จบกันซอฟต์เพาเวอร์ผีไทย เมื่อ 'แม่นาคพระโขนง' กลายเป็น 'ผีเขมร'

จบกันซอฟต์เพาเวอร์ผีไทย เมื่อ 'แม่นาคพระโขนง' กลายเป็น 'ผีเขมร'

มีภาพยนต์เขมรเรื่องหนึ่งครับชื่อเรื่องว่า "แม่ณุน" (หรือเขียนแบบเขมรว่า แมนูน) เล่าเรื่องของผีตายทั้งกลมที่ชื่อ "แม่ณุน" ที่ตายไปแล้วยังเฮี้ยน เพราะรอผัวกลับบ้าน 

พล็อตมันช่างคล้ายกับเรื่อง "แม่นาค" (หรือแม่นาก) ของไทย แม้จะไม่เหมือนเสียทีเดียว แต่การนำเสนอในภาพยนต์เหมือนกับว่า "ได้รับแรงบันดาลใจ" จากภาพยนต์เรื่องแม่นาคพระโขนงเวอร์ชั่นต่างๆ ของไทย เทียบกันซีนต่อซีนแล้ว อดคิดไม่ได้ว่า "นี่เขาลอกเราหรือเปล่า?" นี่แค่สงสัยนะครับ

แม้แต่ชื่อ "แม่ณุน" หรือแมนูน ก็คล้ายจนเกินไป (แม ก็คือ แม่ ส่วนคำว่า นูน คือชื่อของผี)  

ก่อนอื่นนะครับ หนังผีเรื่องนี้ในกัมพูชาใช้ชื่อว่า "แมกระลาเพลิง" (ម៉ែក្រឡាភ្លើង) "แม" ก็คือ "แม่" เป็นคำเขมรที่น่าจะรับจากภาษาไทย เพราะคำเขมรที่หมายถึงแม่คือคำว่า มดาย (ម្តាយ) 

คำว่า กระลา (ក្រឡា) หมายถึงลาน คำว่า เพลิง (ភ្លើង) หมายถึงไฟหรือเพลิง รวมๆ กันแล้วแปลว่า "แม่ลานไฟ" ซึ่งผมไม่รู้จริงๆ ว่าหมายถึงอะไร แต่ชื่อมันน่าเกรงขามดี 

ตัวเอกที่เป็นผีเหมือนแม่นาคของเรา ชื่อว่า แม่นูนหรือแมนูน (ម៉ែនួន)

เรื่องนี้เป็นประเด็นมาหลายเดือนแล้ว จนกระทั่งมีบริษัทไทยรายหนึ่งนำเอาหนังแม่ณุนมาฉายในไทย 

การนำเข้าภาพยนต์เรื่อง "แม่ณุน" ของกัมพูชามาฉายในเมืองไทย ผมถือว่าเป็นความคิดสั้นอย่างหนึ่งของผู้จัด 

เพราะเท่ากับยอมรับว่า "แม่ณุน" เป็นเรื่องออริจินัล ทั้งๆ ที่มีปัญหาความเป็นเป็นออริจินัล อย่างที่ผมชี้ไปว่าหลายฉากเหมือนจะได้มาจากหนังไทยเรื่องแม่นาคภาคต่างๆ 

บางคนบอกว่า "แหม ก็เหมือนกันบ้างจะเป็นไรไป?" ผมจะตอบว่า "เป็นสิครับ" เพราะมันเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่ต้องลงทุนทั้งเงินและแรง ไม่ใช่การกุศล

โปรดทราบว่า กัมพูชามักละเมิดลิขสิทธิ์วัฒนธรรมป๊อปของไทยอย่างรุนแรง กรณีล่าสุดถึงกับฟ้องร้องกัน คือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่เตรียมฟ้องร้อง Miss Global 2023 ที่จัดขึ้นที่กัมพูชา ฐานนำเอาการออกแบบการแสดง "กํมฺรเตงฺชคตฺศรีศิขรีศวร" ของทางมหาวิทยาลัยไปใช้โดยพลการ 

มันทำให้ชาวโลกเข้าใจผิดว่าการแสดงนั้นเป็นของกัมพูชา ทั้งๆ ที่คิดค้นโดยบุคคลากรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น 

นี่แค่ตัวอย่างเดียว ที่ไม่ฟ้องร้องกันก็มีหลายกรณี โดยเฉพาะวงการนางงาม นักออกแบบไทยกล่าวหาพวกช่างตัดเสื้อกัมพูชามักจะลอกคอสตูมที่คนไทยสร้างสรรค์กันหลายครั้งแล้ว แต่ฟ้องกันไม่ไหว เพราะไม่มีเจ้าภาพและกำลังทรัพย์

นี่คือปัญหาระดับชาตินะครับ เพราะการออกแบบของดีไซเนอร์ไทยคือซอฟเพาเวอร์อย่างหนึ่ง เมื่อซอฟต์เพาเวอร์ถูกขโมยกันดื้อๆ แบบนี้ แถมฝ่ายที่ขโมยไปยังไม่รู้ร้อนรู้หนาว แล้วต่อไปดีไซเนอร์ไทยจะมีกำลังใจทำงานกันอย่างไร?

