Tesla จะไม่ใช้แร่แรร์เอิร์ธแล้ว หลังพบเทคโนโลยีใหม่ผลิตมอเตอร์ EV

Tesla จะไม่ใช้แร่แรร์เอิร์ธแล้ว หลังพบเทคโนโลยีใหม่ผลิตมอเตอร์ EV
Tesla เตรียมลดพึ่งพาแร่หายากจากจีน ทำหุ้นบริษัทเหมืองดิ่ง หลังพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ในมอเตอร์แม่เหล็กถาวรกระแสตรง ที่ไม่พึ่งแร่แรร์เอิร์ธอีกต่อไป

Tesla Inc. ประกาศในงาน Investor Day เมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา ว่ามีแผนจะใช้เทคโนโลยีมอเตอร์ไฟฟ้าแบบแม่เหล็กถาวร (Permanent magnet motor) ซึ่งจะไม่มีการใช้แร่แรร์เอิร์ธในกระบวนการผลิตเพื่อลดปัญหาการพึ่งพาแร่แรร์เอิร์ธ ซึ่งช่วงก่อนหน้านี้กลายเป็นหนึ่งในปัญหาที่ทำให้เทสลาส่งมอบรถยนต์ช้ากว่ากำหนด 

รายงานระบุว่า เทสลาสามารถวิจัยและพัฒนามอเตอร์แบบมอเตอร์แม่เหล็กถาวร Permanent magnet motor ที่สามารถลดข้อจำกัดในบางประการได้สำเร็จ ซึ่งทำให้เทสลามีแผนนำมอเตอร์เจนเนเรชั่นใหม่นี้ มาใช้ในรถยนต์เทสลาในอนาคต ที่ผ่านมามีการใช้แร่แรร์เอิร์ธหรือธาตุหายากในมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งแร่ที่เป็นส่วนสำคัญคือ นีโอไดเมียม ซึ่งได้รับความนิยมสำหรับการผลิตแม่เหล็กแรงสูง  และพบในในมอเตอร์แม่เหล็กถาวรกระแสตรงโดยทั่วไปของรถยนต์ไฟฟ้า เช่นเดียวกับแร่อื่นที่ถูกใช้รองลงมาคือ ดิสโพรเซียมและเทอร์เบียม ซึ่งมีการใช้อย่างแพร่หลายในรถยนต์ไฟฟ้าหลายค่าย ปัจจุบันเทสลาใช้องค์ประกอบของธาตุดังกล่าว เป็นส่วนประกอบสำคัญในมอเตอร์แม่เหล็กถาวรแบบกระแสตรงสำหรับขับเคลื่อนรถยนต์ 

ปัจจุบันมีเพียงไม่กี่ชาติบนโลกที่สามารถผลิตและส่งออกแร่หายากอย่าง นีโอไดเมียม ได้ในปริมาณมาก ซึ่งก็คือจีนที่เป็นผู้ส่งออกหลัก รองลงมาคือออสเตรเลีย ชิลี และอาร์เจนติน่า ขณะเดียวกันประกอบกับรัฐบาลสหรัฐได้มีคำสั่งลดการพึ่งพาทรัพยากรจากจีน ทำให้บรรดาบริษัทเอกชนรายใหญ่สัญชาติสหรัฐที่มีฐานการผลิตในจีน ต่างต้องหาทางพึ่งพาซัพพลายเชนจากส่วนอื่นของโลกแทน

ช่วงก่อนปี 2017 รถยนต์ของเทสลายังไม่ใช่มอเตอร์แม่เหล็กถาวระแบบกระแสตรง จนกระทั่งเทสลาโมเดล 3 ออกสู่ตลาด บริษัทจึงได้ปรับมาใช้มอเตอร์รูปแบบดังกล่าว

อย่างไรก็ตามในงาน Investor Day นี้ เทสลายังได้ประกาศว่าสามารถลดสัดส่วนการใช้ซิลิคอนคาร์ไบด์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชิปเซ็ตที่ใช้ในรถยนต์ลงได้ถึง 75% อีกทั้งยังทำงานร่วมกันได้ดีกับแบตเตอร์รี่แบบใหม่ที่บริษัทกำลังวิจัยและพัฒนาอยู่ด้วย ความสามารถในการลดซิลิคอนคาร์ไบด์ในชิปเซ็ตดังกล่าว ยังส่งผลให้หุ้นของบริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่ในสหรัฐร่วงลงเล็กน้อยด้วย

นอกจากนี้ ข้อมูลจากบลูมเบิร์กชี้ว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนี้ ทำให้บรรดาบริษัทเหมืองรายใหญ่ของจีนที่เป็นผู้ผลิตแร่แรร์เอิร์ธแก่บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าหลายราย อาทิ  JL Mag Rare-Earth Co. และ Jiangsu Huahong Technology Stock  มีมูลค่าลดลงจากการซื้อขายในตลาดจีนกว่า 7% เช่นเดียวกับบริษัท Ningbo Xusheng Group Co. และ Ningbo Tuopu Group Co. ที่มูลค่าหุ้นในตลาดลดลงที่ 7.6% และ 5.3% ตามลำดับจากการซื้อขายเมื่อ 2 มีนาคมที่ผ่านมา

TAGS: #เทสลา #Tesla #รถยนต์ไฟฟ้า #แร่แรร์เอิร์ธ #EV