เปิดโลกของ'นักร้องมืออาชีพ' พวกเขาหากินกับการร้องเรียนกันอย่างไร?

เปิดโลกของ'นักร้องมืออาชีพ' พวกเขาหากินกับการร้องเรียนกันอย่างไร?

ในไม่กี่ปีมานี้ มีศัพท์ใหม่ที่ฮิตกันในหมู่คนไทย คือคำว่า 'นักร้อง' ซึ่งไม่ได้หมายถึงนักร้องนักดนตรี หรือ Singers แต่หมายถึง 'นักร้องเรียน' ต่อหน่วยงานต่างๆ ให้ตรวจสอบประเด็นต่างๆ ที่ไม่ชอบมาพากล จนทำให้ 'นักร้องเรียน' กลายเป็น 'บุคคลในแสง' นั่นคือได้รับความสนใจจากสื่อและสาธารณชน กลายเป็นคนที่ดังเพราะการร้องเรียน จนทำให้หน่วยงานต่างๆ รู้สึกหวั่นๆ ถ้านักร้องเหล่านี้ไปปรากฏตัว

แต่แล้วนักร้องบางคนถูกเปิดโปงว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมไม่สมควร และยังมีเรื่องน่าสงสัยเกี่ยวกับระดับความร่ำรวยที่ดูจะผิดปกติ เพราะคนที่คล้ายจะไม่ทำอาชีพอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากเดินสายร้องเรียนเปฺ็นหลัก ทำไมถึงมีทรัพย์มากมายได้ 

นั่นเป็นเรื่องของเมืองไทย ในต่างประเทศก็มีคนประเภทนี้เหมือนกัน พวกเขาถูกเรียกว่า Professional complainers แปลตรงๆ ก็คึอ นักร้อง (เรียน) มืออาชีพ

พวกเขาเป็นมืออาชีพจริงๆ เพราะหาเงินได้จากการร้องเรียน เพียงแต่เป้าหมายของพวกเขาไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ แต่เป็นบริษัทเอกชนต่างๆ 

นี่เป็นกรณีที่เกิดขึ้นในจีน
จากข้อมูลในบทความของหอการค้าอเมริกัน-จีน หรือ AmChamChina นักร้อง (เรียน) มืออาชีพในจีนเป็นอาชีพที่บูมมากๆ ในช่วงทศวรรษ 1990 และ 2000 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจจีนกำลังโตเร็วและแรง เพราะภาคการผลิตขยายตัวอย่างมาก แต่การผลิตของจีนช่วงงนั้นมีปัญหาเรื่องคุณภาพ พูดง่ายๆ ก็คือ ของปลอมเยอะ ส่วนที่ไม่ปลอมก็มีอายุการใช้งานสั้น โดยรวมก็คือ สินค้าจีนตอนนั้นมี 'ชื่อเสีย' ไปทั่วโลก

กรณีที่ทำให้จีนมีชื่อเสียอย่างมากคือ เรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับนมที่ปนเปื้อนร้ายแรงในปี 2008 หลังจากนั้นสินค้าจากจีนถูกตั้งคำถามเรื่องคุณภาพอย่างหนัก ทั้งยังมีข่าวเรื่องเนื้อปลอม ข้าวปลอม และสินค้าปลอมอีกมากมาย ทำให้ชาวโลกแหยงสินค้าจีนไปช่วงหนึ่ง

นี่คือการถือกำเนิดของ 'นักร้องมืออาชีพ' ซึ่งมุ่งร้องเรียนต่อผลิตภัณฑ์ของบริษัทต่างๆ ที่น่าสงสัยว่ามีปัญหาเรื่องคุณภาพ ในขณะที่รัฐบาลจีนก็เห็นว่านักร้องเหล่านี้มีประโยชน์ในการกำจัดผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหาเรื่องคุณภาพ และยังมีส่วนช่วยปกป้องสาธารณะจากของปลอมทั้งหลาย 

เขาทำงานกันอย่างไร?
การร้องเรียนเรื่องผลิตภัณฑ์ไม่ใช่แค่ช่วยปกป้องผู้บริโภค แต่ยังทำเงินเป็นกอบเป็นกำให้กับบรรดานักร้อง บางครั้งจนดูเหมือนกับเป็น 'นักตบทรัพย์' ด้วยซ้ำ

วิธีการของพวกเขาก็คือ จะมองหาข้อผิดพลาดในผลิตภัณฑ์อะไรก็ตาม แม้จะเป็นข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ เช่น การระบุวันหมดอายุที่กำกวมหรือการติดฉลากผิด พอได้เป้าหมายแล้ว ก็จะไปกว้านซื้อสินค้าจำนวนมาก เพื่อใช้จำนวนเป็นตัวต่อรองค่าเสียหาย

