กรณีพิศวงของ 'พิธา' กับคุณยายที่เคยอยู่วังเจ้าเมืองพระตะบอง

กรณีพิศวงของ 'พิธา' กับคุณยายที่เคยอยู่วังเจ้าเมืองพระตะบอง

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถูกขุดโพสต์เก่าๆ ใน Instagram ขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ โพสต์ที่ว่านั้นคือภาพของ "อาเกียรสาลาแคตบัตดอมบอง" (អគារសាលាខេត្តបាត់ដំបង) หรืออาคารที่ศาลากลางจังหวัดพระตะบอง ประเทศกัมพูชา 

โพสต์ของ tim_pita ที่ว่านั้นลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2015 เป็นภาพของอาคารที่ว่าพร้อมกับแคปชั่นภาษาอังกฤษกับภาษาไทยอีกนิดหน่อยว่า "my grand mother used to live in this house almost 1 century ago บ้านเก่าคุณยาย"

แปลเป็นไทยว่า "คุณยายของผมเคยอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้เมื่อเกือบ 1 ศตวรรษก่อน บ้านเก่าคุณยาย"

เรื่องนี้เคยเป็นประเด็นเมื่อปีที่แล้ว เพราะมีคนกัมพูชาบางคนเห็นโพสต์ของพิธาเขาแล้ว 'เคลม' ว่าพิธาเป็นคนเขมร เพราะคุณยายเขาเคยอยู่ที่พระตะบอง ก็คงจะเป็นเขมรเป็นแน่แท้ 

การเคลมพิธาครั้งนั้นสร้างความหฤหรรษ์ให้กับคนไทยไม่น้อย เพราะมันพิสูจน์ได้ว่าคนเขมรบางคนนั้นช่างเคลมจริงๆ แค่แคปชั่นสั้นๆ ของพิธาก็สามารถสาวโคตรวงศ์ของเขาได้แล้ว แถมยังพิสูจน์ดีเอ็นเอซะด้วยว่า "เป็นเขมร"

นั่นเป็นเรื่องเมื่อปีที่แล้ว พอมาปีนี้โพสต์ที่ว่าเป็นประเด็นอีกครั้ง

เพราะมีคนขุดมันขึ้นมาอีก แต่คราวนี้เป็นคนไทยด้วยประเด็นที่ต่างออกไป สิ่งที่พวกเขาถามพิธาก็คือ "ถ้าคุณยายเคยอยู่ที่บ้านหลังนี้ แล้วพิธาเกี่ยวอะไรกับตระกูลอภัยวงศ์?"

แล้วตระกูลอภัยวงศ์ไปเกี่ยวอะไรด้วย? 

ก่อนอื่นควรจะทราบเอาไว้ก่อนว่า "บ้าน" ที่พิธาบอกนั้นไม่ใช่บ้าน แต่เป็น "วัง" (ที่พักของคนระดับเจ้า) หรืออย่างน้อยก็ควรเรียก "จวน" (ที่พักของขุนนางชั้นสูง) 

แม้ว่าปัจจุบันมันจะเป็น "อาเกียรสาลาแคตบัตดัมบัง"หรือ "ศาลากลางจังหวัดพระตะบอง" แต่ก่อนหนานั้นมันคือวังของบุคคลที่ชาวเขมรเมืองพระตะบองเรียกว่า "โลกมจะ" (លោកម្ចាស់) หรือเรียกอย่างไทยว่า  "ท่านเจ้า" 

"ท่านเจ้า" ที่ว่านี้คือเจ้าเมืองพระตะบองมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 

ตำแหน่งของ "ท่านเจ้า" ในทำเนียบบรรดาศักดิ์ไทย มีราชทินนามว่า "อภัยวงศ์" บ้างและยังเรียกว่า "คทาธร" บ้าง ซึ่งคำว่า "คทาธร" มีนัยสำคัญมาก เพราะแปลว่าผู้ถือครองไม้เท้าหรือตะบอง ตรงกับตำนานสร้างเมืองพระตะบองว่าเกี่ยวกับบุคลในตำนานที่เรียกว่า "พระยาตะบองขยุง"

