ประเทศไทยโปรดระวังให้ดี Land bridge  อาจจะกลายเเป็นหยื่อของเกมชิงอำนาจ

ประเทศไทยโปรดระวังให้ดี Land bridge  อาจจะกลายเเป็นหยื่อของเกมชิงอำนาจ

มันเหมือนมีอาถรรพ์ครับ 

ไม่ว่าจะเป็นโครงการอะไรก็ตามเกี่ยวกับคอคอดกระ มันจะมีเหตุให้ทำสำเร็จได้ยาก แล้วก็มีอันเป็นไปให้ทำไม่สำเร็จทุกที 

ความพยายามเชื่อมต่อสองฝั่งปักษ์ใต้ของไทยมีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่มันก็เป็นแค่แผนจนถึงทุกวันนี้

มาถึงยุคล่าอาณานิคม ในระหว่างปี 1882 - 1885 ฝรั่งเศสเคยคิดจะขอประเทศสยามขุดคลองเชื่อมสองฝั่งปักษ์ใต้ แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะบริเตน (อังกฤษ) ขวาง เพราะกลัวว่าฝรั่งเศสแผ่อิทธิพลมาถึงคาบสมุทรมลายู อันเป็นเขตปกครองของบริเตน

และกลัวว่าปีนังกับสิงคโปร์จะเสียสถานะท่าเรือสำคัญของโลก ทั้งสองที่นี้เคยเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของบริเตน

บริเตนนั้นกังวลมากๆ จนครั้งหนึ่งตกลงกับรัฐบาลสยามว่า ตั้งแต่บางสะพาน (จังหวัดประจวบคีรีขันธ์) ลงมาจนถึงสุดชายแดนปักษ์ใต้ ห้ามประเทศสยามตั้งกองทัพของตนเป็นอันขาด 

เหตุผลก็เพื่อกำหนดปริมณฑลป้องกันผลประโยชน์ของบริเตนในคาบสมุทรมลายู  

สยามต้องทำตามก็เพื่อใช้อำนาจของบริเตนคอยถ่วงดุลกับฝรั่งเศส ซึ่งทำแบบเดียวกับบริเตนเหมือนกัน คือไม่ให้รัฐบาลสยามส่งทหารหรือตำรวจมาประจำการในรัศมี 25 กิโลเมตรจากริมฝั่งแม่น้ำโขง

หมายความว่าภาคอีสานและภาคเหนือบางส่วนของไทยอยู่ใต้อิทธิพลอำนาจของฝรั่งเศส 

กว่าไทยจะพ้นจากการบีบคั้นของพวกชาติมหาอำนาจ ก็ปาเข้าไปหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 อันเป็นช่วงเวลาที่พวกฝรั่งบอบช้ำพอสมควรแล้วเพราะรบรากันเอง และไทยยังสามารถแก้ไขสนธิสัญญาไม่ป็นธรรมต่างๆ ได้สำเร็จ เพราะส่งทหารไปช่วยรบในมหาสงครามที่ยุโรป

แต่มันยังไม่จบง่ายๆ  เพราะหลังจากนั้นมีมหาอำนาจใหม่เกิดขึ้นมา คือญี่ปุ่น 

คราวนี้ ฝรั่งชาติต่างๆ เริ่มกังวลว่าญี่ปุ่นอาจจะเข้ามาเป็น "ตาอยู่" ในแผนการขุดคลองลัดคอคอดกระ 

ในหนังสือ Return to Malaya (ปี 1936) ของบรูซ ล็อคฮาร์ท (Bruce Lockhart) เล่าเอาไว้ว่า นักเดินทางชาวบริติชคนหนึ่งเดินทางไปเกาะชวา แล้วไปสัมภาษณ์ข้าหลวงใหญ่ของอาณานิคมอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ (ปัจจุบันคือประเทศอินโดนีเซีย) ชื่อ ยองเคอร์ เดอร์ ยองเงอ (Jonkheer der Jonge)

ยองเงอ บอกกับเขาพลางชี้นิ้วไปที่แผ่นที่ตรงคอคอดกระของประเทศสยามว่า "นี่คือจุดที่วันหนึ่ง สยามจะยกแผ่นดินให้กับญี่ปุ่นขุดคลอง หรือขุดเองโดยใช้เงินญี่ปุ่น จากนั้นก็บอกลาสิงคโปร์ได้เลย" 

