แม้แต่พวกเดียวกันก็หันมาไล่ อนาคตของ'มิน อ่อง หล่าย'ใกล้จะจบลงหรือไม่?

แม้แต่พวกเดียวกันก็หันมาไล่ อนาคตของ'มิน อ่อง หล่าย'ใกล้จะจบลงหรือไม่?

สรุปสถานการณ์และบทวิเคราะห์ความเป็นไปของ มิน อ่อง หล่าย (หรือ พลเอกอาวุโส มี่นอองไลง์ ) นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของเมียนมา ผู้ก่อรัฐประหารใน พ.ศ. 2564 หลังจากที่กองกำลังชนกลุ่มน่อยและกองกำลังรัฐบาลเอกภาพกำลังได้เปรียบในการรบสมรภูมิต่างๆ ในขณะที่กองทัพเมียนมาพ่ายแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่า และเสียเมืองสำคัญแห่งแล้วแห่งเล่า ทำให้สถานการณ์ของรัฐบาลเผด็จการทหารและกองทัพสั่นคลอนอย่างหนัก ถึงกับมีเสียงเรียกร้องให้ มิน อ่อง หล่าย สละอำนาจ 

นี่คือสรุปสถานการณ์ดังกล่าว

  1. เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2567 สื่ออิสระของเมียนมา คือ The Irrawaddy รายงานว่า ผู้สนับสนุน หมิน อ่อง หล่าย บางคนเริ่มที่จะหันมาเรียกร้องให้เขาลงจากตำแหน่งแล้ว เช่น 'โก มอง มอง' (Ko Maung Maung) ซึ่งเป็นอินหลูเอนเซอร์บอกในช่องยูทูบของเขาว่า “อู มิน อ่อง หล่าย ไม่สามารถแสดงความสามารถใดๆ ได้เลยในช่วงสามปีที่ผ่านมา ทำให้ประเทศ [ตกต่ำ] เข้าสู่ความอับอายและภาวะถดถอยทางประวัติศาสตร์ เขาไม่มีความสามารถในทุกภาคส่วนทั้งการเมืองและเศรษฐศาสตร์ … เขาควรลาออกจากตำแหน่ง [เพื่อแสดง] ความรับผิดชอบ”  
  2. อีกคนคือ 'จอ เมียว มิน' (Kyaw Myo Min) ซึ่งเป็นสื่อที่สนับสนุนทหารเช่นกัน แต่ล่าสุดเขาเปลี่ยนท่าทีแบบหน้ามือเป็นหลังมือ โดยบอกในรายการ NP News Talk Show ว่า “เราละอายใจที่ต้องใช้คำว่า 'ยอมแพ้' เราไม่สามารถปลอบใจได้ด้วยการยอมจำนนของทหารมากกว่า 2,000 นาย และสมาชิกในครอบครัวมากกว่า 1,000 คน” 
  3. อีกคนคือ โม เฮง (Moe Hein) นักเคลื่อนไหวทางการเมืองสายโปรทหาร ที่ไม่พอใจ มิ อ่อง หล่าย เช่นกัน โดยบอกใน Facebook ของเขาว่า “แม้จะได้รับการฝึกทหารมาเป็นเวลานาน แต่ทหารจำนวนมากยังต้องล้มตาย หากนายพลของกองทัพมุ่งความสนใจไปที่ผลประโยชน์ของตนเองเท่านั้น” เขายังท้าทายผู้นำทหารตรงๆ ว่า “ผมอยากขอให้ผู้นำทหารทุกคน (รวมถึงผู้นำรัฐบาลทหาร) ดำเนินธุรกิจของตนเอง หากคุณคำนึงถึงผลประโยชน์ของตนเองเท่านั้น อย่าสร้างภาระให้ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ทางทหารและหน้าที่ครอบครัวอย่างเต็มที่แล้ว”
  4. เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2567 The Irrawaddy รายงานอีกว่า พระภิกษุที่สนับสนุนระบอบเผด็จการทหารตัวยง หันมาเรียกร้องให้ มิน อ่อง หล่าย สละอำนาจ โดยภิกษุรูปนี้ คือ อะชิน อริยะวุนตา (Ashin Ariawuntha) หลังจากพระรูปนี้บอกกับฝูงชนที่รวมตัวกันเพื่อชุมนุมสนับสนุนทหารในเมืองพิน อู ลวิน ของเขตมัณฑะเลย์ ว่า มิน อ่อง หล่าย ควรลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหาร และมอบอำนาจการควบคุมให้กับรองพล.อ.โซ วิน  (Soe Win)
