ดินแดนที่ไทยเสียไปแบบงงๆ ทำไม ‘เกาะกง‘ หรือ ‘จังหวัดปัจจันตคิรีเขตร’ ถึงกลายเป็นของเขมร?

ดินแดนที่ไทยเสียไปแบบงงๆ ทำไม ‘เกาะกง‘ หรือ ‘จังหวัดปัจจันตคิรีเขตร’ ถึงกลายเป็นของเขมร?

รู้หรือไม่ว่าครั้งหนึ่งประเทศไทยเคยมีจังหวัดที่ชื่อ "จังหวัดปัจจันตคิรีเขตร" เป็นเมืองชายทะเลที่ติดต่อกับจังหวัดตราด ปัจจุบัน จังหวัดปัจจันตคิรีเขตรคือจังหวัดเกาะกงในประเทศกัมพูชาปัจจุบัน ซึ่งเป็นจังหวัดที่ยังมีคนเชื้อสายไทยตั้งถิ่นฐานอยู่ และคนไทยเกาะกงหลายคนยังมีบาทสำคัญในรัฐบาลกัมพูชาด้วย 

ประวัติศาสตร์ของเกาะกงในไทย
ในงานวิจัยทางวิชาการชื่อ "“พลเมืองเกาะกง”และ “ปัจจันตนคโรปมคาถา”:วรรณกรรมพุทธศาสนากับการแสดงความเป็นไทยพลัดถิ่นของชาวเมืองเกาะกง" โดย อภิลักษณ์ เกษมผลกูล (1) ได้กล่าวไว้ว่า มีหลักฐานในยุครัตนโกสินทร์ปรากฏหลักฐานว่าบ้านเกาะกงเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดตราดในสมัยรัชกาลที่ 1ในสมัยรัชกาลที่ 3 และชาวเกาะกงก็มีส่วนในการช่วยรบและสืบราชการให้แก่กองทัพ เมื่อครั้งที่มีเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพใหญ่ของสยามไปรับกับอันนัมหรือเวียดนาม ในศึก "อานามสยามยุทธ"  ซึ่งการแข่งขันระหว่างสยามและเวียดนามในการควบคุมดินแดนกัมพูชา

ต่อมาในปี พ.ศ. 2398 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ได้ทรงมีพระบรมราชโองการให้ตั้งเกาะกง ขึ้นเป็นเมืองใหม่ ปรากฏในหมายรับสั่งวันอังคาร เดือน 8 ขึ้น 13 ค่ำ ปีเถาะ สัปตศก ดังนี้  

"ขุนสารประเสริฐ รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า เมืองบางนางรมย์นั้น โปรดเกล้าฯ ให้เรียกเมืองประจวบคีรีขันธ์กับที่เกาะกงนั้น โปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่าเมืองปัจจันตคีรีเขตร ให้กรมวัง หมายไปยังกรมพระกลาโหม กรมท่า กรมพระศุภรัตสัสดีซ้ายขวา ให้เรียกชื่อเมืองทั้งสอง ให้ถูกต้องตามรับสั่ง..." พร้อมกันนี้ยังได้ตั้งตำแหน่งเจ้าเมืองให้เป็น “พระพิชัยชลธี” เจ้าเมืองปัจจันตคีรีเขตรด้วย (1)

เราจะเห็นได้ว่าเมืองประจวบคีรีขันธ์กับชื่อเมืองปัจจันตคีรีเขตรเป็นชื่อที่คล้องจองกัน เนนื่องจากเมืองประจวบหรือเมืองบางนางรมนั้นมีแนวละติจูดตรงกับเกาะกง เรียกได้ว่าเป็นคู่แฝดเลยก็ว่าได้ โดยที่เมืองประจวบคีรีขันธ์นั้นมีชายทะเลหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ส่วนปัจจันตคีรีเขตรนั้นมีชายทะเลหันหน้าไปทางทิศตะวันตก

เมืองปัจจันตคีรีเขตรเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรจากป่าไม้และท้องทะเลและยังมีเรือสินค้าเดินทางเข้าออกมากมาย จึงมีการตั้งหน่วยงานดูแลภาษีครอบคลุมจันบูร ตราด และเกาะกงขึ้น แต่เพราะตั้งอยู่ห่างไกลจึงทำให้มีปัญหาเรื่องโจรสลัด "จนทำให้เรือสินค้าแต่ละลำของเมืองปัตจันคีรีเขตรจำเป็นต้องมีอาวุธประจำเรือ เรือทุกลำจำเป็นต้องมีปืนใหญ่ประจำหัวเรือท้ายเรือ ไว้คอยป้องกันและต่อสู้เรือกับเรือโจรสลัด" (1) จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ต้องจัดหน่วยเรือลาดตระเวนคอยรักษาความสงบ

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งกองทหารเรือรักษาความงบเรียบร้อยที่เกาะกงด้วย โดยจัดทหารจากกรุงเทพฯ 14 คน จากเมืองตราด 24 คน จากเมืองแกลง 12 คน รวมเป็น 50 คน แจกปืน เฮนรี่ มาตินี พร้อมกระสุนไว้เตรียมป้องกันเมืองปัจจันตคีรีเขตร พร้อมทั้งเตรียมกำลังไว้ที่แหลมงอบอีก 200 นาย พร้อมจะส่งไปหนุนที่เกาะกง (1)

นี่คือการจัดระเบียบการปกครองเกาะกงโดยรัฐบาลสยามในเวลานั้น แต่แม้จะมีการปกครองดูแลอย่างดี สยามก็ยังไม่พร้อมรับกับการรุกรานของชาติตะวันตก 

เมื่อฝรั่งเศสบีบให้ไทยเสียเกาะกง
ฝรั่งเศสมีเจตนาที่อยากจะครอบครองดินแดนของประเทศสยาม ทั้งในส่วนที่เป็นประเทศราชของสยามคือกัมพูชาและลาว และดินแดนมณฑลของสยามตั้งแต่เดิม จนกระทั่งฝรังเศสและสยามกระทับกระทั่งรุนแรงในวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ทำให้สยามต้องเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และฝรั่งเศสยังได้ยึดเมืองจันทบุรีไว้ในอารักขานานกว่าสิบปีโดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2436

สยามพยายามอยางนักที่จะให้ฝรั่งเศสถอนกำลังออกจากจันบูรหรือจันบุรี จนกระทั่งทั้งสองฝ่ายตกลงทำสัญญาลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2446 คราวนี้ฝรั่งเศสจึงถอนกำลังออกจากจันทบุรี แต่ได้เข้ายึดครองเมืองตราดและบรรดาเกาะทั้งหลายภายใต้แหลมลิงลงไปซึ่งรวมถึงเกาะกูด เรื่อยไปจนถึงเกาะกง หรือเมืองปัจจันตคีรีเขตร ฝ่ายไทยจำต้องมอบเมืองตราดและเมืองประจันตคีรีเขตรให้แก่ฝรั่งเศส ในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2447

เมืองตราดและเมืองเกาะกงตกอยู่ใต้อำนาจของฝรั่งเศส จนถึงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2449 ประเทศสยามและฝรั่งเศสจึงได้มีการตกลงทำหนังสือสัญญาขึ้นอีกฉบับหนึ่งเรียกว่า "หนังสือสัญญาระหว่างสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามกับเปรสสิเดนต์แห่งรีปัปลิคฝรั่งเศส" เนื้อหาของสัญญามีดังนี้ 

ข้อ 1 
รัฐบาลสยามยอมยกดินแดนเมืองพระตะบอง เมืองเสียมราฐกับเมืองศรีโสภณให้แก่กรุงฝรั่งเศสตามข้อกำหนดเขตแดนดังว่าไว้ในข้อ 1 ของสัญญาว่าด้วยปักปันเขตแดนซึ่งติดท้ายสัญญานี้

ข้อ 2 
 รัฐบาลฝรั่งเศสยอมยกดินแดนเมืองด่านซ้ายและเมืองตราดกับทั้งเกาะทั้งหลายซึ่งอยู่ภายใต้แหลมลิงลงไปจนถึงเกาะกูดนั้นให้แก่กรุงสยามตามกำหนดเขตแดนดังว่าไว้ในข้อ 2 ของสัญญาว่าด้วยปักปันเขตแดนดังกล่าวมาแล้ว 