แต่หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 คลองไทยก็ถูกพับไปอีก เพราะญี่ปุ่นรุกรานสยามและเพื่อนบ้าน จากนั้นญี่ปุ่นก็แพ้สงคราม ทำให้คำพูดของข้าหลวงดัตช์คนนั้นไม่เกิดขึ้นจริง

แต่ถ้าญี่ปุ่นชนะสงครามล่ะก็ไม่แน่ 

หลังจากนั้นมหาอำนาจที่เข้ามาแทนที่คือสหรัฐฯ ซึ่งไม่สนใจคลองไทย แต่สนใจแค่ว่าจะต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างไรเท่านั้น ทำให้โฟกัสอยู่ที่สงครามในภูมิภาค ไม่ใช่การพัฒนาการค้า

ผลก็คือสิงคโปร์ยังคง "รักษาหัวเอาไว้ได้" เพราะถ้าพวกอเมริกันคิดแบบฝรั่งเศสอังกฤษ ญี่ปุ่น หรือดัตช์ ป่านนี้ สิงคโปร์เป็นได้แค่เมืองท่าง่อยๆ แห่งหนึ่ง

แต่แผนคลองไทยไม่เคยหายไปจากโลก และบางครั้งมันกลายสภาพจากคลอง มาเป็น "สะพานเชื่อมแผ่นดิน" 

ผมเขียนเรื่องในอดีตยาวขนาดนี้ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า จุดยุทธศาสตร์สำคัญๆ ของไทยนั้น มักถูกพวกชาติมหาอำนาจเข้ามาแทรกแซงมาตั้งแต่ยุคก่อนยุคเก่า

พอสิ้นสุดยุคอาณานิคมแล้ว พวกฝรั่งถอนตัวออกไป ประเทศไทยเริ่มที่จะตัดสินใจเรื่องยุทธศาสตร์เองได้โดยไม่ต้อง "ปรึกษา" พวกมหาอำนาจ

แต่พอจะทำอะไรเกี่ยวกับคอคอดกระ ก็มักจะเหลวไปทุกครั้ง พร้อมด้วยเสียงร่ำลือว่า "เพื่อนบ้านใช้เงินซื้อตัวนักการเมือง" เพื่อสกัดไม่ให้แผนนี้สำเร็จ นัยว่าถ้ามันสำเร็จ เพื่อนบ้านจะเสียผลประโยชน์มหาศาล

เสียงร่ำลือนี้มีมาตั้งแต่เป็นแผนขุด Thai canal 

ล่าสุดไม่ใช่คลองแล้ว แต่เป็นโครงการ Land bridge ก็ยังมีข่าวลือทำนองนี้อีก 

มันหมายความว่า ถ้าประเทศไทยทำอะไรเกี่ยวกับแถวๆ คอคอดกระหรือจะเชื่อมต่อปักษ์ใต้ มันจะมี "มือที่สาม" มายุ่มย่ามทุกครั้งไป 

แต่ผมจะชี้ให้เห็นว่า "มือที่สาม" ไม่ใช่แค่บางประเทศที่ถูกกล่าวหาว่าใช้เงินเพื่อล้มโครงการนี้ 

แต่มันยังมีมหาอำนาจบางประเทศที่พยายามสร้างภาพลักษณ์ให้กับโครงการนี้ว่า "จะเอื้อประโยชน์ต่อศัตรูของตน" 

นั่นหมายความว่าแทนที่ไทยจะกอบโกยผลทางเศรษฐกิจจาก Land bridge มันอาจจะทำให้ไทยกลายเป็น "Hot spot" ของยุทธศาสตร์การชิงดีชิงเด่นของพวกมหาอำนาจ

Hot spot ที่ว่านี้ไม่ใช่สัญญาณเน็ต แต่หมายความว่าไทยจะกลายเป็น "ดินแดนที่ร้อนรุ่ม" เพราะตกเป็นสมรภูมิรบของพวก "นักเลงการเมืองโลก"

มันช่าง Déjà vu เหมือนเมื่อตอนยุคล่าอาณานิคมเปี๊ยบ

ขณะที่รัฐบาลพยายามจะดันโครงการนี้ เดินสายหานักลงทุน และประโคมความดีงามของมัน ผมอยากจะให้ระวังเรื่องแง่มุมด้านภูมิรัฐศาสตร์เอาไว้ด้วย  

ย้ำว่าผมไม่ค้าน (แต่จะคิดอย่างไรกับมันนั้นอีกเรื่อง) แต่โปรดระวังจะซ้ำรอยเหมือนตอนประเทศสยามโดน "ชี้นำ" โดยฝรั่งเศสกับอังกฤษ

อะไรดลใจให้ผมคิดแบบนี้? 