ในช่วงเวลานั้นพระตะบองเป็นดินแดนของประเทศไทย เช่นเดียวกับเมืองศรีโสภณ และเมืองเสียมราฐ (หรือเสียมเรียบ) ส่วนกัมพูชาส่วนที่เหลือเป็นประเทศราชของ "จักรวรรดิสยาม" 

ผู้ปกครองพระตะบองคือท่านเจ้าห้ารุ่น มีอำนาจราชศักดิ์ประหนึ่งเจ้าประเทศราช คือชี้เป็นชี้ตายชาวเมืองได้ สมกับกับคำว่า "เจ้า" คนพระตะบองยังเรียกท่านเจ้าที่ถึงแก่อนิจกรรมว่า "โลก มจะ เปรียะโกศ" (លោក​ម្ចាស់​ព្រះ​កោដ្ឋ​) หรือ "ท่านเจ้าพระโกศ" ประหนึ่งว่าเป็นเจ้านายจริงๆ ตามธรรมเนียมไทยที่เรียกพระเจ้าแผ่นดินที่เพิ่งจะสวรรคตว่า "พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ"

ท่านเจ้ารุ่นต่างๆ คือบรรพบุรุษของคนในตระกูลอภัยวงศ์ ซึ่งเป็นตระกูลสำคัญของประวัติศาสตร์ไทยและกัมพูชา และยังเป็นตระกูลนักการเมือง เคยมีนายกรัฐมนตรีจากสกุลนี้มาแล้วหนึ่งท่านคือ นายควง อภัยวงศ์ 

แต่ตระกูลอภัยวงศ์ไม่ได้อยู่ที่ "วัง" แห่งนี้อีกต่อไป เพราะ "จักรวรรดิสยาม" เสียดินแดนพระตะบองให้กับฝรั่งเศส ไล่เลี่ยกับการเสียกัมพูชาในรัฐประเทศราชให้ฝรั่งเศสเช่นกัน แล้วฝรั่งเศสผนวกพระตะบองให้กับกัมพูชา 

ตอนแรกนั้น ฝรั่งเศสเสนอให้ "ท่านเจ้า" มีอำนาจปกครองพระตะบองต่อไป (ที่จริงแล้วตระกูลวงศ์ท่านเจ้ามีอำนาจไปถึงเสียมราฐด้วย เพราะปกครองโดยคนในครอบครัวเดียวกัน) แต่ตระกูลนี้จงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดินประเทศสยาม จึงพาครอบครัวเดินทางเข้ามาที่ประเทศสยาม 

ครั้นมาถึงจังหวัปราจีนบุรี ท่านเจ้าคนสุดท้ายหรือเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ก็ได้สร้าง "วัง" แห่งใหม่ของท่าน หน้าตาเหมือนที่พักในเมืองพระตะบองไม่มีผิด และยังอยู่ริมแม่น้ำเหมือนกัน (ที่พระตะบองอยู่ริมน้ำสังแก ที่ปราจีนอยู่ริมน้ำบางปะกง) 

อาคารที่ว่านั้นคือ "ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร"

เขียนมาถึงตอนนี้ผมชักสงสัย หรือว่าคุณพิธาจะจำสถานที่สลับกัน? ถ้าไม่อย่างนั้นคุณพิธาเกี่ยวอะไรกับตระกูลอภัยวงศ์?

นั่นคงเป็นความสงสัยของคนในตระกูลนั้นด้วย รวมถึงคอการเมืองอีกหลายคน ส่วนผมเองสงสัยในฐานะคนที่สนใจประวัติศาสตร์ 

ผมมีความสนใจเมืองพระตะบองเป็นพิเศษ เขียนอะไรต่อมิอะไรเกี่ยวกับพระตะบองหลายครั้ง และพอจะรู้ประวัติศาสตร์ของเมืองนี้อยู่บ้าง

