รู้หรือไม่ปาเลสไตน์ไม่ได้มีแค่มุสลิม แต่ยังมีชุมชนชาวคริสต์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ที่กำลังตกอยู่ในอันตราย

รู้หรือไม่ปาเลสไตน์ไม่ได้มีแค่มุสลิม แต่ยังมีชุมชนชาวคริสต์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ที่กำลังตกอยู่ในอันตราย

จากกรณีที่มีข่าวว่า สังฆราชละตินแห่งเยรูซาเลม ซึ่งเป็นประมุขชาวคริสต์นิกายคาทอลิกในไซปรัส, อิสราเอล, จอร์แดน และปาเลสไตน์กล่าวว่า “ประมาณเที่ยง” ของวันที่ 16 ธันวาคม มือปืนของ IDF “สังหารสตรีชาวคริสเตียนสองคนในโบสถ์ Holy Family Parish ในฉนวนกาซา ซึ่งครอบครัวคริสเตียนส่วนใหญ่เข้าไปลี้ภัยตั้งแต่เริ่มต้นสงคราม" นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายคนถูกยิงเช่นกันตามคำแถลง

ในเวลาต่อมา กองกำลังป้องกันประเทศอิสราเอล (IDF) ปฏิเสธความรับผิดต่อการเสียชีวิตของสตรีชาวปาเลสไตน์ที่เป็นคริสเตียนสองคน 

นอกจากการที่ประชาชนผู้บริสุทธิ์จะถูกสังหารในระหว่างสงครามอย่างง่ายดายแล้ว สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับกรณีนี้คือ หลายคนอาจจะไม่ทราบมาก่อนว่าปาเลสไตน์เป็นบ้านของชาวคริสต์จำนวนไม่น้อย ไม่ได้มีแค่ชาวมุสลิมอย่างที่เข้าใจ และคนสองกลุ่มอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์มานานนับพันปี จนกระทั่งเกิดรัฐอิสราเอลขึ้นมา หลังจากนั้นทุกสิ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนไป

ชาวคริสต์ที่เก่าแก่ที่สุด
ชาวคริสต์ในปาเลสไตน์มีประวัติศาสตร์ที่ย้อนกลับไปถึงศตวรรษแรก หรือราว 2,000 ปีก่อน ถือเป็นตัวแทนของชุมชนคริสเตียนที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เนื่องจากปาเลสไตน์ (หรืออิสราเอล) คือดินแดนถือกำเนิดของพระเยซูและเป็นสถานที่ที่พระองค์เผยแพร่ศาสนา ดังนั้น ชาวคริสต์กลุ่มแรกๆ ของโลกก็มาจากชาวปาเลสไตน์นั่นเอง ต่อมาหลังจากนั้นหลายร้อยปี ศาสนาคริสต์ได้กลายเป็นศาสนาทางการของอาณาจักรโรมัน ซึ่งปกครองปาเลสไตน์ในฐานะจังหวัดหนึ่ง ศาสนาคริสต์ในพื้นที่ปาเลสไตน์และจังหวัดรอบๆ เช่น จอร์แดน, ซีเรีย เป็นต้น  เริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น เช่น การใช้ภาษาในการประกอบพิธี ซึ่งชาวคริสต์ในปาเลสไตส์หรือชาวเมลไคต์ใช้ภาษากรีกเป็นภาษาทางศาสนา (ภาษาแรกๆ ที่ใช้บันทึกคัมภีร์ไบเบิลคือภาษากรีก) 

ต่อมา หลังการล่มสลายของอาณาจักรโรมัน ตามด้วยอาณาจักรไบแซนไทน์ที่นับถือศาสนาคริสต์เช่นกัน ก็ตามด้วยการปกครองภายใต้ชาวมุสลิม ซึ่งไม่นานหลังจากการพิชิตของชาวมุสลิม ชาวเมลไคต์ก็เริ่มละทิ้งภาษากรีกแทนภาษาอาหรับ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้พวกเขากลายเป็นชาวคริสต์ที่เป็นชาวอาหรับ (หรือคนพูดภาษาอาหรับ) มากที่สุดในดินแดนลิแวนต์ (Levant) หรือดินแดนปาเลสไตน์, เลบานอน และซีเรีย  