กลับมาที่เรื่อง "แม่ณุน" เอาจริงๆ แล้วเราก็เห็นกับตาและรู้แก่ใจว่าหนังเรื่องนี้ได้แรงบันดาลจากหนังไทยขนาดไหน

ถามว่ายอมได้ไหม? ผมคิดว่าคนไทยพอจะหยวนๆ ได้ ถ้าทางเขมรยอมรับว่า "ก็ได้มาจากแม่นาคของไทยนั่นแหละ"

แต่ฝ่ายนั้นไม่ยอมรับ แถมบางคนยังเถียงคอเป็นเอ็นว่าแม่นาคนั่นแหละที่ไทยลอกมาจากเขมร

โลกทัศน์ของคนแขมร์นั้นมันกลับตาลปัตรแบบนี้จริงๆ ครับ ลอกมาจากไทยแท้ๆ แต่นานวันเข้าทำเป็นลืม แล้วบอกว่าตัวเองเป็นออริจินัล

มิหนำซ้ำคนไทยบางคนยังเข้าข้างเขมรอย่างไม่รู้เหนือรู้ใต้ โดยบอกแบบนกแก้วนกขุนทองว่า "เป็นวัฒนธรรมร่วม" 

ที่ผมต้องใช้คำว่าท่องคำว่า "เป็นวัฒนธรรมร่วม" แบบนกแก้วนกขุนทอง เพราะพูดออกมาแบบไม่คิดให้ดีถึงผลประโยชน์ของคนไทยและประเทศชาติ

ถ้าคิดสักหน่อยคุณจะเข้าใจว่าคนที่ดีไซน์วัฒนธรรมป๊อปของไทยนั้นเขาลงแรงเหนื่อยแค่ไหนกว่าจะได้ผลงานมา แล้วจะให้เพื่อนบ้านข้างๆ ชุบมือเปิบหรือ? แถมยังมีคนไทยด้วยกันเข้าข้างการฉกฉวยทรัพย์สินทางปัญญาอีก 

คำว่า "วัฒนธรรมร่วม" นั้นควรจะใช้กับยุคก่อนที่จะเป็นประเทศสมัยใหม่ ตอนที่กัมพูชายังเป็นส่วนหนึ่งของไทย และมีการอพยพผู้คนกันไปมาโดยไม่มีการแบ่งพรมแดน ในยุคแบบนั้นจะร่วมวัฒนธรรมกันก็ไม่เห็นแปลก

แต่พอกัมพูชาเป็นประเทศเอกราช ต่างคนต่างอยู่ และไทยก็อยู่ของไทยไม่เกี่ยวข้องกัน ต่างฝ่ายต่างต้องพัฒนาเอกลักษณ์ของชาติตนขึ้นมา 

เอกลักษณ์ของชาติพวกนี้ ประเทศไทยพัฒนาอย่างหนักทั้งใช้กำลังคนและกำลังทรัพย์ ยาวนานหลายสิบปี โปรโมทไปทั่วโลกไม่รู้เท่าไหร่ กว่าที่เราจะเก็บเกี่ยวผลจากซอฟต์เพาเวอร์พวกนี้ได้ 

จู่ๆ วันหนึ่งเพื่อนบ้านข้างๆ ใช้วิธี Hijack ทางวัฒนธรรม เหมือนโจรที่ปล้นกันซึ่งๆ หน้า โดยบอกว่า "มวยไทยมาจากกุนแขมร์" "ชุดไทยมาจากชุดเขมร" "อาหารไทยมาจากอาหารเขมร" และอะไรต่อมิอะไรมาจากเขมรทั้งสิ่้น

และ "แม่นาค" มาจาก "แมนูน" ของเขมร แถมคนไทยบางคนยังช่วยอีกแรงโดยบอกว่า เรื่อง "แม่นาคพระโขนง" มาจากตำนานของเขมรต่างหาก

ผมได้ยินแล้วกุมขนับ สงสารคนทำงานในวัฒนธรรมซอฟต์เพาเวอร์ไทย ที่อุตส่าห์ปั้นผีไทยจนดังไปทั่วโลก จู่ๆ ก็มีพวกมาชุบมือเปิบซะงั้น เพื่อโหนกระแสผีไทยแบบไม่ต้องออกแรงด้วยการฉกมาเป็นของตัวเองซะเลย