ผมลองดูคอนเทนต์ (ส่วนใหญ่เป็นคลิปวิดิโอ) ที่นำเสนอข่าวหรือบทวิเคราะห์เกี่ยวกับ Land bridge ของไทยในแพลตฟอร์มต่างๆ แล้วจับสังเกตอะไรบางอย่างได้

ที่น่าสังเกตคือการอธิบายโครงการนี้มักถูกโยงว่าจะเป็นการเอื้อให้กับยุทธศาสตร์ทางทะเลของจีน

นั่นคือมีความพยายามนำเสนอว่า Land bridge เกิดมาเพื่อสนองเส้นทางเดินเรือของจีนในการเชื่อมโยงทะเลจีนใต้กับมหาสมุทรอินเดีย แล้ว "ร้อย" ฐานที่มั่นทางทหารและการค้าของจีนเข้าด้วยกัน

ส่วนช่องแคบมะละกาถูกมองว่าจะเป็นช่องทางที่ควบคุมโดยสหรัฐฯ และพันธมิตร หากวันใดวันหนึ่งเส้นทางนี้มีพวกอเมริกันชุกชุมเกินไป จีนจะหันมาใช้  Land bridge ของไทย

นี่คือวิธีคิดที่มองว่า Land bridge คืออุปกรณ์ทางการเมือง ไม่ได้มองว่ามันจะสร้างความมั่งคั่งให้ไทย 

เจ้าของแผ่นดิน คือประเทศไทยเสียอีกที่ถูกคอนเทนต์พวกนี้ปั่นว่าเป็น "เครื่องมือให้จีน" แย่งชิงอำนาจกับสหรัฐฯ

การปั่นวิธีคิดแบบนี้อาจจะทำให้นักลงทุนประเทศอื่นไม่กล้ามาลงทุน เพราะกลัวว่ามันจะกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการเมือง แทนที่จะเป็นเส้นทางค้าขาย 

ทั้งๆ ที่มันมีโอกาสล้านแปดประการที่จะเป็นเส้นทางทำมาหากินของชาวโลก แต่ Land bridge ถูกปั่นว่าจะเป็นจุดยุทธศาสตร์การแย่งชิงอำนาจไปซะอย่างงั้น

จะเรียกว่าเป็นอาถรรพ์ก็ได้ แต่คงเป็นวิบากกรรรมมากกว่า จากผลกรรมของชาวโลกที่ต้องมาอยู่ในยุคที่มหาอำนาจประเทศหนึ่งไม่ยอมให้ประเทศอื่นเป็นมหาอำนาจด้วย

ประเทศที่เป็นคู่กรณีกับจีนมักจะสรรหา "วาทกรรม" ต่างๆ นานา เพื่อให้ชาวโลกเห็นว่าจีนมีลับลมคมใน

เช่นสร้างวาทกรรมเรื่อง "กับดักหนี้" (Debt trap) เพื่อปั่นหัวชาวโลกว่าจีนปล่อยกู้เพื่อที่จะฮุบประเทศอื่นทีหลัง วาทกรรมนี้สร้างโดยคนอินเดียแล้วปั่นโดยอเมริกัน

ปรากฏว่าต้นฉบับเรื่องกับดักหนี้ตัวจริง ซึ่งทำจริงๆ ยิ่งกว่าจีน คือพวกอเมริกันและองค์กรในเครือนั่นแหละ ซึ่งปล่อยเงินกู้ให้ประเทศยากจน พอใช้หนี้ไม่ทัน ก็จะหาทางบีบให้ประเทศพวกนี้ทำตามนโยบายตน เช่น เปิดตลาดเสรีแบบไม่มีลิมิต หรือบีบให้ปล่อยสัมปทานทรัพยากรอันมีค่าให้ชาติตะวันตก เพื่อที่จะสบช่องฮุบประเทศแบบเนียนๆ 

