ทำไมจีนถึงรอดจากการถูกโจมตีในทะเลแดง?

ทำไมจีนถึงรอดจากการถูกโจมตีในทะเลแดง?

ข้อมูลเบื้องหลังของเหตุการณ์
วิกฤตทะเลแดง (Red Sea crisis) หรือแท้จริงแล้วคือสงครามตัวแทนระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิหร่าน โดยผู้ที่ทำสงครามแทนอิหร่านคือขบวนการฮูษี (Houthi movement) ในเยเมน เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เมื่อขบวนการฮูษีของเยเมนได้เริ่มการโจมตีหลายครั้ง โดยมุ่งเป้าไปที่อิสราเอลตอนใต้และเรือที่แล่นเข้ามาในทะเลแดง ซึ่งทางกลุ่มอ้างว่ามีความเชื่อมโยงกับอิสราเอล เช่น เรือสัญชาติอเมริกัน อย่างไรก็ตาม การโจมตีของฮูษีเริ่มที่จะไม่จำเพาะเจาะจง และเรือนานาชาติถูกโจมตีมากขึ้น

สิ่งนี้ส่งผลให้เรือบรรทุกสินค้าและเรือบรรทุกน้ำมันหลายร้อยลำต้องกำหนดเส้นทางใหม่โดยอ้อมไปที่ปลายด้านใต้ของแอฟริกาเพื่อหลีกเลี่ยงการโจมตีในทะเลแดง  ทำให้สหรัฐฯ ต้องเป็นหัวหอกในการโจมตีกลัยต่อกลุ่มฮูษี โดยเริ่มปฏิบัติการทางทหารที่เรียกว่า Operation Prosperity Guardian โดยมีกองทัพเรือของฝรั่งเศส อิตาลี อินเดีย และปากีสถานเข้าร่วม เมื่อวันที่ 22 มกราคม สหรัฐฯ ประกาศว่าชื่อปฏิบัติการใหม่ คือ Operation Poseidon Archer 

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เรือสัญชาติจีนไม่ถูกโจมจตี แม้ว่าจะมีบริษัทจีนบางแห่งตัดสินใจเลี่ยงการเดินทางผ่านทะเลแดงก็ตาม เพื่อป้องกันจากการถูกโจมตีเอาไว้ก่อน นี่คือสาเหตุว่าทำไมจีนถึงรอดพ้นจากการโจมตี และทำไมจีนถึงไม่เข้าร่วมปฏิบัติการทางทหารที่นำโดยสหรัฐฯ เพื่อจัดการกับกลุ่มฮูษี 

1. เมื่อวันที่ 19 มกราคม สำนักข่าว Izvestia ของรัสเซียรายงานว่า โมฮัมเหม็ด อัล-บูไคติ เจ้าหน้าที่อาวุโสของกลุ่มฮูษีกล่าวว่าเรือของจีนและรัสเซียจะผ่านทะเลแดงได้อย่างปลอดภัย ตราบใดที่เรือไม่เกี่ยวข้องกับอิสราเอล แต่ในวันเดียวกันนั้น กระทรวงพาณิชย์ของจีนเรียกร้องให้กลุ่มฮูษียุติ "การคุกคาม" ในการขนส่งเชิงพาณิชย์ และประกาศความพยายามที่จะปกป้องการค้าทางทะเลในภูมิภาค แต่จีนไม่ระบุว่าจะทำเมื่อใด ต่างจากชาติตะวันตกและบางชาติในเอเชียที่ร่วมมือทำกันแล้ว 

2. นักวิเคราะห์ในประเทศตะวันตกชี้ว่า สาเหตุที่เรือของจีน (และรัสเซีย) รอดพ้นจากการถูกโจมตีมาได้ เพราะจีนมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับอิหร่าน และอิหร่านคือผู้สนับสนุนหลักของกลุ่มฮูษี และนักวิเคราะห์บางรายยังชี้ว่า จีนยอมให้กลุ่มฮูษีด้วยซ้ำ เพราะ COSCO บริษัทขนส่งรายใหญ่ที่สุดของจีนประกาศระงับการให้บริการแก่อิสราเอล นั่หมายความว่าเรือของจีนทำตามคำเตือนของฮูษีที่บอกว่าจะไม่โจมตีเรือจีน "ตราบใดที่เรือไม่เกี่ยวข้องกับอิสราเอล" การที่จีนมีภูมิคุ้มกันแบบนี้ ทำให้จีนไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมกับปฏิบัติการทางทหารแม้ว่าสหรัฐฯ จะชวนจีนเข้าร่วม แต่จีนปฏิเสธไป