วังท่านเจ้าที่พระตะบองนั้น ผู้ที่สร้างคือท่านเจ้าคนสุดท้าย นั่นคือ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ตอนแรกท่านมีราชทินนามเหมือนบิดาคือ พระยาคทาธรธรณินทร์ (แต่ต่ำบรรดาศักดิ์กว่า บิดาท่านชื่อ เยีย มีบรรดาศักดิ์ว่า เจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์) จนต่อมาได้รับการเลื่อนฐานะเป็นเจ้าพระยา ท่านไม่ได้ใช้ราชทินนามเดิม แต่เป็น เจ้าพระยาอภัยภูเบศร แต่คนเขมรยังนิยมเรียกท่านว่า "คทาธรชุ่ม" (កថាថន ឈុំ)

"คทาธรชุ่ม" ท่านจ้างสถาปนิกอิตาเลียนที่ทำงานในสยามเวลานั้นมาสร้างวังของท่านในปี พ.ศ. 2448  (ค.ศ. 1905) แต่ในปี พ.ศ. 2450 (ค.ศ. 1907)  ก็ต้องอพยพไปปราจีนหลังเกิดกรณีพิพาทฝรั่งเศส-สยาม

หลังจากนั้นชาวพระตะบองก็เรียกท่านว่า "โลก มจะ ปะจิม" (លោក​ម្ចាស់បស្ចិម​) หรือ "ท่านเจ้าปราจีน" เพราะท่านย้ายไปอยู่ปราจีนบุรี

เพื่อความชัวร์ขอยกข้อมูล (ภาษาเขมร) จากเว็บไซต์รัฐบาลบริหารจังหวัดพระตะบอง ซึ่งเขาว่าไว้อย่างนี้  

"อาคารศาลากลางจังหวัดพระตะบองเดิมสร้างขึ้นในสมัยท่านเจ้าคทาธรชุ่ม เมื่อพระตะบองอยู่ภายใต้การปกครองของไทยระหว่าง พ.ศ. 2338 ถึง พ.ศ. 2450 (ท่านเจ้าคทาธรชุ่มเป็นทายาทของท่านเจ้าคทาธรแบน ซึ่งปกครองพระตะบองมาห้าชั่วอายุคน) เมื่อปี พ.ศ. 2448 เสด็จตรัญ ชุ่ม (คำว่า เสด็จตรัญ หรือ ស្ដេចត្រាញ់ หมายถึงอุปราชหรือข้าหลวงหรือเจ้าเมืองใหญ่ที่มีกำลังทหารคุ้มครองแผ่นดิน) ได้ว่าจ้างสถาปนิกชาวอิตาลีจากกรุงเทพฯ ให้สร้างอาคารเป็นที่พักส่วนตัว แต่ในปี พ.ศ. 2450 ฝรั่งเศสได้อ้างสิทธิ์ใน 3 จังหวัด คือ พระตะบอง, ศรีโสภณ (สวาย ศรีโสภณ) และอังกอร์ (เสียมเรียบ) จากประเทศไทยมาสู่กัมพูชา เสด็จตรัญจึงขายที่พักอาศัยทั้งหมดของเขารวมทั้งอาคารหลังนี้ซึ่งเขายังไม่ได้อาศัยอยู่ด้วย ให้กับทางการฝรั่งเศส อาคารนี้ยังใช้เป็นสถานที่ทำงานและบ้านพักของเจ้าหน้าที่อาวุโสชาวฝรั่งเศส และต่อมาเป็นศาลากลางจังหวัดพระตะบอง จนถึงปี พ.ศ. 2548 ปัจจุบันหน่วยงานจังหวัดได้จัดอาคารอาคารหลังเก่าของจังหวัดให้เป็นพิพิธภัณฑ์มรดกของจังหวัด เพื่อให้นักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศได้เยี่ยมชม โดยมีการจัดแสดงฉากต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยของท่านเจ้าแต่ละท่านจนถึงปี พ.ศ. 2450 และในสมัยอาณานิคมฝรั่งเศส"

จากข้อมูลของทางจังหวัดบอกว่า คทาธรชุ่มยังไม่ได้ทันได้อยู่วังนี้ ก็ต้องอพยพไปสยามก่อน 

แล้วใครที่อยู่ในบ้านหลังนี้เมื่อร้อยปีที่แล้วอย่างที่คุณพิธาอ้าง? 

