาก" ในเทศกาลคริสต์มาส เช่น มีการประเมินกันว่าชาวอังกฤษทิ้งกระดาษห่อของขวัญเทียบเท่ากับกระดาษ 108 ล้านม้วนหลังวันคริสต์มาส หรือในปี มีกระดาษห่อของขวัญถูกทิ้งรวมกันแล้วถ้าเอากระดาษมาแผ่ต่อกันมันจะมีระยะทางถึง 2,28,000 ไมล์ หรือ 3.6 ล้านกิโลเมตร
แบบนี้ "ฉิบหายวายป่วง" กว่ากระทงใบตองอีกนะครับ
ก็ไม่เห็นเขาจะเลิกฉลองคริสต์มาสกันซะที แถมภาคธุรกิจยังโปรโมทเทศกาลนี้กันหนักขึ้นเรื่อยๆ (โดยเฉพาะในไทย) เพราะอะไรครับ?
ก็เพราะมันทำเงินมหาศาลน่ะสิ
บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better
ภาพประกอบบทความ - ภาพแกะสลักที่ระเบียงปราสาทบนยน เมืองพระนคร (นครธม) ประเทศกัมพูชา ซึ่มชาวกัมพูชาอ้างว่าเป็นภาพการลอยกระทง และอ้างว่ากัมพูชาเป็นต้นกำเนิดของการลอยกระทงที่ไทย "ขโมยไป" อย่างไรก็ตาม คนไทยแย้งว่าภาพดังกล่าวไม่เหมือนการลยกระทง แต่เหมอืนกับการถือถาดบายศรีบูชาต้นไม้ เช่น การบูชาต้นข้าวในนา มากกว่า (ภาพถ่ายโดย Andrew 1115/Wikipedia)