ผู้เชี่ยวชาญแนะมาเลเซียรอช้าไม่ได้ ต้องประเมินผลกระทบจากโครงการ Landbridge ของไทย
สื่อของมาเลเซีย คือ Bernama และ Malay Mail ทำการสัมภาษณ์ รองศาสตราจารย์ ชาซิดา ยัน โมหัด ข่าน (Shazida Jan Mohd Khan) นักวิชาการแห่งสถาบัน Economic and Financial Policy Institute (ECOFI) ที่ School of Economics, Finance and Banking ของ Universiti Utara Malaysia (UUM) เกี่ยวกับโครงการ Landbridge ของไทย ซึ่งเป็นเส้นทางการขนส่งที่จะเชื่อมต่ออ่าวไทยและทะเลอันดามันเข้าด้วยกัน
รองศาสตราจารย์ ชาซิดา เน้นย้ำว่ามาเลเซียต้องมีการประเมินผลกระทบของโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศ และศึกษาได้ทันที เพราะ โครงสร้างพื้นฐาน Landbridge ของไทย จะแข่งขันกับภาคการขนส่งของมาเลเซีย
นักวิชาการของมาเลเซียรายนี้ชี้ว่า โครงการ Landbridge ของไทย จะเสนอทางเลือกที่เร็วกว่าและราคาถูกกว่าในแง่ของการขนส่ง เมื่อเทียบกับการเดินทางผ่านช่องแคบมะละกา
ทั้งนี้ ประเทศที่ได้รับประโยชน์โดตรงจากการเดินทางผ่านช่องแคบมะละกา คือสิงคโปร์และมาเลเซีย และอีกส่วนเล็กๆ ที่ได้รับประโยชน์คืออินโดนเซีย ส่วนประเทศอื่นๆ ต้องพึ่งพาเส้นทางนี้ แม้แต่ไทยก็ต้องอ้อมเรือข้ามช่องแคบมะละกาเพื่อจะเดินทางข้ามจากฝั่งอ่าวไทยไปยังฝั่งทะเลอันดามัน
“แม้ว่าโครงการนี้ยังอีกยาวไกลในแง่ของการดำเนินการ แต่้ราไม่สามารถรอให้เสร็จสิ้นได้" รองศาสตราจารย์ ชาซิดา กล่าวกับสำนักข่าว Bernama
รองศาสตราจารย์ ชาซิดา เสนอว่าวิธีการหนึ่งที่มาเลเซียสามารถทำได้เพื่อรับมือกับโครงการ Lanbridge ของไทย คือการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ในพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศ ได้แก่ ในรัฐเปอร์ลิส รัฐเกดาห์ และปีนัง ซึ่งเป็นพื้นที่ตอนเหนือของช่องแคบมะละกาและอยู่ใกล้กับไทย
รองศาสตราจารย์ ชาซิดา กล่าวว่าโครงการสนามบินนานาชาติกูลิม (Kulim International Airport หรือ KXP) ที่เสนอจะสร้างในรัฐเกดะห์ (ติดกับจังหวัดสตูลของไทย) จะสามารถเป็นตัวช่วยเสริมโครงการ Landbridge ของไทย ในขณะเดียวกันก็เป็นประโยชน์ต่อมาเลเซียด้วย
“เราจำเป็นต้องพิจารณาทั้งสองโครงการเหล่านี้ (Thailand Land Bridge และ KXP) ในเชิงบวก และประเมินผลในแง่ของจุดแข็งและข้อจำกัด" รองศาสตราจารย์ ชาซิดา กล่าว
ด้านขณะเดียวกัน รองศาสตราจารย์อับดุล ราฮิม อานาอูร์ (Prof Abdul Rahim Anuar) นักวิจัยจากสถาบันวิจัย UUM Research Institute for Indonesia, Thailand and Singapore (UUM-ITS) กล่าวว่ามาเลเซียต้องมีส่วนร่วมโดยตรงในการก่อสร้าง Landbridge หากมาเลเซียต้องการได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าว
“มาเลเซียอาจไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการสะพาน Landbridge หลังจากสร้างเสร็จ เนื่องจากตั้งอยู่ค่อนข้างไกลจากมาเลเซีย ดังนั้นเราจึงควรมีส่วนร่วมในการก่อสร้างเพื่อรับประโยชน์จากมัน” รองศาสตราจารย์อับดุล กล่าว
วิธีการที่มาเลเซียจะมีส่วนร่วมนั้น รองศาสตราจารย์อับดุลเสนอว่า ให้บริษัทในมาเเลซียทำการจัดหาการลงทุนหรือความเชี่ยวชาญโดยท้องถิ่นให้กับบริษัทไทยที่เกี่ยวข้องกับโครงการ
ด้าน ฮาอิม ฮิลมาน อับดุลลฮ์ (Haim Hilman Abdullah) ประธานคณะกรรมการอุตสาหกรรมและการลงทุน การศึกษาระดับอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของรัฐรัฐเกดะห์ กล่าวว่ารัฐบาลของรัฐต่างๆ ของมาเลเซียและรัฐบาลกลางจำเป็นต้องใช้ความคิดริเริ่มในการตรวจสอบโครงการ Landbridge ของไทย
“โครงการนี้ถือเป็นความท้าทายสำหรับเรา มันมีผลกระทบอย่างมากจากมุมมองทางภูมิศาสตร์การเมือง และรัฐบาลของรัฐและรัฐบาลกลางจำเป็นต้องตรวจสอบเรื่องนี้” เขากล่าวที่สภานิติบัญญัติแห่งรัฐเกดะห์เมื่อเร็ว ๆ นี้