สนธิสัญญานี้ต่อมาข้ออื่นๆ ได้ถูกยกเลิกไป เหลือแต่ข้อ 1 และ 2 ที่ยังมีผลบังคับใช้จนถึงทุกวันนี้ แต่ที่น่าแปลกใจก็คือปรากฏว่าเมืองปัจจันตคิรีเขตร หรือเกาะกง ไม่ได้ถูกเอ่ยถึงในสนธิสัญญา และนั้นฝรั่งเศสมิได้คืนให้ไทยแต่ประการใด แต่สัญญาได้ระบุว่า "เกาะทั้งหลายซึ่งอยู่ภายใต้แหลมลิงลงไปจนถึงเกาะกูดนั้นให้แก่กรุงสยาม" นั่นหมายความว่าดินแดนของสยามสิ้นสุดแค่เกาะกูด ไม่ได้รวมถึงเกาะกง

คนไทยหัวใจแหลกสลายเพราะต้องเสียเกาะกง
ก่อนที่จะเสียเกาะกงไปแบบถาวรนั้น พระยาสุริยานุวัตร เอกอัครราชทูตไทยประจำฝรั่งเศส หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย กราบทูลกรมหลวง เทวะวงศ์วโรปการเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2446 ว่า

“...เป็นการเจ็บหนักเจ็บหนา เหลือที่จะสลบความแค้นลงไว้ได้เจ็บปวดตรงว่า จะเอาทหารไว้นี้เป็นลิ่มสำหรับที่จะตอกเอามณฑลเมืองตราด และเกาะกง แยกออกไปจากอกของเรา...เรื่องเมืองตราดกับจันทบุรี เข้ามาขวางอกอยู่เช่นนี้เหลือสติปัญญา และเหลือกำลังที่จะตกลง ในใจลงได้แท้ๆ ความหนักจ้องหน้าข้าพระพุทธเจ้าอยู่เสมอว่า ถ้าสัญญาตกลงกันไม่ได้ เมืองจันทบุรีและตราดก็พรากจากอกเสียเป็นแน่ เสียดายเมืองตราดที่เป็นเมืองน้อย จะพลอยเสียเมืองจันทบุรีที่เป็นเมืองใหญ่ไปด้วย จะยอมให้เมืองตราดและเกาะกง ก็หักใจลงไม่ได้ เพราะชาวเมืองนั้นเป็นชาติไทยที่แท้ เสมอกันเป็นเลือดเนื้ออันเดียวกัน จะรบกับเขาก็สู้เขาไม่ได้ จะทำอย่างไรดี...”

นี่คือความชอกช้ำของข้าราชการชั้นสูงของไทยที่ตระหนักว่าอาจจะต้องแลกเมืองใดเมืองหนึ่งเพื่อรักษาเมืองอื่นๆ ไว้จากการยึดครองของฝรั่งเศส แม้ว่าเมืองทั้งหมดนี้จะมีพลเมืองเป็นคนไทยก็ตาม ต่างจากการแลกเมืองตราดและเกาะกูดกับเมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ซึ่งเป็นการแลกเมืองที่มีพลเมืองเป็นชาวเขมรส่วนใหญ่กับเมืองที่มีพลเมืองคนไทยเป็นส่วนใหญ่ แต่เกาะกงนั้นมีคนไทยอาศัยอยู่ทั้งนั้น 

ครั้นเสียเมืองเกาะกงไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเสียพระทัยเป็นอย่างมาก ในพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2448 ถึงกรมหลวงดำรงราชานุภาพ ทรงว่า