  5. ในเวลาต่อมา พระอะชิน อริยะวุนตา ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวเอาไว้ช่วงสั้นๆ หลักจากสอบสวนแล้วก็ปล่อยตัวไป แต่การที่พระรูปนี้แสดงท่าทีเรียกร้องแบบนี้ สั่นคลอนเก้าอี้ของ มิน อ่อง หล่าย อย่างมาก แต่จะเห็นว่าพระอะชิน อริยะวุนตา ยังสนับสนุนทหารต่อไป เพียงแต่ต้องการให้เปลี่ยนตัวผู็นำกองทัพ ซึ่งพระรูปนี้เป็นพระที่มีแนวคิดชาตินิยมรุนแรง และมีส่วนช่วยก่อตั้งกองกำลังติดอาวุธที่สนับสนุนกองทัพ 
  6. มาถึงจุดนี้แล้วก็ถึงเวลาที่จะควรจับตาดูว่า มิน อ่อง หล่าย จะเสียอำนาจหรือไม่ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567 The Irrawaddy มีบทวิเคราะห์ในเรื่องนี้ และตั้งคำถามว่า มันจะเกิดการก่อรัฐประหารซ้อนภายในกองทัพหรือไม่ และระบุว่า "ความพ่ายแพ้อย่างน่าอัปยศอดสูทางตอนเหนือของรัฐฉาน และความสูญเสียอันรุนแรงที่กองทัพได้รับ ทำให้เกิดความไม่พอใจอย่างลึกซึ้งในหมู่ทหารระดับล่าง" และ "ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จำนวนมากได้ย้ายไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยและอินเดียอย่างเงียบๆ"
  7. แต่กองทัพยังใช้วิธีการลงโทษอย่างรุนแรงต่อนายทหารที่ยอมแพ้ให้กับฝ่ายตรงข้าม เช่น นายพลจัตวา 6 นายซึ่งยอมจำนนกับฝ่ายตรงข้ามทางตอนเหนือของรัฐฉานได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต และ "อดีตเจ้าหน้าที่ทหารได้โพสต์ความคิดเห็นบนโซเชียลมีเดีย ยืนยันว่าผู้บัญชาการที่ยอมจำนนต่อกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ควรได้รับการลงโทษอย่างรุนแรง" เรื่องนี้ The Irrawaddy ชี้ว่าสร้างแรงกดดันอย่างหนักต่อครอบครัวของทหาร
  8. ส่วนสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นต่อไปนั้น The Irrawaddy อ้างนักวิเคราะห์ว่า ถ้าทหารยังคงอยู่ต่อไปฝ่ายต่อต้านก็จะรบต่อไป แต่ "ประเทศก็จะถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง" แต่สื่อรายนี้ยังอ้างข้อมูลนักวิเเคราะห์ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาล มิน อ่อง หล่าย อาจมอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้กับหนึ่งในสองรองนายกรัฐมนตรี โดยที่เขายังคงเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งกองทัพและประธานระบอบการปกครอง "อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะไม่ทำให้ใครพอใจ"
  9. อีกความเป็นไปได้คือ เผด็จการทหารยอมให้นักการเมืองพลเรือนที่น่าเชื่อถือสามารถจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวได้ ซึ่งกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์บางกลุ่มที่ได้ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลทหารเผยเมื่อเร็วๆ นี้ว่ารัฐบาลทหารเปิดทางให้มีการจัดตั้งรัฐบาลผสมได้ ซึ่งสถานการณ์นี้หมายความว่าจะมีการประนีประนอมเกิดขึ้น โดยผ่านรัฐบาลพลเรือนที่ทหารตั้งขึ้นมาทำงานแทนตน 

Photo by Handout / MYANMAR MILITARY INFORMATION TEAM / AFP

TAGS: #เมียนมา #มินอ่องหล่าย