จากข้อมูลข้างต้น เรารู้ว่าเจ้าหน้าที่อาณานิคมฝรั่งเศสเข้ามาอยู่ต่อ แล้วต่อมาใช้เป็นศาลาว่าการ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม คนที่อยู่ที่นี่ควรจะเป็นข้าราชการเป็นหลัก

ส่วนเอกสารสำคัญเกี่ยวกับพระตะบองและตระกูลอภัยวงศ์ คือหนังสือที่ชื่อ " บัตดอมบองสมัยโลกมจะ" (បាត់ដំបងសម័យលោកម្ចាស់) แปลไทยว่า "พระตะบองสมัยท่านเจ้า" น่าจะเป็นที่มาของข้อมูลเรื่องวังท่านเจ้าที่แพร่หลายในกัมพูชา โดยบอกว่า วังแห่งนี้ท่านเจ้าคทาธรชุ่มขายให้ฝรั่งเศส โดยที่ท่านยังไมได้เข้าอยู่อาศัย เนื้อหาในหนังสือบอกว่า

"ท่านเจ้าขายบ้านทั้งหมดในพระตะบองให้กับฝรั่งเศส โดยเฉพาะสัณถาคาร (โรงแรม) จังหวัดพระตะบอง (วังท่านเจ้า) ซึ่งท่านเจ้ายังไม่ได้เข้าอยู่อาศัย ท่านเจ้าได้สร้างบ้านอีกหลังที่ปราจีน เหมือนกับสัณถาคารจังหวัดพระตะบอง" 

ดังนั้นวังนี้ไม่มีใครอยู่มาแล้ว แล้ว "คุณยาย" ของพิธาอยู่ที่ไหนกันแน่? 

แต่ก่อนที่จะมีการสร้างวังท่านเจ้ารูปทรงยุโรป แต่ก่อนที่พักอาศัยของท่านเจ้านั้นเรียกว่า "กำแพงแก้ว" (កំផែងកែវ) ในกำแพงแก้วเป็นเขตหวงห้าม หนังสือ "พระตะบองสมัยท่านเจ้า" อธิบายว่ามีพื้นที่เท่ากับวังใหม่นั่นเอง เป็นที่อาศัยของท่านเจ้า, โลกจุมเตียว (คุณหญิง) หม่อมต่างๆ รวมถึงพวกแสดงละครและคนรับใช้ล้วนแต่เป็นหญิง "ไม่มีผู้ชายคนไหนอาศัยอยู่ในกำแพงแก้วยกเว้นท่านเจ้า ลูกชายทั้งหมดมีบ้านอยู่ข้างนอก" 

ผู้หญิงในเขตกำแพงแก้วนั้นอยู่ในระเบียบที่เข้มงวดเหมือนกับนางในในวังเจ้านาย แม้ว่าจะเป็นแค่หญิงรับใช้ก็ห้ามมีสัมพันธ์กับชายหนุ่ม ส่วนพวกนางละครเวลาไปอาบน้ำที่แม่น้ำสังแกด้านหน้าวัง จะมีการกั้นถนนไม่ให้คนนอกได้เห็น ถ้าผู้ชายคนไหนสู่รู้เข้ามาใกล้เกินไปจะถูกทุบตีอย่างหนัก 

นี่คือวิถีชีวิตคร่าวๆ ของคนในวังท่านเจ้า 

ผมบอกข้อมูลแวดล้อมได้แค่นี้ รวมๆ แล้วมันเป็นการเล่าประวัติศาสตร์เสียมากกว่า ไม่ได้มีเจตนาที่จะ "จับผิด" แต่ถึงจะเล่ามาขนาดนี้แล้ว อ้างข้อมูลที่จับต้องได้ขนาดนี้แล้ว ผมก็ทำได้เท่านี้ 

เพราะคนที่ทราบความจริงทั้งหมดมีแต่คุณพิธา

บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better

Photo

  • MANAN VATSYAYANA / AFP
  • Instagram tim_pita
TAGS: #พิธา #ลิ้มเจริญรัตน์ #พระตะบอง #กัมพูชา