'อี่ทงเทียนไท้'แดนมหัศจรรย์ จุดรับพลังแห่งฟ้า รับโชคลาภพญามังกร โพธิสัตว์คุ้มครอง

'อี่ทงเทียนไท้'แดนมหัศจรรย์ จุดรับพลังแห่งฟ้า รับโชคลาภพญามังกร โพธิสัตว์คุ้มครอง

สิ่งที่น่ารู้เกี่ยวกับ 'อี่ทงเทียนไท้'

  • 'อี่ทงเทียนไท้' หรือ 'วิหารกวนอิม อี่ทงเทียนไท้ ' เป็นวิหารสถาปัตยกรรมจีนอันงามสง่า ตั้งอยู่สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์กบินทร์บุรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี 
  • ภายในวิหารประดิษฐานองค์พระโพธิสัตว์กวนอิม โดยช่างชาวจีนได้แกะสลักขึ้นจากหยกขาวชิ้นเดียวที่ได้มาจากเหมืองในป่าลึกของเมืองนับปีตรู ประเทศพม่า 
  • เฉพาะองค์พระโพธิสัตว์กวนอิมมีความสูง 2.62 เมตร หนัก 2.8 ตัน  เมื่อรวมฐานดอกบัว ฐานมังกร และฐานแปดเหลี่ยมแล้ว จะมีความสูงรวมถึง 5 เมตร และหนักมากถึง 14.43 ตัน 

'อี่ทงเทียนไท้' แปลว่าอะไร
'อี่ทงเทียนไท้' (圓通天臺) เป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว ในภาษาจีนกลางจะออกเสียงว่า 'หยวนทงเทียนไถ' เป็นคำที่มีความพิเศษอย่างมาก หากได้ทราบความหมายแล้วจะยิ่งตระหนักว่าสถานที่แห่งนี้เป็นมงคลเพียงใด

คำว่า 'อี่ทง' หรือ 'หยวนทง'  (圓通) มีความหมายสองแบบ 

ถ้าหมายถึงคนทั่วไป หมายถึงคนที่ละมุนละไม นุ่มนวล อยู่ใกล้ๆ แล้วสบายใจ ไม่ใช่คนแข็งกระด้าง หรือดื้อดึง 

พูดง่ายๆ ก็คือเป็นคนกลมๆ ที่เข้ากับคนได้ทั่วไป เพราะ อี่หรือหยวน แปลว่า วงกลม ส่วนคำว่า ทง แปลว่า เข้าถึงได้

แต่ถ้าในทางพุทธศาสนา มีความหมายถึง 'ภูมิธรรม' หรือระดับการบรรลุธรรมของพระพุทธองค์และพระโพธิสัตว์ที่แทงตลอด พ้นจากอุปสรรคและอวิชชาหรือความไม่รู้แจ้งทั้งปวง สามารถเขาถึงความบริสุทธิ์เดิมแท้ได้ 

ความหมายหลังดูจะเข้าถึงความเป็นวิหารที่ประดิษฐานพระโพธิสัตว์กวนอิมได้เป็นอย่างดี 

แต่ไม่ว่าจะเป็นความหมายทางโลกหรือทางธรรม ก็ล้วนแต่เป็นความหมายที่ดีงาม ผู้ที่มาเยือนย่อมได้รับพลังด้านบวกอย่างแน่นอน 

ศูนย์กลางรับพลังจากฟ้า
อีกสองคำที่ประกอบกันเป็นคำว่า 'อี่ทงเทียนไท้' คือคำว่า 'เทียนไท้' (天臺) คำๆ นี้มีความหมายที่หลากหลายกว่าสองคำแรกเสียอีก 

คำว่า เทียน (天) แปลว่าฟ้าหรือสวรรค์ บางครั้งหมายถึงพระเจ้า คำว่าไท้หรือไถ (臺) หมายถึง หอคอย หรือฐานยกระดับให้สูง

ดังนั้นมันจึงแปลว่า "ฐานรองรับสวรรค์" หรือหอคอยแห่งสวรรค์

แต่คำว่า 'เทียนไท้' ยังมีความเฉพาะกว่านั้นอีก  เช่น หมายถึงเมืองลับแลหรือดินแดนมหัศจรรย์  

คำๆ นี้คล้องจองกับรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของวิหาร ซึ่งเป็นวิหารทรงกลมหลังคาซ้อน ตั้งบนฐานไพที (ฐานยกระดับ) สามชั้น มีราวระเบียงล้อมรอบ ตรงกับความหมายของคำว่า 'ไถ' ในภาษาจีนอย่างยิ่ง

ยิ่งกว่านั้นรูปแบบวิหารยังถอดแบบมาจาก 'หอบวงสรวงฟ้าดิน' หรือ 'เทียนถาน' ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นสถานที่ที่จักรพรรดิแต่โบราณทรงทำพิธีกราบไหว้ฟ้าหรือสวรรค์ เพื่อให้บ้านเมืองอยู่เป็นสุข

