การปราบปรามการทุจริตในวงราชการของประธานาธิบดี สีจิ้นผิง แห่งจีน กวาดล้างเข้าไปถึงการคอร์รัปชั่นกองกำลังขีปนาวุธลับ ทะลวงเข้าไปถึงผู้นำระดับงของพรรคคอมมิวนิสต์ ไปจนถึงกรณีอื้อฉาวของทีมฟุตบอลชาติ และตอนนี้มีความเสี่ยงที่การกวาดล้างของ สีจิ้นผิง กระทบต่ออุตสาหกรรมการเงินที่กำลังต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอยู่แล้ว
นับตั้งแต่ขึ้นสู่อำนาจเมื่อ 10 ปีที่แล้ว สีจิ้นผิง ได้ดำเนินการรณรงค์อย่างต่อเนื่องเพื่อต่อต้านการรับสินบนที่ฝังลึกในสังคมจีน ซึ่งนำไปสู่การลงโทษเจ้าหน้าที่อย่างน้อย 4.7 ล้านคน ตามรายงานปี 2022 ของ Global Times สื่อของรัฐบาลจีน
จากข้อม฿ลที่เปิดเผยต่อสาธารณะ จำนวนเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ถูกสอบสวนเรื่องคอร์รัปชั่นเพิ่มขึ้น 40% ในปีที่แล้ว เมื่อเทียบกับปี 2022 ตามรายงานของสำนักข่าว South China Morning Post ในฮ่องกง
และเมื่อเร็วๆ นี้ สีจิ้นผิง ได้ให้คำมั่นว่าจะกำจัดการกระทำผิดที่ฝังลึกในภาคการเงิน การธนาคาร และภาครัฐวิสาหกิจ แม้ว่าขณะนี้กำลังเกิดวิกฤตด้านอสังหาริมทรัพย์ และปัญหาหนี้รัฐบาลท้องถิ่นที่สูงลิ่ว และการบริโภคที่ต่ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัญหาเหล่านี้กำลังบั่นทอนพลังชีวิตของเศรษฐกิจจีน
“สีจิ้นผิง ไม่ได้มองว่าเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเป็นข้อกังวลหลัก แม้ว่าข้อเท็จจริงที่ว่าพรรคจะต้องอาศัยการเติบโตและการพัฒนาอย่างกว้างขวางเพื่อควบคุมข้อข้องใจและให้การสนับสนุน” อเล็กซ์ ปาเยตต์ (Alex Payette) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Cercius Group ซึ่งเป็นที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญด้านการเมืองภายในของจีน กล่าวกับ AFP
เขากล่าวว่าสีจิ้นผิงกำลังตั้งเป้าไปที่อุตสาหกรรมสำคัญๆ เพื่อรองรับผลกระทบจากการคว่ำบาตรจากต่างประเทศ และโยกเศรษฐกิจทั้งหมดมาอยู่ภายใต้การควบคุมของพรรค
สำหรับผู้นำจีน “ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการที่ผู้ปฏิบัติงานถูกชักนำให้หลงผิดจากรากฐานทางอุดมการณ์ที่ถูกต้องของพรรค” ปาเยตต์กล่าว
“คอรัปชั่นที่ก่อให้เกิดเสื่อมทราม...เป็นผลโดยตรงจากกลไกตลาดและแนวคิดต่างชาติ”
ในขณะเดียวกัน สีจิ้นผิง มองว่า "ไม่มีความขัดแย้ง" ระหว่างการพยุงเศรษฐกิจและการก่อให้เกิดเสี่ยงต่อความวุ่นวายในภาคส่วนสำคัญๆ วิคเตอร์ ชีห์ (Victor Shih) รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก กล่าว
“เขาต้องการให้เจ้าหน้าที่ประพฤติตนในทางที่มือสะอาดและมีประสิทธิภาพตลอดเวลา (แต่เขา) ลดค่าจ้างและผลประโยชน์อย่างเป็นทางการให้กับเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่” ซีห์กล่าวกับ AFP
ซีห์กล่าวกล่าวเสริมว่าการทำแบบนั้น (ลดค่าตอบแทนในหมู่ข้าราชการ) กลับเป็นการ “เพิ่มแรงจูงใจให้มีส่วนร่วมในการคอร์รัปชัน” และกระตุ้นให้ต้องมีการกุมซ้ำแล้วซ้ำอีก
'ชุดสูทสีเทา'
ในเดือนนี้ สีจิ้นผิง เรียกร้องให้มี "ความพยายามมากขึ้น" ในการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นที่ "ร้ายแรงและซับซ้อน"
ผู้สนับสนุนแนวทางนี้กล่าวว่าการรณรงค์กวาดล้างดังกล่าวส่งเสริมธรรมาภิบาลที่สะอาดโปร่งใส แต่นักวิจารณ์แย้งว่าการรณรงค์นี้ยังทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการกวาดล้างศัตรูทางการเมืองด้วย
การกวาดล้างนี้ทำให้มีการจับกุมอดีตเจ้าหน้าที่ของธนาคารของรัฐ หน่วยงานกำกับดูแลการธนาคาร และบริษัทน้ำมันและยาสูบของรัฐในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
