ไทยจะสู้สิงคโปร์ด้วย Landbridge สิงคโปร์สู้ด้วยการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก

ไทยจะสู้สิงคโปร์ด้วย Landbridge สิงคโปร์สู้ด้วยการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก
Opinion บทความทัศนะว่าด้วยอนาคตของไทยที่ไปคนละทางกับสิงคโปร์ 

หลายคนต้องสงสัยแน่นอนว่าแล้ว Landbridge มันเกี่ยวอะไรกับการศึกษาของชาติ? จับแพะชนแกะหรือเปล่า? 

แต่ผมไม่เชื่อเรื่องจับอะไรมาชนกับอะไรแล้วอ้างมั่วๆ เพราะเชื่อว่าทุกเรื่องบนโลกนี้ล้วนเกี่ยวโยงกัน แม้แต่การขุดคลองหรือสร้างถนนข้ามฝั่งปักษ์ใต้ ก็เกี่ยวกับผลการศึกษาของชาติไทยและของสิงคโปร์ 

เกี่ยวแบบแยกไม่ออกซะด้วย 

เอาเถอะครับ ผมรู้ว่าหลายคนเชียร์โครงการ Landbridge ซึ่งผมไม่มีขัดข้องอะไร เพียงแต่ยังติดใจอะไรบางอย่างเกี่ยวกับมัน ซึ่งผมจะไม่พูดถึงในโอกาสนี้ เพราะมันมีเรื่องเร่งด่วนมากกว่า 

นั่นคือผลการประเมินจาก "โครงการประเมินผลนักเรียนระหว่างประเทศ" หรือ PISA ซึ่งล่าสุดปรากฎว่ามาตรฐานการศึกษาของไทยตกต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี 

แต่ PISA เขาเพิ่งเริ่มวัดปี 2543 หรือเมื่อ 23 ปีนี่เอง นั่นหมายความว่า การศึกษาของไทยเกือบจะต่ำเตี้ยที่สุดนับตั้งแต่เริ่มประเมินกันมา

ถามว่ามีโอกาสที่มันจะเลวร้ายกว่านี้ไหม? ผมตอบเลยว่า "ได้" เพราะผลประเมินของไทยมันร่วงเกือบทุกปี ถ้าเลวร้ายที่สุดในรอบ 20 ปีได้ มันก็สามารถต่ำที่สุดในรอบ 23 ปีได้เหมือนกัน

นี่ไม่ใช่แช่ง เพราะผมรักชาติและเกลียดการแช่งชักหักกระดูกใคร แต่คอยดูเถอะครับ การศึกษาไทยจะมืดมนลงไปกว่านี้อีก เพราะระบบการศึกษามันไม่เอื้อให้ผลิตนักเรียนที่มีคุณภาพ 

เพราะไม่ส่งเสริมครูที่สอนเก่งๆ แต่ส่งเสริมครูอาจารย์ที่เก่งเรื่องไม่เป็นเรื่อง อย่างพวกประจบสอพลอผู้ใหญ่

เพราะไม่ส่งเสริมคนมีความสามารถในวงการการศึกษาให้เป็นผู้นำ แต่ส่งเสริมคนที่แสวงหาอำนาจบารมีให้เป็นใหญ่ 

เพราะกระทรวงศึกษาธิการยังเป็นกระทรวงที่ได้งบประมาณแพงที่สุด แต่ผลงานที่ออกมามูลค่าต่ำจนน่าตกใจ (ปีนี้กระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณมากที่สุดเทียบกับหน่วยงานอื่นทั้งสิ้นคือได้ 325,900 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งสิ้น 3,185,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของงบประมาณทั้งหมด) 

และเพราะกระทรวงนี้สำคัญยิ่งชีพของชาติ แต่ถูกมองเป็นลูกเมียน้อยในสายตานักการเมือง 

ระบอบการศึกษาไทยตอนนี้ไม่ได้เอื้อต่อการสร้างอนาคต แต่สร้างสังคมที่ล้าหลังอย่างยุคศักดินา ตราบใดที่ครูบาอาจารย์ยังต้องมาเสียเวลากับการค้ำชูอำนาจ "ผู้ใหญ่" และคอยรับใช้ระบบราชการที่ไร้เหตุผล จนแทบไม่ต้องสอนเด็ก ตราบนั้นก็หวังใจไว้ได้เลยว่า PISA ของไทยต่ำกว่าชาวบ้านแน่นอน

ตรงกันข้ามกับสิงคโปร์เลยครับ เพราะการประเมิน PISA ล่าสุด สิงคโปร์ครองแชมป์ทุกรายการ ทั้งด้านคณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์ และการอ่าน ล้วนแต่ได้ที่ 1 