วาทกรรมอีกเรื่องคือ String of Pearls ที่พยายามจะบอกว่าจีนพยายามจะ "ร้อย" ท่าเรือต่างๆ ที่ตนเองไปขอสัมปทานตั้งในประเทศต่างๆ เข้าด้วยกัน

ท่าเรือเหล่านั้นมีทั้งในเอเชียและแอฟริกา อุปมาเหมือนกับ "ไข่มุก" (Pearls) ส่วนเส้นทางเดินเรือที่กำหนดขึ้นมาเพื่อเลี่ยงเส้นทางเดิม (เช่นช่องแคบมะละกา) เปรียบเสทอืนกับ  "สายสร้อย" (String)

เรื่องนี้เป็นแค่สมมติฐาน (Hypothesis)  เท่านั้น แต่มันพยายามทำให้คนเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง (Fact)

เช่นเดียวกับเรื่องกับดักหนี้ ในขณะที่เรื่อง "สร้อยไข่มุก" ถูกยัดเยียดให้เป็นยุทธศาสตร์ครองโลกของจีน คนก็มักจะลืมไปว่า คนที่ปั่นวาทกรรมเรื่องนี้ คือสหรัฐฯ และชาติตะวันตก มักจะหาช่องไปตั้งฐานทัพในประเทศต่างๆ ทั่วโลก บางครั้งยังรุกรานประเทศอื่นโดยไม่สนกฎหมายระหว่างประเทศ

ตอนนี้ Land bridge ของไทยถูกลากเข้าไปโยงกับการปั่นกระแส String of Pearls เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

อันที่จริงตั้งแต่ก่อนจะประโคมเรื่อง Land bridge แล้วที่ปักษ์ใต้ถูกมองว่าอาจจะเป็นจุดร้อนทางการเมืองโลกถ้าวันดีคืนดีไทยผลักดันเรื่อง Thai canal ขึ้นมา

ตัวอย่างเช่น บทความหนึ่งใน Foreign Policy เรื่อง "แนวหน้าต่อไปในความขัดแย้งอินเดีย-จีนอาจเป็นคลองไทย" ถึงกับบอกว่าเสียงสนับสนุนในไทยให้ขุดคลองไทย เป็นผลมาจาก "การดำเนินการในเชิงแผ่อิทธิพลของจีนในประเทศไทยอาจเป็นตัวช่วยกำหนดความคิดเห็นของประชาชน" 

เขียนแบบนี้เหมือนกับดูเบาว่าคนไทยเราสนับสนุนโครงการของชาติเพราะคิดเองไม่เป็น แต่เพราะ "ถูกจีนเป่าหู" 

โปรดทราบไว้เป็นความรู้ว่า Foreign Policy เป็นนิตยสารเกี่ยวกับกิจการระหว่างประเทศที่เป็นของคนอเมริกันและปัจจุบันมีคนอินเดียเป็นบรรณาธิการ 

นี่แหละครับ มันกลายเป็นเกมการเมืองระหว่างประเทศไปแล้ว 

แต่ฟังแล้วคุ้นๆ ไหมครับ เรื่องปั่นข่าวที่จีนจะเข้ามาขุดคลองไทย หรือจีนจะใช้เงินทุ่มลงทุนโครงการ Land bridge โดยมีนัยซ่อนเร้นทางการเมือง 

มันฟังแล้วเหมือนเมื่อทศวรรษที่ 1930 ก่อนจะเกิดสงครามโลกไม่นาน ตอนนั้นพวกฝรั่งเชื่อว่าญี่ปุ่นจะเอาแผ่นดินไทยทำคลอง หรือไทยจะใช้เงินญี่ปุ่นสร้างคลอง 

ตอนนี้ก็เหมือนกัน แค่เปลี่ยนจากญี่ปุ่นมาเป็นจีน

ในขณะที่คนไทยเชียร์โครงการนี้ด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องว่า "มันจะนำเงินเข้าประเทศลูกเดียว"

โปรดระวังไว้ด้วยว่า ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ แบบนั้นหรอกครับ 


บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better

TAGS: #Landbridge