จากนั้นก็จะไปติดต่อกับผู้ผลิตเพื่อ 'ร้องเรียน' ถ้าทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ด้วยการจ่ายค่าชดเชย เรื่องก็จบไป แต่ถ้าไม่จบ นักร้องก็จะขยับไปร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ ซึ่งเมื่อถึงขั้นนี้แล้ว บริษัทต้องจ่ายเงินด้วย และต้องเสียเวลาจัดการเรื่องภาระเรื่องคดีความด้วย

มันคือการร้องในระดับเทพ
นับวัน นักร้องเหล่านี้ยิ่งทำงานซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อตบทรัพย์จากผู้ผลิตสินค้าให้มากที่สุด หรือพูดอีกอย่างคือทำกำไรให้มากที่สุดจากการหาข้อบกพร่องของสินค้าจากบริษัทนั้นๆ 

นักร้องยังเริ่มทำงานกันเป็นเครือข่ายขึ้น ปกติแล้วนักร้องอาจทำงานเป็นทีมเดี่ยวๆ แต่ในเวลาต่อมาพวกเขารวมตัวกันเป็นกลุ่มผ่าน WeChat เพื่อแชร์ข้อมูลบริษัทที่มีจุดอ่อน เมื่อบริษัทนั้นถูกล็อคเป้าแล้ว แทนที่จะถูกร้องเรียนแค่รายเดียว ก็เตรียมที่จะถูกร้องเรียนแบบกระหน่ำจากทั่วประเทศได้เลย 

รัฐบาลเริ่มไม่ทนนักร้อง
ตอนแรกๆ นักร้องพวกนี้เหมือนจะมีประโยชน์ต่อประเทศชาติ แต่เอาเข้าจริงๆ มันคือพวกรีดไถประเภทหนึ่งนั่นเอง เรียกได้ว่ายิ่งรวยมากขึ้นก็ยิ่้งเผยโฉมหน้าที่แท้จริงมากขึ้น มาถึงจุดนี้ รัฐบาลจีนที่เคยยอมๆ ให้ ก็เริ่มจะไม่เอาไว้แล้ว 

ในที่สุด ในปี 2014 ศาลอุธรณ์กว่างโจวประกาศว่าการร้องเรียนเพื่อแสวงหาผลกำไรนั้นไม่เหมาะสมและขัดต่อ “ค่านิยมหลักของลัทธิสังคมนิยม” หมายความว่า ไม่อนุญาตให้หากินกับเารร้องเรียนกันอีกต่อไป

ปิดยุคสมัยแห่งนักร้องมืออาชีพกันแบบดื้อๆ 

แล้วประเทศอื่นมีไหม?
นักร้องแบบที่มีในประเทศไทยคือนักร้องที่เน้นเป้าหมายหน่วยราชการ อาจเป็นเพราะเป็นองค์การที่มีงบประมาณมาก ส่วนในจีนเน้นร้องกับบริษัทเอกชน เพราะมีเงินมากมายมหาศาลเหมือนกัน ดูเหมือนว่าการร้องอะไรก็ตามจะขึ้นอยู่กับปริมาณเงินของเป้าหมาย 

ประเทศอื่นๆ ก็มีการหากำไรจากการร้องเรียนเหมือนกัน เช่น ในอังกฤษ มีนักร้องที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่ง ชื่อ แจสเปอร์ กรีกสัน (Jasper Griegson) ซึ่งมีอาชีพเป็นทนายความ และมีอาชีพที่จริงจังกว่าในฐานะนักร้องเรียน (the Complainer) โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ 90

แต่เขาร้องเรียนเพื่อคนอื่น โดยรับหน้าที่เขียนจดหมายร้องเรียนมากกว่า 5,000 ฉบับแทนผู้อ่านหนังสือพิมพ์ The Daily Express ของอังกฤษ พร้อมกับเขียนหนังสือแบ่งปันประสบการณ์ในการเป็นนักร้องเรียน เช่น The Complainer’s Guide to Getting Even; The Joys of Complaining (คู่มือผู้ร้องเรียนเพื่อให้สาแก่ใจ; ความสุขของการบ่น) 

แน่นอนว่า แจสเปอร์ กรีกสัน หากินกับการร้องเรียนด้วยเหมือนกัน แต่มันไม่ใช่การรีดไถ และเป็นการช่วยเหลือผู้อื่นโดยใช้สกิลของการเป็นคนมีวาทศิลป์มากกว่า 

ภาพประกอบข่าวไม่เกี่ยวกับเนื้อหา Photo by JUSTIN TALLIS / AFP

TAGS: #นักร้อง #ร้องเรียน #จีน #อังกฤษ