นี่เป็นการ Hijack คือช่วงชิงกันซื่อๆ เพื่อที่จะทำให้ชาวโลกเข้าใจผิดว่า มวยไทย อาหารไทย ชุดไทย หนังไทย เพลงไทย มาจากเขมร เป็นการปล้นง่ายๆ เพราะไม่ต้องลงทุนอะไร แค่ "บางคน" ปั่นหัวคนเขมรให้เชื่อเรื่องโกหกพวกนี้ แล้วรวมพลังเป็นกองทัพบอทเพื่อปั่นคอมเมนต์ลวงโลกในโลกโซเชียล

ที่น่าเจ็บใจก็คือ มี "นักวิชาการ" บางคนในไทยเอาข้างการ Hijack ทางวัฒนธรรมแบบนี้ซะด้วย โดยใช้คำเท่ๆ ว่าเป็น "วัฒนธรรมร่วม"

มันจะร่วมได้ยังครับ ในเมื่อชุดไทยร่วมสมัยเพิ่งออกแบบโดยคนไทยไม่กี่ปีนี้เอง แต่เขมรก็เอาไปโมเมอ้างว่าเป็นของตัว อาหารไทยที่พัฒนาโดยคนไทยไม่กี่สิบปีนี้เขมรก็อ้างว่าเป็นต้นตำรับ 

ผมยกตัวอย่างชุดไทยแล้วกัน ชุดไทยแบบโมเดิร์นที่ให้เช่าใส่ตามวัดดังๆ ในเมืองไทย เป็นของออกแบบใหม่โดยอิงกับดีไซน์เดิม ดังนั้น มันจึงเป็นงานภายใต้ลิขสิทธิ์ความคิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่วัฒนธรรมร่วม ถ้าเป็นวัฒนธรรมร่วม คนเขมรจะต้องใช้ดีไซน์เมื่อร้อยกว่าปีก่อนของไทยครับ (ในยุคที่เขมรเป็นประเทศราชของไทย) ไม่ใช่สิ่งที่คนไทยคิดด้วยกำลังสมองกันเมื่อไม่นานมานี้ 

ปรากฏว่าตอนนี้คนเขมรใส่ชุดไทยดีไซน์โมเดิร์นที่หลายคนก็สั่งซื้อจากไทยนี่เอง แล้วหลอกตัวเองว่า "นี่เป็นชุดเขมร" แถมยังมีหน้าบอกว่า "ชุดไทยรับอิทธิพลมาจากชุดเขมร" 

แม้แต่มวยไทยที่มีแม่ไม้และลูกไม้ต่างจากมวยเขมรลิบลับแบบคนละสำนัก เขมรก็ยังอ้างว่าตัวเองคิดค้น ทั้งๆ กุนแขมร์และบกกะตอร์ของเขมรนั่นแหละที่เพิ่งคิดค้นท่ามวยขึ้นมาใหม่ซึ่งคล้ายกับ "องบาก" ของ "จา พนม" ยังไงยังงั้น

ที่สำคัญคือของพวกนี้เป็นการคิดค้นในยุคสมัยใหม่ที่คุ้มครองด้วยกฎหมายลิขสิทธิ์ เพราะสร้างรายได้ให้ผู้คิดค้นชาวไทยและเป็นซอฟต์เพาเวอร์ของไทย 

แล้วคนไทยบางพวกยังจะไปยกใส่พานถวายให้เขมรอีก มันน่าเจ็บใจไหมครับ? 

คนไทยพวกนี้นะครับ รังเกียจคำว่า "ชาตินิยมไทย" แต่กลับไปรักชาติเพื่อนบ้าน อะไรที่เป็นของไทยจะรังเกียจว่าไม่มีอยู่จริง เพราะ "ไทยไปรับเขามาทั้งนั้น" 

แต่กับเพื่อนบ้านของไทย พวกนี้กลับทำตาบอดทั้งที่ลอกไทยมาทั้งดุ้น 

คำว่า "ไทยไปรับเขามาทั้งนั้น" นี่เป็นประโยคที่สิ้นคิดอีกประโยค เพราะประเทศไหนๆ ก็ล้วนแต่รับวัฒนธรรมชาติอื่นมาทั้งนั้น แต่เขารับมาแล้วคิดค้นเอกลักษณ์ใหม่ขึ้นมา จนกลายเป็นต้นฉบับคือความเป็นออริจินัล

คนไทยนั้นให้เครดิตคนเก่ง ในยุคก่อนสมัยใหม่ (คือยุคก่อนกฎหมายลิขสิทธิ์) คนไทยรับทำนองเพลงชาติไหนมาก็จะบอกว่าเป็นเพลงชาตินั้น เช่น พม่ารำขวาน เขมรไทรโยค มอญดูดาว จีนตอกไม้ แขกบรเทศ ฯลฯ