แม้แต่เวียดนามก็ยังทำตำแหน่งดีกว่าไทย อย่าชะล่าใจไปนะครับ บางคนมัวแต่ภูมิใจผิดๆ ว่า "รอมายี่สิบสามสิบปีแล้วไม่เห็นเวียดนามจะแซงไทยซะที" มันต้องมีสักวันแหละครับที่เวียดนามแซงไทยได้ ไม่ต้องมองไกล ตอนนี้การศึกษาของเขาทิ้งห่างไทยไปแล้ว 

แน่นอน สิงคโปร์มีระบบโรงเรียนที่ดีที่สุดในโลก เรื่องนี้ผมไม่ได้พูดเอง เพราะชาวโลกพากันโจษจันเรื่องนี้กันมากขึ้น ยิ่งหลังจากผล PISA ปีนี้ออกมา ยิ่งตอกย้ำสมติฐานนี้ 

ทำไมการศึกษาของเขาถึงดีที่สุดในโลก? เว็บไซต์ Education in Singapore อธิบายไว้ในบทความ "เหตุใดระบบโรงเรียนของสิงคโปร์จึงประสบความสำเร็จอย่างมาก?" ไว้ว่า "จุดแข็งที่โดดเด่นที่สุดประการหนึ่งของระบบการศึกษาในสิงคโปร์ คือการระบุและเชื่อมโยงผลลัพธ์การศึกษาที่ต้องการอย่างชัดเจน" 

ทำไมต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัด? เขาบอกว่ามันจะ "ช่วยในการสร้างหลักสูตรระดับชาติ การนำแนวทางการสอนต่างๆ มาใช้ ตลอดจนรับประกันการเตรียมตัวและการพัฒนาวิชาชีพในระดับสูงของครู"

และ "หากผู้นำโรงเรียนและครูไม่ชัดเจนและไม่ได้รับข้อมูลครบถ้วน ก็จะเป็นไปไม่ได้สำหรับพวกเขาที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว"

ครับ สิ่งสำคัญที่สุดคือการกำหนดเป้าหมาย ต่อให้ออกแบบระบบดีแค่ไหน แต่ไม่มีเป้าหมายชัดเจนว่าเราต้องการสร้างสังคมแบบไหน สร้างพลเมืองแบบใด และสร้างเส้นทางให้ประเทศมุ่งไปในทางใด ก็ไม่มีทางที่จะสร้างหลักสูตรที่ "ถึงที่สุด" ได้

ลองดูเถิดครับอ เอาแค่วิธีการสอบเข้ามหาวิทยาลัยยังเปลี่ยนกันปีเว้นปี  มันหมายความว่าอะไร? เราไม่มีเป้้าหมายใช่ไหม? อย่าอ้างว่าต้องการให้ระบบทันสมัย เพราะความทันสมัยไม่ได้หมายความว่าต้องอัปเดตบ่อยๆ เหมือนแอปธนาคาร (ซึ่งสร้างความรำคาญใจอย่างยิ่ง) 

ถ้าทำแบบเราทุกวันนี้ อย่าไปหวังที่จะแข่งกับสิงคโปร์ แถมยังต้องเตรียมใจด้วยว่าวันหนึ่งเพื่อนบ้านที่เราดูแคลน อาจจะหันกลับมาดูแคลนเราได้ 

เมืองไทยของเรานั้น เคยถามตัวเองหรือเปล่า "เราต้องการพลเมืองแบบไหน?" ผมเห็นมีแต่ถามกันไม่หยุดว่า "ประเทศไทยให้อะไรกับพลเมืองบ้าง?" พอให้ไม่ได้ก็คิดย้ายไปที่อื่น ต่างจากสิงคโปร์ที่มีแต่คนอยากจะย้ายเข้ามาอยู่

ผมชอบแนวคิดของ "บิดาแห่งสิงคโปร์" คืออดีตนายกรัฐมนตรี ลีกวนยู ซึ่งต้องสร้างประเทศขึ้นมาใหม่หลังจากแยกตัวจากมาเลเซีย แต่แทนที่จะเน้นสร้างวัตถุ ลีกวนยู ไม่ลืมที่จะสร้างคน เพราะวัตถุนั้นใช้ใครสร้างก็ได้ แต่ชาติที่แข็งแกร่งต้องใช้คนที่บ่มเพาะมาอย่างดีแล้วเท่านั้น 

เจสัน ตัน ศาสตราจารย์ประจำสถาบันการศึกษาแห่งชาติ (NIE) ซึ่งเป็นแหล่งสร้างครูโดยเฉพาะ บอกกับสำนักข่าว Worldcrunch ว่า ภารกิจสำคัญประการหนึ่งของ ลีกวนยู คือสร้างโครงสร้างการศึกษา (school) ขึ้นใหม่เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ" และนี่ก็ยังเป็นหัวใจของการศึกษาของชาติ "แม้ว่าการปฏิรูปหลายครั้งได้เปลี่ยนแปลงการจัดระบบการศึกษาก็ตาม”

