สมบัติของชาติไทยไปอยู่ในแผ่นดินคนอื่น สำรวจของไทยที่พิพิธภัณฑ์ The Met  

สมบัติของชาติไทยไปอยู่ในแผ่นดินคนอื่น สำรวจของไทยที่พิพิธภัณฑ์ The Met  
สมบัติของชาติไทยในแผ่นดินคนอื่น ยังมีอีกเท่าไรในพิพิธภัณฑ์ The Met ที่นิวยอร์ก?

หลังจากที่มีข่าวว่า พิพิธภัณฑ์  The Metropolitan Museum of Art หรือ The Met ตัดสินใจส่งคืนโฐราณวัตถุให้กับไทยและกัมพูชา โดยในส่วนของไทยได้รับกลับคืนมา 2 ชิ้น และเป็นชิ้นสำคัญอย่างมากคือ รูปพระศิวะ สมัยศตวรรษที่ 11 หรือที่เรียกว่า  The Golden Boy

แต่ที่  The Met  ยังมีโบราณวัตถุของไทยอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจจะมีทั้งชิ้นที่ถูกลักลอบออกจากประเทศอย่างผิดกฎหมาย และอาจจะมีทั้งชิ้นที่นำออกมาโดยได้รับอนุญาตในฐานะศิลปะวัตถุที่ซื้อขายกันทั่วไป ดังนั้น เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้กับคนไทย เพื่อที่จะศึกษาโอกาสให้การทวงคืนสมบัติของชาติต่อไป เราจะขอนำเสนอศิลปะโบราณอันล้ำค่าของไทยที่เป็นชิ้นไฮไลท์ของ The Met  มา ณ ที่นี้ 

พระอวโลกิเตศวรทองคำ (ศตวรรษที่ 8–9)
The Met อธิบายว่า "พระอวโลกิเตศวรบุขึ้นรูปด้วยแผ่นทองคำที่หายาก โดยขึ้นรูปจากทองคำที่ประกอบเข้ารูปแล้วหลายชิ้น ทรงผมที่สูง (ชฏามกุฏ หมายถึงทรงผมยุ่งๆ ที่รวบเข้ามาเป็นมงกุฏ) และการห่มหนังกวางเหนือไหล่ซ้ายของรูปปั้นนั้นสอดคล้องกับภาพของพระอวโลกิเตศวรพระโพธิสัตว์ผู้มอบความกรุณาและการปกป้องแก่ผู้ศรัทธา รูปร่างผอมเพรียวและเสื้อผ้าเรียบๆ สอดคล้องกับรูปแบบศิลปะศรีเทพ"

พระโพธิสัตว์ปัทมะปาณีประทับในท่ามหาราชลีลา (ราวศตวรรษที่ 10)
The Met ชี้ว่า "ประติมากรรมในรูปแบบนี้มีพื้นฐานมาจากต้นแบบในยุคปาละจากอินเดียเป็นหลัก" และระบุว่ามาจากที่ราบสูงโคราหรือภาคอีสานของไทย วัสดุหล่อขึ้นจากสัมฤทธิ์ 

เศียรพระกฤษณะ (?) (ศตวรรษที่ 7) 
ชิ้นนี้อาจมาจากเมืองศรีเทพ ซึ่ง The Met ระบุชัดเจนว่ามาจากจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมบรรยายไว้ว่า "หมวกสูงทรงเหลี่ยมที่แปลกตาตั้งตระหง่านอยู่บนศีรษะของร่างนี้เป็นลักษณะเฉพาะของการผลิตงานประติมากรรมที่บริเวณศรีเทพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประติมากรรมรูปพระกฤษณะยกภูเขาโควรรธนะ แม้ว่าศีรษะนี้จะแสดงความสัมพันธ์กับรูปสลักศิลปะยุคก่อนนครวัด แต่ใบหน้า โดยเฉพาะดวงตา มีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับรูปแบบมอญ-ทวารวดีของไทยที่พัฒนาขึ้นมาในช่วงนั้น"