".. เรื่องจะจัดการปกครองหัวเมืองชายทะเลตวันออก ยกเปนมณฑลจันทบุรีขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง .. แลรวมอำเภอทุ่งใหญ่กับอำเภอขลุง ยกเปนเมืองจัตวาขึ้นอีกเมืองหนึ่ง ให้พระเสนาราชภักดีเปนผู้ว่าราชการเมือง แต่ชื่อเมืองจะเรียกว่าเมืองขลุงหรือเมืองประจันตคีรีเขตร์นั้น ทราบแล้ว การที่จะยกเปนมณฑล ให้พระยาจันทบุรีเปนข้าหลวงนั้น ควรแล้ว ชื่อเมืองจะยกประจันตคีรีเขตร์มาชื่อ ก็คงไม่ซ้ำกับฝรั่งเศส เพราะเขาคงไม่เรียก แต่เขมรบางทีจะเรียกให้เปนเกียรติยศของเขา จะเปนประจันไทย ประจันเขมร เจ็บใจ ให้คงเปนขลุงไปตามเดิมเถิด..."

หมายความว่าหลังเสียเมืองปัตจันคีรีเขตรแล้ว ทรงมีพระราชดำริจะให้ตั้งเมืองเมืองปัตจันคีรีเขตรขึ้นใหม่ในเขตไทยโดยยกเมืองขลุง (อ.ขลุง จ. จันทบุรี) ให้เป็นเมืองปัตจันคีรีเขตรแห่งใหม่ แต่แล้วก็ทรงเจ็บปวดพระทัยที่จะทำเช่นนั้น คงพราะจะเป็นการย้ำเตือนว่าเมืองปัตจันคีรีเขตรตัวจริงได้ตกเป็นของเขมรแล้ว 

ปัจจุบัน เมืองปัตจันคีรีเขตรได้กลายเป็นจังหวัดเกาะกงของกัมพูชา เรียกว่า "แคตเกาะกง"  โดยประชากรส่วนใหญ่ร้อยละ 75 เป็นชาวเขมร ที่เหลือร้อยละ 25 เป็นชาวไทยเกาะกง มีเมืองหลักคือเมืองเขมรภูมินทร์ ซึ่งได้เจ้านโรดม สีหนุได้มอบชื่อให้ แต่ไม่เป็นที่นิยมเรียก เพราะประชาชนส่วนใหญ่นิยมเรียกเมืองหลักนี้ว่า "กรุงเกาะกง"

เมืองปัตจันคีรีเขตรเมืองที่เสียไปแบบงงๆ 
เป็นเรื่องที่น่าแปลกที่ "หนังสือสัญญาระหว่างสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามกับเปรสสิเดนต์แห่งรีปัปลิคฝรั่งเศส" ไม่ได้เอ่ยถึงเกาะกง จึงน่าสงสัยว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้สยามไม่กระตือรือร้นที่จะยืนยันสิทธิ์เหนือเกาะกง? 

สิ่งที่น่าแปลกอีกเรื่องก็คือ เมื่อเกิดกรณีพิพาทอินโดจีน ระหว่าง 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 – 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ระหว่างไทยกับรัฐบาลฝรั่งเศสเขตวีชีเหนือดินแดนอินโดจีนฝรั่งเศส เมื่อมีการทำอนุสัญญาโตเกียวเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ฝรั่งเศสยอมยกยกดินแดนจากกัมพูชาและลาวให้ไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นดินแดนที่ไทยเสียไปในเหตุการณ์ต่างๆ หลังวิกฤตการณ์ รศ. 112 แต่ปรากฏว่าไทยไม่ได้ทวงดินแดนของเมืองปัตจันคีรีเขตรกลับมาด้วย

หลังจากที่กัมพูชาได้รับเอกราชจากอินโดจีนฝรั่งเศสแล้ว เกาะกงก็กลายเป็นดินแดนของกัมพูชาจนถึงทุกวันนี้ โดยที่ไทยก็ไม่ได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะทวงคืนแม้วาจะมีคนไทยในเกาะกงเป็นจำนวนมาก คนไทยเหล่านี้ต้องเผชิญกับการกดขี่จากรัฐบาลกัมพูชาอย่างเลวร้าย ถึงขนาดที่สมัยนโรดม สีหนุเป็นกษัตริย์-รัฐมนตรีอยู่ในขณะนั้นเคยห้ามคนเกาะกงพูดภาษาไทย หากฝ่าฝืนจะถูกตำรวจจับ และบางรายโชคร้ายก็จะถูกฆ่า โดยในสมัยนั้นนายพลลอน นอลที่ทำงานใกล้ชิดกับสีหนุขณะนั้นเคยพูดไว้ว่า "คนไทเกาะกง แม้ว่าจะตายไปสักห้าพันคน ก็ไม่ทำให้แผ่นดินเขมรเอียง" (2)