อาหารไทยก็รับอิทธิพลมาจากนานาชาติ บางอย่างรักษาเอกลักษณ์ชาตินั้นไว้ เช่น ขนมเบื้องญวน กล้วยแขก ขนมโตเกียว ฯลฯ

แต่อาหารไทยแท้ๆ คืออาหารที่คนไทยคิดเองด้วยรับคนอื่นเขามานิดๆ หน่อยๆ ด้วย ถ้าอันไหนไม่ใช่ไทยแท้ ไทยก็บอกตรงๆ อย่างให้เกียรติต้นฉบับ

ไม่ใช่การลอกแล้วตู่ว่าเป็นของตัวเองเหมือนบางประเทศ  

ป.ล. เรื่องแมนูนที่บางคนคิดว่าเป็นวัฒนธรรมร่วมนั้น ผมเชื่อว่ามาจากการตั้งข้อสังเกตของคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ที่บอกว่า "นางนาคพระโขนง ที่น่าจะเป็นเค้ามาจากเขมรด้วย" โดยบอกว่า ชื่อพระโขนงนั้นเป็นภาษาเขมร และเรื่องนางนาคก็น่าจะมาจากเรื่องพระทอง-นางนาค อันเป็นบรรพบุรุษของเขมร 

แต่เรื่องนี้ผมคัดค้าน เพราะไม่มีเค้าเลยว่าเรื่องพระทอง-นางนาค อันเป็นเรื่องของพญานาคตัวเมียกับคนธรรมดาผู้ชายสมสู่กัน จะโยงมาถึงเรื่องแม่นาคที่เป็นผีตายทั้งกลมได้อย่างไร?

ส่วนคำพระโขนงนั้นแม้จะเป็นคำเขมร แต่มันไม่ได้หมายความว่าคนที่อยู่อำเภอพระโขนงจะเป็นคนเขมรนี่ครับ เช่นเดียวกับคำว่าพระประแดง ที่มาจากภาษาเขมรเหมือนกัน (และอยู่ติดกับพระโขนงนั่นแหละ) มีคนเขมรที่ไหน แต่เป็นมอญทั้งสิ้น

อีกอย่างก็คือ มีหลักฐานในหนังสือพิมพ์สยามประเภทฉบับวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2442 ของ ก.ศ.ร. กุหลาบ เล่าถึงกรณีอำแดงนาก ลูกสาวกำนันตำบลพระโขนงในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่ตายทั้งกลม แต่ลูกๆ ของอำแดงนากแกล้งทำเป็นผีหลอกคนเพื่อให้ชาวบ้านคิดว่าอำแดงนากเป็นผีเฮี้ยน แล้วพ่อของพวกลูกๆ (ซึ่งชื่อชุ่มทศกัณฐ์ ไม่ใช่พ่อมาก) จะได้ไม่มีโอกาสแต่งงานใหม่ 

เรื่องต้นเหตุของ "ผีนางนาก" เรื่องนี้สมเหตุสมผลกว่าเรื่องพระทอง-นางนาคของเขมรเสียอีก 

ยังไม่นับว่าในสมัยรัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 5 นั้นกัมพูชาอยู่ภายใต้อิทธิพลของไทย ดินแดนพระตะบอง เสียมราฐเป็นดินแดนของไทย ส่วนที่เหลือของกัมพูชาเป็นประเทศราชของไทย ดังนั้น วัฒนธรรมต่างๆ ของกัมพูชาจึงรับเอามาจากไทยอย่างมากในช่วงนั้น ทั้งการแต่งกายไปจนถึงวรรณคดีต่างๆ ตั้งแต่รามเกียรติ์ที่เป็นของในรั้วในวัง จนถึงเรื่องพื้นบ้านของไทยอย่างชาละวัน แม้แต่เรื่องผีนางนาคหรือเรื่องอำแดงนากก็อาจจะได้ไปจากไทยช่วงนี้้ แล้วต่อมาเรียกว่า "นางนูน" (នាងនួន) แล้วกลายเป็น "แม่นูน" ในเวลาต่อมา

ทุกวันนี้เขมรลืมไปหมดแล้วว่าได้มาจากไทย แถมยังอ้างว่าไทยต่างหากที่ "ขโมย" ไปจากเขมร 

ได้ยินแล้วเหนื่อยใจ

บทความโดยทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better

หมายเหตุ - ภาพประกอบข่าว เป็นโปสเตอร์ภาพยนต์เรื่อง ម៉ែក្រឡាភ្លើង จาก Sastra Film

TAGS: #แม่นาคพระโขนง #แม่ณุน #กัมพูชา