3. จีนมีอิทธิพลในทะเลแดงพอสมควร เพราะมีฐานทัพเรือในประเทศจิบูตี ซึ่งประเทศนี้ตั้งอยู่ช่องแคบที่อยู่ตรงกันข้ามกับเยเมนหรือพูดอีกอย่างคือจีนมีทหารอยู่ในเขตที่พวกฮูษีทำการโจมตีเรือสินค้าต่างๆ แต่จีนไม่ได้ส่งทหารเข้าแทรกแซงการโจมตี โดยฐานทัพที่จิบูตี มีเจ้าหน้าที่ทหารเรือของจีนอยู่ประมาณ 1,000-2,000 นาย หน้าที่หลักของฐานนี้คือเพื่อสนับสนุนการขนส่งทางทหารสำหรับกองทหารจีนในอ่าวเอเดนเป็นหลัก รวมถึงปฏิบัติการรักษาสันติภาพ มนุษยธรรม และบรรเทาภัยพิบัติในแอฟริกา และเพื่อป้องกันโจรสลัดในพื้นที่ดังกล่าว แต่เป้าหมายหลักอีกอย่างคือ เพื่อปกป้องโครงการ Belt and Road  

4. นักวิเคราะห์ตะวันตกเริ่มโจมตีจีนว่ามีศักยภาพที่จะช่วยป้องกันอันตรายในทะเลแดง แต่จีนกลับอยู่เฉยๆ สื่อตะวันตกบางรายถึงกับบอกว่า สิ่งที่ชาติตะวันตกกำลังทำอยู่ในทะเลแดง เท่ากับช่วยปกป้องผลประโยชน์ของจีนในทะเลแดง ซึ่งเป็นพื้นที่หลักของเส้นทาง Belt and Road โดยที่ "สีจิ้นผิง รับประโยชน์โดยไม่ต้องทำอะไรจากการที่กองทัพสหราชอาณาจักรและสหรัฐกำลังปกป้องการค้าโลก" แต่นักวิเคราะห์บางคนมองในแง่ดีกว่านั้น โดยชี้ว่า "โครงการ Belt and Road ไม่ใช่แผนการที่น่ากลัว มันเป็นพิมพ์เขียวสำหรับสิ่งที่ทุกประเทศต้องการ ในยุคแห่งความไม่แน่นอนและการดิสรัปต์" นั่นหมายความว่าการแก้ปัญหาโลกนั้น ไม่มีจีนเข้าร่สมไม่ได้ และหมายความว่าจีนเสนอโครงการอะไร ชาติตะวันตกก็ควรยอมรับบ้าง

5. แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในทะเลแดง ไม่ใช่แค่สงครามตัวแทนระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ แต่มันยังสะเทือนไปถึงการทูตแบบ Belt and Road ของจีนด้วย คือการทูตที่เน้นการค้าหลีกเลี่ยงการรบ (ตรงกันข้ามกับแนวทางของสหรัฐฯ) ปีที่แล้ว จีนเป็นคนกลางในการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับซาอุดีอาระเบียอีกครั้ง ซึ่งเป็นดัลที่ช็อคโลกอย่างมากโดยเฉพาะชาติตะวันตกที่ไม่คาดว่า "คนของพวกเขา" คือซาอุดีอาระเบีย จะไปญาติดีกับอิหร่านซึ่งเป็น "ศัตรูของพวกเขา" ซึ่งอิหร่านกับซาอุดีอาระเบียมีความขัดแย้งกันมานานหลายประเด็น แต่หนึ่งในนั้นคือ การที่อิหร่านสนับสนุนฮูษี ส่วนซาอุดีอาระเบียสนับสนุรัฐบาลเยเมนที่ประชาคมโลกรับรอง ทำให้ความขัดแย้งในเยเมนคือสงครามตัวแทนระหว่างอิหร่าน-ซาอุดีอาระเบียได้วย

6. แต่จีนสามารถสะสางความขัดแย้งของสองชาติได้ และปิดดีลการฟื้นความสัมพันธ์ โดยที่หนึ่งในข้อตกลงที่อิหร่านยอมให้กับจีนก็คือ อิหร่านต้องตัดการช่วยเหบือทางทหารให้กับฮูษี และจำกัดการโจมตีของกลุ่มฮูษีต่อซาอุดีอาระเบียและระหว่างประเทศ ซึ่งดูเหมือนว่าฮูษีจะเพลาๆ การโจมตีซาอุดีอาระเบีย แต่กลับไปเร่งการโจมตีชาติตะวันตกและเรือนานาชาติแทน เพราะฮูษีเอาตัวเองไปเกี่ยวข้องกับสงครามฮามาส-อิสราเอล ซึ่งอิหร่านมีส่วนในสงครามนี้เช่นกันในทางอ้อม ในระหว่างความขัดแย้งนี้ อิหร่านยังไม่สงวนท่าทีเอาเลย ยิ่งไปกว่านั้น อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่านกล่าวชื่นชมว่า กลุ่มฮูษีได้โจมตี "หลอดเลือดแดงสำคัญของอิสราเอล"

ดังนั้น แม้ว่าเรือของจีนจะรอดจากการโจมตีไปได้ แต่การต่างประเทศของจีนได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะความเกี่ยวโยงกับเป็นมิตรกับอิหร่านเป็นหลัก 

Photo by Handout / US Central Command (CENTCOM) / AFP

TAGS: #ทะเลแดง #จีน #ฮูษี