การกดขี่เหล่านี้ทำให้คนไทยเกาะกงต้องอพยพหนีเข้ามาถึงสี่ระลอก ได้แก่ ระลอกที่หนึ่ง (พ.ศ. 2502–2512) ตรงกับยุคนโรดม สีหนุ ระลอกที่สอง (พ.ศ. 2513–2518) ตรงกับยุคลอน นอล ระลอกที่สาม (พ.ศ. 2518–2520) ในช่วงที่เวียดนามยึดครองกัมพูชา และระลอกที่สี่ (พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา) (3) ปัจจุบันชาวไทยในเกาะกงล้วนมีเครือญาติอยู่ในประเทศไทย นิยมส่งบุตรหลานเข้าเรียนในประเทศไทย และมีจิตสำนึกว่าตนเองเป็นคนไทย (4)

ในงานวิจัย "“พลเมืองเกาะกง”และ “ปัจจันตนคโรปมคาถา” ได้กล่าวถึง ประเสริฐ ศิริ กำนันตำบลหาดเล็ก จ.ตราด ซึ่งเป็นด่านพรมแดนของไทยกับเกาะกงของกัมพูชา ได้คัดลอกคำกลอนมาจากชาวไทยเกาะกง ผู้อพยพหลบภัยสงครามเข้ามาตั้งแต่ ประมาณ พ.ศ. 2518 เมื่อเขมรแดงเข้ายึดเกาะกง เนื้อหาสะท้อนความทุกข์ของคนไทยในเกาะกงหรือเมืองปัตจันคีรีเขตร ไว้ว่า 

อ่าวไทยในอดีตอันรุ่งเรือง 
สองเมืองก่อกำเนิดมาร่วมกัน
ฝั่งขวาคือประจวบคีรีขันธ์ 
ซ้ายนั้นคือประจันต์คีรีเขตร์
เกาะกงตัดขาดได้ตราดคืน 
ชีวิตขมขื่นใต้การกดขี่
ทุกข์ทนทรมานยาวนานร้อยปี 
หมดสิ้นศักดิ์ศรีเสรีสิ้นไป
เราเสียสัญชาติตัดขาดแผ่นดิน 
สูญสิ้นหมดสิ้นแผ่นดินแยกย่อย
ถูกพรากจากกันสัมพันธ์ขาดลอย 
เลือกเข้มเต็มร้อยรอคอยกลับคืน
กรรมนี้ใครก่อเราพอจำได้ 
อยู่เขมรเขาก็ด่าว่าเราเป็นไทย
กลับมาไทยเขาก็หาว่าเป็นเขมร 
เป็นคนเหลือเดนหมดแผ่นดินอาศัย

 อ้างอิง
1. อภิลักษณ์ เกษมผลกูล. “พลเมืองเกาะกง”และ “ปัจจันตนคโรปมคาถา”:วรรณกรรมพุทธศาสนากับการแสดงความเป็นไทยพลัดถิ่นของชาวเมืองเกาะกง. วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. Vol. 16 (2556): ปีที่ 16 ฉบับเดือน มกราคม-ธันวาคม 2556.
2. จรัญ โยบรรยง. รัฐบาลทมิฬ. กรุงเทพฯ : จิตติกานต์, 2528, หน้า 122
3. "ไทยพลัดถิ่น". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). 
4. สุนิดา ศิวปฐมชัย (มกราคม–มิถุนายน 2554). "การศึกษาข้ามแดนไทย-กัมพูชา : ภาระ หรือโอกาส". วารสารภาษาและวัฒนธรรม (30:1), หน้า 69

 

TAGS: #เกาะกง #เกาะกูด #กัมพูชา