การที่ชาวอาหรับที่นับถือศาสนาคริสต์ในปาเลสไตน์มองว่าตนเองเป็นชาวอาหรับในเชิงชาตินิยม สะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่า ณ ต้นศตวรรษที่ 20 พวกเขามีธรรมเนียมปฏิบัติหลายอย่างเช่นเดียวกับเพื่อนบ้านที่เป็นมุสลิม อันเป็นผลมาจากการที่ชาวคริสต์รับเอาแนวทางปฏิบัติศาสนาอิสลามมาปฏิบัติด้วย 

นอกจากนี้ ชาวมุสลิมปาเลสไตน์จำนวนมากยังมองว่าศาสนสถานของชาวคริสต์ในท้องถิ่นเป็นสถานศักดิ์สิทธิ์ของนักบุญในศาสนาอิสลามด้วย สืบเนื่องจากบุคคลสำคัญในศาสนาคริสต์ก็ถือเป็นบุคคงสำคัญในศาสนาอิสลามด้วย เช่น พระเยเซู (อิสลามเรียกว่า อีซา) หรือพระแม่มารี (อิสลามเรียก มัรยัมหรือมาเรียม) ตัวอย่างเช่น สตรีมุสลิมที่มีปัญหาในการตั้งครรภ์อาจเดินทางไปเบธเลเฮมเพื่อสวดภาวนาเพื่อมีบุตรต่อหน้าพระแม่มารีย์ (หรือมัรยัม บินต์ อิมรอน) 

เมื่ออิสราเอลเข้ามาทุกอย่างก็พัง
ชาวคริสต์ในปาเลสไตน์อยู่ร่วมกับชาวมุสลิมอย่างกลมเกลียวมานับพันปี จนกระทั่งสิทธิในการปกครองดินแดนปาเลสไตน์ถูกโอนจากจักรวรรดิออตโตมัน (ชาวมุสลิม) ไปยังประเทศบริเตนใหญ่ (สหราชอาณาจักรในปัจจุบัน) ในช่วงเวลานั้น ชาวยิวในยุโรปเข้าหารัฐบาลบริเตนใหญ่เพื่อพยายามที่จะใช้ปาเลสไตน์เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชาวยิว ซึ่งความพยายามนี้สำเร็จหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ด้วยการสถานปนา "รัฐอิสราเอลของชาวยิว" ขึ้นมา หลังจากนั้นชาวอาหรับทั้งมุสลิมและคริสเตียนก็อยู่ไม่สุขอีกต่อไป 

หลังจากนั้นชาวอาหรับในปาเลสไตน์ต้องต่อสู้เพื่อแย่งชิงแผ่นดินกับชาวยิว ทำใหความขัดแย้งลุกลามไปถึงชาวคริสต์ไปด้วย ทำให้ชาวคริสต์ชาวปาเลสไตน์ส่วนใหญ่คิดจะออกจากดินแดนปาเลสไตน์เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างอาหรับกับอิสราเอล  มีรายงานการโจมตีชาวคริสต์ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาจากกลุ่มหัวรุนแรงมุสลิม แต่ผู้นำชาวคริสต์ในฉนวนกาซา คือ ศิษยาภิบาล คือ มานูเอล มูซาลลัม แสดงความสงสัยว่าการโจมตีเหล่านั้นไม่น่าจะมีแรงจูงใจทางศาสนา  

แต่ปัญหามาจากชาวยิวมากกว่า โดยบาทหลวง เปียร์บัตติสตา ปิซซาบัลลา ผู้ดูแลดินแดนศักดิ์สิทธิ์ โฆษกอาวุโสของชาวคาทอลิก กล่าวว่า ตำรวจอิสราเอลที่กระทำการนอกขอบเขตและวัฒนธรรมการศึกษาที่ส่งเสริมให้เด็กๆ ชาวยิวปฏิบัติต่อคริสเตียนด้วยความ "ดูถูก" ได้ทำให้ชีวิตชาวคริสต์ "ทนอยู่ไม่ไหว" 

นอกจากนี้ยังมีการกระทำรุนแรงจากชาวยิว เช่น กลุ่มหัวรุนแรงที่สนับสนุนผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิวในดินแดนของชาวอาหรับได้โจมตีอารามพระคาทอลิกในเมืองลาทรูนโดยจุดไฟเผาที่ประตูวัด และเขียนข้อความกราฟฟิตี้ที่ต่อต้านคริสเตียน  และยังเกิดเหตุวางเพลิงและก่อกวนหลายครั้งในปี 2555 โดยมุ่งเป้าไปที่สถานที่สักการะของชาวคริสต์ ซึ่งรวมถึงอารามไม้กางเขนแห่งกรุงเยรูซาเลมสมัยศตวรรษที่ 11 โดยมีการเขียนข้อความว่าว่า “ชาวคริสเตียนไปตายซะ” และภาพเขียนที่ไม่เหมาะสมอื่นๆ บนผนัง