ด้วยความหมายและรูปลักษณ์ของวิหาร จึงครบถ้วนไปด้วยแง่มุมที่เป็นมงคลอย่างยิ่ง

ถอดรหัสวิหารที่งามสง่า
ตัววิหารของ 'อี่ทงเทียนไท้' ที่ประดิษฐานพระพระโพธิสัตว์กวนอิม สร้างเลียนแบบวิหารหลักของ 'หอบวงสรวงฟ้าดิน' หรือ 'เทียนถาน' (天壇) วิหารหลักดังกล่าวมีชื่อว่า พระที่นั่งฉีเหนียนเตี้ยน (祈年殿) เป็นสถานที่กราบไว้สวรรค์เพื่อขอพรให้การเก็บเกี่ยวอุดมสมบูรณ์ ให้บ้านเมืองสงบสุข มั่งคั่งรุ่งเรือง 

พระที่นั่งฉีเหนียนเตี้ยนเป็นรูปทรงกลม เพื่อจะสะท้อนลักษณ์ของฟ้าหรือสวรรค์ตามความคิดของคนจีนที่ชื่อว่ามีรูปลักษณ์ทรงกลม ส่วนหลังคาซ้อนกันสามชั้น สะท้อนความเชื่อว่าสวรรค์หรือฟ้ามีอยู่สามชั้น 

สิ่งที่แตกต่างระหว่างพระที่นั่งฉีเหนียนเตี้ยนที่กรุงปักกิ่งกับอี่ทงเทียนไท้ที่กบินทร์บุรี คือขนาดที่ต่างกัน และสีของกระเบื้องมุงหลังคาที่ต่างกัน 

สีกระเบื้องมุงหลังคาพระที่นั่งฉีเหนียนเตี้ยนเป็นสีน้ำเงินเพื่อสะท้อนสีของท้องฟ้า ส่วนกระเบื้องมุงหลังคาของวิหารอี่ทงเทียนไท้เป็นสีเขียว ซึ่งเป็นสีของธาตุไม้ เป็นธาตุประจำทิศตะวันออก ซึ่งเป็นทิศที่ตั้งของอำเภอกบินทร์บุรี (ภาคตะวันออก) และเป็นธาตุประจำฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเป็นฤดูแห่งการเริ่มต้นและการเจริญเติบโต 

ตามหลักฐานันดรชนชั้นโบราณของจีน กระเบื้องสีเขียวยังใช้เฉพาะมุงหลังคาวังของเจ้าฟ้าหรือพระองค์เจ้า มุงหลงคาหอคอยและประตูเมือง และมุงหลังคาวัดและศาลเจ้า ถือเป็นสีหลังคาที่มีศักดิ์สูงที่สุดอันดับที่ 2 

อันดับที่ 1 คือหลังคากระเบื้องสีเหลือง เอาไว้มุงหลังคาพระราชวังจักรพรรดิและวัดหลวงและศาลเจ้าหลวง

อันดับที่ 2 คือหลังคากระเบื้องสีเขียว

อันดับที่ 3 คือหลังคากระเบื้องสีน้ำเงิน ไว้สำหรับมุงหลังคาศาลบวงสรวงฟ้าดิน เช่น ที่เทียนถานในกรุงปักกิ่ง 

อันดับที่ 4 คือหลังคากระเบื้องสีเทา ไว้มุงหลังคาบ้านข้าราชการระดับล่างและบ้านสามัญชนทั่วไป หรือสถานที่พิเศษอื่นๆ 

นี่คือการถอดรหัสที่สะท้อนอยู่ในวิหารอี่ทงเทียนไท้

ทำไมต้องไหว้พระโพธิสัตว์กวนอิม?
ภานในวิหารอี่ทงเทียนไท้ ประดิษฐานพระโพธิสัตว์กวนอิม สร้างจากหยกขาวจากประเทศเมียนมา มีขนาดสูงใหญ่ แต่ดูอ่อนโยนงดงาม ชวนให้กราบไหว้บูชาอย่างยิ่ง 

พระโพธิสัตว์กวนอิม ก็คือ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ 

คำว่า กวน (觀) คือการแปลมาจากพระนามภาษาสันสกฤตว่า โลกิตะ แปลว่า "มอง"  คำว่า อิม (音) มาจากการตีความหมายว่าทรงมองหาเสียงร้องเพราะความทุกข์ของสรรพสัตว์ เพื่อที่จะคอยช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก 

พระโพธิสัตว์กวนอิมทรงมีฉายาว่า กรุณาหรือมหากรุณา (大悲) เพราะทรงมีความสงสารสรรพสัตว์อย่างยิ่ง จึงช่วยเหลือทุกคนที่ร้องขอความช่วยเหลือ

นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมเราต้องกราบไหว้พระโพธิสัตว์กวนอิม เพราะพระองค์จะได้ยินเสียงร้องขอ แล้วความทุกข์ของเราจะถูกขจัดไป เพราะทรงเปี่ยมด้วยมหากรุณา

ดังนั้นในพิธีไคตั้ว ซึ่งเป็นพิธีจีนเพื่อเปิดมณฑลพิธีเพื่ออัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาประทับ ณ มณฑลพิธีของอี่ทงเทียนไท้ จึงมีการประกอบพิธีที่เรียกว่า 'ไต่ปุยป๋อฉ่ำ' (大悲寶懺)

ไต่ปุยหรือต้าเปย (大悲) แปลว่ามหากรุณา คำว่า ป๋อฉ่ำหรือเป่าช่าน (寶懺) หมายถึงพิธีขมากรรม

เป็นพิธีขอขมากรรมที่เราได้กระทำลงไป โดยการสำนึกความผิด เช่น ผิดศีลหรือความผิดต่อสรรพสัตว์ต่างๆ โดยบอกกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่จะไม่ทำผิดพลาดอีกต่อไป โดยอาศัยบารมีพระโพธิสัตว์กวนอิมคอยคุ้มครอง 

แม้ว่าคนเราจะผิดพลาดอะไรมาในชีวิต แต่เมื่อยู่เบื้องหน้าโพธิสัตว์กวนอิมแล้ว พวกเราล้วนได้รับพระมหากรุณาอย่างไม่มีเงื่อนไขเสมอ

ขอพรพญามังกรแห่งทะเลใต้
พระโพธิสัตว์กวนอิมที่ประดิษฐานในวิหารอี่ทงเทียนไท้ เป็นปางที่เรียกว่า 'กวนอิมทะเลใต้' (南海觀音) หรือ 'กวนอิมหัวมังกร' (龍頭觀音) ลักษณะเด่น คือ พระโพธิสัตว์กวนอิมจะกระทับบนมังกรดั้นเมฆ อยู่เหนือกระแสคลื่นแห่งทะเลใต้

ตำนานกล่าวว่า กวนอิมทรงเห็นว่าผู้คนที่อาศัยในทะเลใต้ถูกเทพเจ้าแห่งโรคระบาดเล่นงาน จึงคิดที่จะช่วยเหลือและสอนให้นับถือพุทธศาสนาไปพร้อมๆ กัน เมื่อ 'ซวนหนี' โอรสองค์ที่ห้าของพญามังกรทราบเข้า จึงถวายตัวเป็นพาหนะให้พระโพธิสัตว์กวนอิมเสด็จไปช้วยผู้คนที่ทะเลใต้

หลังจากนั้นแล้ว ชีวิตของผู้คนในทะเลใต้ก็พ้นทุกข์ อยู่กันอย่างผาสุก จึงมีการสร้าง 'กวนอิมทะเลใต้'  เพื่อกราบไหว้บูชาและระลึกถึงพระคุณ และขอบารมีพระโพธิสัตว์และพญามังกร ช่วยป้องกันจากภยันตรายต่าง
ๆ และขอโชควาสนา

บางทีดินแดนแห่งนั้นอาจอยู่ใกล้ๆ ประเทศไทยก็เป็นได้ เพราะสมัยโบราณคนจีนมักเรียกดินแดนที่ตั้งของไทยและประเทศเพื่อนบ้านว่าทะเลใต้หรือหนานไห่หรือ บางครั้งเรียกว่างมหาสมุทรใต้หรือหนานหยาง 

เผอิญว่าคนไทยก็มีความเชื่อและเคารพบูชาพญานาคอยู่เป็นทุนเดิม ยิ่งเข้ากับกวนอิมปางนี้ เพราะพญามังกรของจีนก็คือพญานาคของไทยและของพุทธศาสนานั่นเอง

ตามคติจีนเชื่อกันว่าการบูชาพญามังกรของกวนอิมปางนี้ จะช่วยบันดาลให้เกิดความโชคดี สมกับคำกลอนจีนว่า "กวนอิมทรงประทับมังกรปกป้องและอำนวยพร มังกรสวรรค์พิทักษ์ธรรม โชควาสนาสมปรารถนา" 

เพชรเม็ดใหม่ในกบินทร์บุรี
เมื่อพูดถึงอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี หลายคนคงนึกถึงแหล่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศ เต็มไปด้วยโรงงานและคนงงานมากมาย ดังนั้น คนส่วนใหญ่คงนึกไม่ออกว่าเมื่อมากบินทร์บุรีแล้วจะไปเที่ยวที่ไหนดี?

แต่วันนี้กบินทร์บุรีมีจุดหมายปลายทางแห่งใหม่แล้ว นั่นคือ 'อี่ทงเทียนไท้' 
 

TAGS: #อี่ทงเทียนไท้