ทั้งหมดทั้งมวลก็ยังอยู่ที่ "เป้าหมายที่ชัดเจน" อยู่นั่นเอง ตั้งแต่สมัย ลีกวนยู แล้วที่สิงคโปร์กำหนดให้การศึกษาต้องสนองการพัฒนาเศรษฐกิจ เขาจึงผลิตคนได้คล้องจองกับเป้าหมายของรัฐ เป้าหมายนั้นคือการสร้างคนที่เชี่ยวชาญวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ และนิยมอ่าน ซึ่งหมายถึงการแสวงหาความรู้

ข้าราชการของชาติ คือ พวกที่จบการศึกษาระดับสูง เพื่อทำให้การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด เมืองไทยหรือครับ? รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาที่การเป็นตาสีตาสามาจากไหนก็ได้แล้ว ณ ขณะนี้  

เป้าหมายของสิงคโปร์เข้าชัดเจนครับว่า จะสร้างคนมาทำงานขายแรง (labor-intensive) ไม่ได้ จะต้องสร้างคนเป็นผู้ใช้ปัญญา (knowledge-intensive)

ไม่ใช่ว่าไม่ทำงานใช้แรง แต่ใช้แรงอย่างมีปัญญา เช่น ใช้เทคโนโลยีลดการใช้แรง แต่ได้เงินมากมาย ไม่ใช่ใช้แรงมากมายเพื่อแลกเงินนิดหน่อย 

กลับมามองที่ไทยอีกครั้ง โครงการทั้งหลายทั้งปวงของเรายังรั้งเราไว้กับการสร้างคนให้เป็นคนหาเช้ากินค่ำ ไม่ได้สร้างคนให้เป็น "เจ้าคนนายคน" ในภูมิภาคนี้ 

แม้แต่โครงการในฝันอย่าง Landbridge มันไมได้สร้างสังคมไทยให้ก้าวข้ามสิงคโปร์เลย แต่เป็นการเดินตามสิงคโปร์ยุคก่อน แน่นอน มันจะตัดช่องทางทำเงินของสิงคโปร์ แต่ประเทศนั้นได้มุ่งไปทางอื่นแล้ว 

กลับมาที่คำสารภาพเหมือนตอนเริ่มบทความนี้ ว่าผมไม่มีปัญหาอะไรกับ Landbridge เพียงแต่เราไม่คิดจะเปลี่ยนเศรษฐกิจของเรา จากการหาเงินแบบใช้แรงกับวัตถุ มาเป็นสังคมที่ใช้ภูมิปัญญามากกว่านี้หรือครับ? 

แล้วคิดดูนะครับ ในภูมิภาคที่มันมีทางสัญจรหลักอยู่แล้ว คือช่องแคบมะละกา ซึ่งไม่ได้ไกลกว่าคอคอดกระเลย มันมีประโยชน์แค่ไหนกับการสร้าง Landbridge ซ้ำซ้อนกันขึ้นมา ไม่คิดหรือครับว่า สร้างแล้วจะต้องมาแข่งกันพีอาร์แย่งลูกค้ากับเจ้าเดิมอีก?

แล้วเป้าหมายของเราคืออะไร? เราต้องการเป็นแบบสิงคโปร์สมัยครึ่งศตวรรษก่อนหรือ? อยากเป็นผู้คุมเส้นทางคมนาคมหรือ? อย่าลืมว่าเจ้าของเส้นทางเชื่อมต่อบางประเทศก็ไม่ได้เจริญนะครับ เช่น ปานามา (คลองปานามา) กับอียิปต์ (คลองสุเอซ) 

ผมคิดแบบนี้ครับ กว่าที่ Landbridge จะสร้างเสร็จ คุณภาพของมนุษย์ไทยจะด้อยลงไปอีกมาก เมื่อถึงวันที่ "เราคิดว่าเราแทนที่สิงคโปร์สำเร็จแล้ว"  สิงคโปร์ไปไหนต่อไหนแล้ว เรายังเป็นประเทศกำลังพัฒนา และอาจจะเลวลงกว่าเดิม เพราะแม้จะมีเส้นทางขนส่งเป็นของตัวเอง แต่คุณภาพของคนเท่ากับปานามาและอียิปต์ 

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เพราะไทยแลนด์ของเรา ไม่มีเป้าหมายอะไรเลยในชีวิต และที่เส้นขอบฟ้าที่ควรจะได้มองเห็นอนาคตอยู่รำไรนั้น ว่างเปล่าโดยสิ้นเชิง

บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better 

(Photo by Peter PARKS / AFP)

TAGS: #Landbridge #PISA