ปัจจุบันกำลังจะสาบสูญ
ชาวคริสต์อาหรับกับมุสลิมอาหรับอยู่อย่างสมานฉันท์โดยไม่มีการกระทบกระทั่ง จนชาวยิวเข้ามา พร้อมด้วยการแทรกแซงของชาวคริสต์หัวรุนแรงจากภายนอก เช่น พวกคริสเตียนโปรแตสแตนท์ชาวอเมริกันที่สนับสนุนลิทธิไซออน (แนวคิดที่ส่งเสริมให้ชาวยิวไปอยู่ที่ปาเลสไตน์) คริสเตียนสุดโต่งในโลกตะวันตกเหล่านี้ มักส่งเสริมอิสราเอลและต่อต้านปาเลสไตน์ โดยไม่ตระหนักว่าในปาเลสไตน์ก็มีชาวคริสต์อยู่ด้วย 

ตัวอย่างเช่น เครือข่าย Christian Broadcasting Network (องค์กรโปรเตสแตนต์ในอเมริกา) อ้างว่าคริสเตียนชาวปาเลสไตน์ต้องทนทุกข์กับการเลือกปฏิบัติและการประหัตประหารอย่างเป็นระบบด้วยน้ำมือของประชากรมุสลิมส่วนใหญ่ และรัฐบาลปาเลสไตน์ที่มีเป้าหมายที่จะขับไล่ประชากรชาวคริสต์ออกจากบ้านเกิดของตน

อย่างไรก็ตาม ชาวคริสเตียนชาวปาเลสไตน์ในเบธเลเฮมและเมืองเบตจาลา โต้ว่า การที่พวกเขาต้องพลัดถิ่นมีเหตุมาจากการสูญเสียที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและการเวนคืนจากกองทัพอิสราเอล การประหัตประหารโดยอิสราเอลในปี 1948 และความรุนแรงจากการยึดครองของทหารอิสราเอล เรื่องเหล่ายนี้ทำให้ชาวคริสต์อาหรับต้องลี้ภัยและการอพยพครั้งใหญ่ 

ปัจจุบัน เพราะภัยสงครามและความขัดแย้ง ในปี 2015 ชาวคริสต์ชาวปาเลสไตน์ประกอบด้วยประมาณ 1–2.5% ของประชากรในเขตเวสต์แบงก์ และน้อยกว่า 1% ในฉนวนกาซา ต่างจากในยุคที่ปกครองโดยบริเตนใหญ่ที่มีการสำรวจพบว่ามีชาวคริสต์ในปาเลสไตน์ถึง 10.8% ของประชากรทั้งหมด 

ในปี 2022 เหลือชาวคริสต์ประมาณ 1,100 คนอาศัยอยู่ในฉนวนกาซา ลดลงจากกว่า 1,300 คนในปี 2014  ดังนั้นจึงเกิดความกังวลกันว่า อีกไม่นานชาวคริสต์คงจะสาบสูญไปจากดินแดนปาเลสไตน์ และจบสิ้นประวัติศาสตร์ของชุมชนชาวคริสต์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

ชาวคริสต์ปาเลสไตน์ที่จริงไม่ได้เหลือแค่นี้ แต่พวกเขาอพยพลี้ภัยไปอยู่ในต่างแดน เมื่อรวมประชากรทั้งหมดแล้วมีมากถึง  500,000 ในการสำรวจปี 2000 คิดเป็นประมาณ 6-7% ของประชากรปาเลสไตน์ทั้งหมดของโลก

ภาพประกอบข่าว ชาวคริสต์ชาวปาเลสไตน์โบกธงประจำชาติในระหว่างการเดินขบวนเพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับชาวกาซาในหมู่บ้านจิฟนา ทางตอนเหนือของรามัลเลาะห์ในเขตเวสต์แบงก์ที่ถูกอิสราเอลยึดครองเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2023 ท่ามกลางการสู้รบที่ดำเนินอยู่ระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส (Photo by Jaafar ASHTIYEH / AFP)

TAGS: #ปาเลสไตน์ #ฮามาส #อิสราเอล