แอนดรูว์ วีดแมน (Andrew Wedeman) ศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐจอร์เจีย ซึ่งศึกษาการรณรงค์กวาดล้างครั้งนี้ กล่าวว่า จำนวนผู้ที่ถูกจับกุมเมื่อเร็วๆ นี้ถือเป็นการ "เปลี่ยน" จากข้าราชการชั้นสูงไปสู่กลุ่มคนใน "ชุดสูทสีเทา" เป็นลำดับที่สอง (ชุดสูทสีเทา หรือ Grey suits หมายถึงคนที่มีอำนาจมากในธุรกิจหรือการเมืองแต่ไม่เป็นที่รู้จัก)
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวบ่งชี้ว่า "เมื่อเวลาผ่านไป การแบ่งกลุ่มอำนาจเริ่มจะลดหายไป" วีดแมน บอกกับ AFP (การเมืองในจีนมีการแบ่งกลุ่มอำนาจต่างๆ แต่จากการกวาดล้างครั้งนี้ทำให้กลุ่มต่างๆ มีบทบาทลดลง)
จีนถอดถอนรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมอย่างกะทันหันเมื่อปีที่แล้ว รวมถึงสมาชิกหลายคนขององค์กรลึกลับที่ดูแลคลังแสงนิวเคลียร์
จีนไม่ได้ให้เหตุผลอย่างเป็นทางการ แต่มีรายงานเผยแพร่ว่าบางกรณีเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชัน
วีดแมน ไม่ได้ปฏิเสธว่าเหยื่อบางรายตกเป็นเป้าหมายอย่างน้อยส่วนหนึ่งเป็นเพราะถูกมองว่าคนเหล่านี้ขาดความจงรักภักดีต่อ สีจิ้นผิง
จากเหตุผลดังกล่าว วีดแมนจึงกล่าวว่าการกวาดล้างภาคการเงินอาจบ่งบอกถึง "การกระทำผิดที่แพร่หลายในภาคส่วนเหล่านั้น... หรือสีจิ่นผิงคิดว่าภาคส่วนเหล่านั้นมีความเป็นอิสระมากเกินไป และด้วยเหตุนี้จึงเป็นภัยคุกคามต่ออำนาจของเขา"
ปราบปรามอย่างต่อเนื่อง
บรรดาผู้ปกครองของจีนพึ่งพาการรณรงค์โดยอาศัยพลังมวลชนมาเป็นเวลานาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของพรรค แต่ความคิดริเริ่มของสีจิ้นผิงมีความโดดเด่นในเรื่องระยะเวลาและความเข้มข้น
ภายใต้การปกครองของอดีตผู้นำจีน คือ เหมาเจ๋อตง บุคคลที่ สีจิ้นผิง มักถูกเปรียบเทียบว่ามีความคล้ายคลึงกัน การรณรงค์ทางการเมืองมักกินเวลาตั้งแต่สองสามเดือนถึงสองสามปี
แต่การรณรงค์ของสีจิ้นผิงที่กินเวลายืดเยื้อแบบนี้ สะท้อนให้เห็นถึง "ขนาดและความซับซ้อนที่มากขึ้น การแบ่งชั้นและการแบ่งส่วนของสังคมและเศรษฐกิจ (จีน)... เมื่อเทียบกับยุคเหมา" วิเวียน ชู (Vivienne Shue) ศาสตราจารย์กิตติคุณจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด กล่าว
ผลลัพธ์ที่ได้คือการรณรงค์ที่จำเป็นต้อง "มีแนวทางที่เป็นขั้นตอนและตรงเป้าหมาย (และ) เปิดเผยอย่างเป็นลำดับ" เธอบอกกับ AFP
การเปิดเผยคดีที่สะเทือนความรู้สึกของผู้คนยังช่วยคลายข้อสงสัยของสาธารณชนที่ว่า “ข้าราชการจำนวนมาก... แท้จริงแล้วรับใช้ตนเองและคอร์รัปชั่นอย่างลึกซึ้งและน่ารังเกียจ” ชู กล่าว
ในขณะที่รายงานการจับกุม ถังซวงหนิง (Tang Shuangning) อดีตประธานธนาคารยักษ์ใหญ่ Everbright ของรัฐในเดือนนี้ สื่อของรัฐยังเปิดเผยว่าเขาชอบที่จะซื้องานศิลปะราคาแพงและอวดผลงานอักษรวิจิตรของตัวเอง
สถานีโทรทัศน์ CCTV ของรัฐยังได้แพร่ภาพคำสารภาพโดยเจ้าหน้าที่ รวมถึงอดีตโค้ชทีมฟุตบอลทีมชาติ หลีเถี่ย ซึ่งยอมรับว่าล้มบอลและจ่ายเงินสินบนหลายแสนดอลลาร์เพื่อให้เขาได้ตำแหน่งสูงสุดในทีมชาติ
วีดแมน กล่าวว่าการรณรงค์กวาดล้างครั้งนี้ "เหมือนกับสงครามของอเมริกาในเวียดนาม จำนวนศพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่เราไม่เคยเข้าใกล้แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เลย"
วีดแทน กล่าวว่า การกวาดล้างนี้มีแนวโน้มว่าจะคงอยู่ต่อไปตลอดการปกครองของเขา และเสริมว่าสีจิ่้นผิง “ไม่อาจจะเป็นฝ่ายปราชัยได้”
Text - "Xi's corruption crackdown targets embattled finance sector" By Matthew WALSH By Matthew WALSH / Agence France-Presse
Photo - Photo by Dmitry ASTAKHOV / POOL / AFP