แผ่นทองคำดุนลายพระยืน (ศตวรรษที่ 8–9)
ชิ้นนี้มีความงดงามมาก The Met ระบุว่ามาจากประเทศไทย แต่ไม่ได้ระบุพื้นที่ชัดเจน เพียงแต่ระบุว่าเป็นศิลปะมอญ-ทวารวดี ซึ่งเป็นรูปแบบศิลปะที่พบเฉพาะในประเทศไทย บรรยายว่า "พระพุทธรูปองค์นี้ทรงชูพระหัตถ์ขวาในท่าทางสอนธรรมะ (วิตรรกะมุทรา) และประทับยืนอยู่ใต้ต้นไม้ซึ่งหมายถึงถึงพุทธคยาสถานที่ตรัสรู้ของพระองค์ บางครั้งแผ่นทองคำดังกล่าวก็ถูกฝังไว้เป็นรากฐานก่อนการก่อสร้างวัด"

พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ยืนสี่กร (ศตวรรษที่ 8– ช่วงต้นศตวรรษที่ 9)
The Met ตั้งชื่อชิ้นนี้ว่า "พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ยืนสี่กร พระโพธิสัตว์แห่งความกรุณาอันไม่สิ้นสุด" ระบุว่ามาจากไทย หล่อขึ้นจมสัมฤทธิ์และฝังหินที่สวยงาม แต่ไมได้ระบุข้อมูลมากไปกว่านี้ เช่น สถานที่พบ และลักษณะพิเศษอื่นๆ 

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (ช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 8)
ชิ้นนี้มีความงดงามมาก The Met  อธิบายไว้อย่างละเอียดว่า "พระอวโลกิเตศวรผู้ทรงช่วยสรรพสัตว์ให้หลุดพ้น ซึ่งระบุตัวตนได้จากพระอมิตาภพุทธเจ้าทรงประทับนั่งบนพระเศียร แสดงถึงความกรุณาอันไม่มีที่สิ้นสุดตามหลักพุทธศาสนา นี่คือแนวคิดเรื่องพระโพธิสัตว์ถือพรต โดยสังเกตการแต่งกายเรียบง่ายของพระองค์ มีอิทธิพลอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงศตวรรษที่ 7 และ 8 รูปหล่อทองแดงนี้มีปริมาณดีบุกสูงซึ่งจะทำให้มีลักษณะเป็นสีเงินเมื่อหล่อใหม่ ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามันเป็นผลงานจากการอุปถัมภ์ของชนชั้นสูง แต่ภูมิภาคที่ถูกค้นพบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยยังคงเป็นปริศนาทางประวัติศาสตร์ อาจเชื่อมโยงกับการเมืองที่เรียกว่าจนาศะซึ่งมีเมืองหลวงชื่อจนาศะปุระอยู่ที่ไหนสักแห่งในที่ราบสูงโคราชทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย แต่การเชื่อมโยงวัตถุนี้กับอาณาจักรนั้นถือเป็นการคาดเดาที่ดีที่สุด โดยพื้นฐานแล้ว อาณาจักรที่เป็นเจ้าของศิลปะคุณภาพสูงพิเศษและมีมูลค่าสูงนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด"

พระพุทธรูปยืน (ศตวรรษที่ 8–9)
The Met ระบุว่ามาจากจังหวักนครปฐม และบรรยายว่า "นวัตกรรมสำคัญในการสร้างรูปเคารพทางศาสนาได้รับการพัฒนาขึ้นในสมัยมอญ-ทวารวดี ตัวอย่างเช่น พระพุทธรูปหลายองค์แสดงท่าจีบพระหัตถ์ทั้งสองข้างเพื่อแสดงอาการหรือสอนพระธรรม (วิตรรกมุทรา) ซึ่งในอินเดียจะจำกัดไว้ที่เฉพาะการยกพระหัตถ์ขวา ประติมากรรมจากโบราณที่เกี่ยวข้องกันใน อ. ประโคนชัยก็มีการแสดงท่าทางสองมือนี้เช่นกัน แต่ไม่พบการแสดงท่านี้ในดินแดนอื่นที่นับถือพุทธศาสนา นวัตกรรมที่ยึดถืออีกประการหนึ่งคือการวางพระพุทธรูปยืนและมีบริวารขนาบข้าง เอาไว้บนหลังของครุฑ ซึ่งเป็นสัตว์ครึ่งปีกที่มักปรากฏเป็นพาหนะของพระวิษณุ"

TAGS: #สมบัติชาติ #The #Met #ศรีเทพ