ในทัศนะชาวโลก เป็นของไทยหรือไม่สนว่าของใคร?
'กางเกงช้าง' กลายเป็นประเด็นไวรัลฝในเมืองไทยอีกครั้ง คราวนี้มันกลายเป็นจุดศูนย์กลางของการโต้เถียงเรื่องการยกให้เป็นซอฟต์เพาเวอร์ และเอกลักษณ์ของความเป็นไป ไปจนถึงประเด็นเรื่องกางเกงช้างถูกถล่มโดยกางเกงนำเข้าจากจีน จนนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีต้องออกโรงพูดถึงเรื่องนี้
แล้วชาวโลกคิดอย่างไรกับกางเกงช้าง พวกเขาเชื่อว่ามันเป็นของไทยหรือไม่ หรือว่ามันก็แค่กางเกงธรรมดาๆ ที่หาซื้อได้ทั้งในไทยและในประเทศเพื่อนบ้านของไทยกันแน่? นี่คือทัศนะของพวกเขาที่เราหยิบเอามาโซเชียลมีเดียและรายงานข่าวต่างๆ
คนจีนบอก "เสน่ห์ของมันอยู่เหนือจินตนาการของคุณ"
ในเว็บไซต์ "จือฮู" (Zhihu/知乎) ซึ่งเป็นเพจแบ่งปันความรู้ มีผู้เขียนบทความเรื่อง "กางเกงช้างไทยยอดฮิต" เพื่ออธิบายปรากฏการณ์กางเกงช้างในหมู่นักท่องเที่ยว ผู้เขียนบอกว่า "คุณจะพบกับพวกมันทุกครั้งที่คุณอยู่ในตลาด โดยพื้นฐานแล้วมันเหมือนัสญลักษณ์ของการท่องเที่ยวในประเทศไทย ลวดลายดั้งเดิมมักมีสีสันสดใส การออกแบบมีธีมสัตว์หรือเรขาคณิต ดูสะอาดตา มีสไตล์ ใช้งานได้หลากหลาย ราคาไม่แพงอย่างไม่น่าเชื่อ และมีขนาดเดียวพอดี พร้อมดึงดูดผู้ใช้จำนวนมาก มีทุกที่ และแน่นอนว่า กางเกงช้าง เป็นหนึ่งในของที่ระลึกยอดนิยมที่นักเดินทางแบ็คแพ็คที่เดนิทางมาไทยนำกลับไปบ้าน"
ตอนหนึ่งผู้เขียนบอกว่า "แล้วทำไมกางเกงช้างถึงได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน? ตอบไม่ยาก เพราะเป็นสินค้าที่ผลิตจำนวนมากในราคาถูกมาก ตกแต่งด้วยสัญลักษณ์ไทยหรือเอเชียที่สดใส สวมใส่สบายและทำเป็นของที่ระลึกได้ดี"
ผู้เขียนยังบอกว่า "กางเกงขายาวสไตล์นี้เหมาะสำหรับภูมิอากาศเขตร้อนของประเทศไทย เนื่องจากมีน้ำหนักเบาและโปร่งสบาย ผลิตราคาถูก แห้งเร็ว ปลอดภัย และสะดวกสบาย" และ "ประโยชน์อื่นๆ ของกางเกงช้างไทยก็คือเป็นเสื้อผ้าไซส์เดียวที่เหมาะกับทุกคนอย่างแท้จริง ซึ่งจะพอดีกับผู้สวมใส่ทุกครั้งที่สวมใส่ ยังให้อิสระในการเคลื่อนไหวอย่างสมบูรณ์ ซึ่งทำให้เหมาะสำหรับกิจกรรมต่างๆ มากมาย รวมถึงไทเก็ก , โยคะ, การทำสมาธิ, ศิลปะการต่อสู้, การนวดแผนไทยและอื่นๆ, กางเกงชายหาด, เสื้อผ้าคนท้องและหลังคลอด ไปเมืองไทยอย่าลืมเอากลับมาด้วย เสน่ห์ของมันอยู่เหนือจินตนาการของคุณ"
ฝรั่งบางคนเห็นว่าการออกแบบของมันไม่ใช่ไทยแท้ๆ
เมื่อปี 2562 มีบทความที่เขียนโดยนักข่าวที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งคือ Jared Downing ในเว็บไซต์ Frontier Myanmar ซึ่งเป็นสื่ออิสระที่รายงานความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองในเมียน เขียนบทความเรื่อง In defence of elephant pants (แก้ต่างให้กางเกงช้าง) โดยเขาเขียนถึงกางเกงช้างที่มีอยู่ทั่วไป แม้แต่ในตลาดโบโจ๊กอองซาน ซึ่งเป็นตลาดขายสินค้าที่ระลึกชื่อดังในเมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา ซึ่งที่จริงแล้วมันมาจากเมืองไทย
เขาเขียนโดยใช้วิธีแทนตัวเองเป็นกางเกงช้างที่เล่าถึงที่มาที่ไปของมันว่า "และรูปแบบการย้อมผ้าบาติกเทียมแบบโมโนโครมนั้นก็ดูสวยดี อะไรนะ คุณบอกว่าฉันไม่ใช่ของออริจินัลงั้นเหรอ? ฉันเริ่มต้นที่ประเทศไทย แต่การออกแบบของฉันกลับไม่ใช่แบบไทยเลย คุณว่ามั้ย? ... ถ้าหากคนไทยมีปัญหากับนักท่องเที่ยวที่สวมอะไรที่มีรูปช้าง ไม่งั้นพวกเขาก็คงต้องเอาอะไรไปทาทับรูปช้างมันทุกชิ้นหรอกหรือ?"
บทความนี้เขียนแบบทีเล่นทีจริง แต่มันบันทึกความคิดของผู้คนต่อกางเกงช้างก่อนที่มันจะฮิต นั่นคือช่วงปี 2562
แล้วชาวโลกก็หลงรักมัน เมื่อเป็นกระแสในอีกไม่กี่ปีต่อมา
เมื่อปี 2566 นี่เองที่กางเกงช้างเริ่มได้รับความสนใจจากโซเชียลมีเดีย เช่น ในโพสต์ของ Bangkok.explore ใน Instagram ที่เป็นคลิปถ่ายนักท่องเที่ยวในไทยใส่กางเกงช้างกันอย่างแพร่หลาย พร้อมแคปชั่นว่า "ในมุมมองของฉัน คุณลองไปยังสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทยสิ" คลิปนี้มีคนเข้ามาแสดงความเห็นอย่างคับคั่ง
หนึ่งในความเห็นบอกว่า "มันราคาถูกและดูสุภาพสำหรับการไปเที่ยววัด แถมยังมีน้ำหนักเบาที่จะสวมใส่ในอากาศร้อนๆ ง่ายที่จะถพกพา และสบายสุดๆ ในอากาศร้อนๆ" ความเห็นนี้มีคนกดไลค์หลายพันคน อีกคนบอกคล้ายๆ กันว่า "สำหรับการเข้าไปยังวัดพระแก้ว ไม่อนุญาตให้ใส่กางเกงขาสั้นกับเสื้อตัวสั้น ดังนั้นคุณต้องเช่าหรือซื้อกางเกงขายาว และแถวนั้นมันก็มีแค่ดีไซน์เดียวซะด้วย" ความเห็นนี้มีคนกดไลค์หลายพันคนเช่นกัน
Photo - Bangkok.explore