เตรียมรับมืออินเทอร์เน็ตล่ม เพราะสงครามในทะเลแดงเป็นเหตุ

เตรียมรับมืออินเทอร์เน็ตล่ม เพราะสงครามในทะเลแดงเป็นเหตุ

เบื้องหลังของสถานการณ์

  • วิกฤตทะเลแดงเป็นความขัดแย้งทางทหารที่กำลังดำเนินอยู่ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เมื่อขบวนการฮูษี (Houthi movement) ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านในเยเมนได้เปิดฉากโจมตีด้วยขีปนาวุธและโดรนติดอาวุธเข้าใส่อิสราเอล
  • ขบวนการฮูษีได้เข้ายึดเรือบรรทุกสินค้าของพลเรือนซึ่งแล่นอยู่ใกล้ชายฝั่งเยเมนหลายครั้ง และอ้างว่าเรือขนส่งใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับอิสราเอลจะเป็นเป้าหมายการโจมตีของกลุ่ม แม้ว่าเรือหลายลำที่ไม่มีความเชื่อมโยงกับอิสราเอลอย่างชัดเจนก็ตาม กลับถูกโจมตีไปด้วย
  • การกระทำของกลุ่มฮูษีในทะเลแดงทำให้เกิดการตอบโต้ทางทหารจากหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้นำปฏิบัติการ Operation Prosperity Guardian เพื่อปกป้องเส้นทางเดินเรือในทะเลแดง ได้ทิ้งระเบิดบริเวณที่กลุ่มฮูตีควบคุมในเยเมน และโจมตีเรือฮูตีในทะเลแดง ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ได้เริ่มลาดตระเวนน่านน้ำใกล้เยเมนโดยดำเนินการกันเอง

เป้าหมายคือนสายสัญญาณเน็ต
1.
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์วิกฤตการในทะเลแดงเริ่มบานปลาย เมื่อสายเคเบิลสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่เดินสายใต้ทะเลผ่านทางทะเลแดงเพื่อเชื่อมต่อยุโรปและเอเชียถูกโจมตีไปด้วย โดยจุดเชื่อมต่อที่ทะเลแดงถือเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญของสายสัญญาณทั่วโลก ดังนั้น วิกฤตครั้งนี้เริ่มที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจออนไลน์มากขึ้นไปทุกที จากเดิมที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโลจิสติก เนื่องจากการโจมตีทำให้เรือสินค้าต้องอ้อมเส้นทางไปแอฟริกาใต้ ทำให้ต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้น และทำให้สินค้ามีราคาแพงขึ้น 

2. เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 มีรายงานความเสียหายต่อสายเคเบิลสื่อสารใต้ทะเลแดง รายงานเบื้องต้นจากแหล่งข่าวในภาคธุรกิจ และข้อมูลจากสื่อมวลชนแอฟริกัน และสื่อมวลชนอิสราเอล เช่น The Jerusalem Post ชี้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเชื่อมโยงกับการโจมตีของกลุ่มฮูษี แต่จากการรายงานของ The Guardian กลุ่มฮูษีปฏิเสธว่าไม่ได้ลงมือ ส่วนบริษัท Seacom ผู้ประกอบการเดินสายเคเบิลสัญญาณโทรคมนาคมในแอฟริกาไม่สามารถยืนยันสาเหตุได้ แต่จากข่าวประชาสัมพันธ์ของ Seacom และ Flag Telecom กล่าวถึงความยากลำบากในการซ่อมแซมเนื่องจากผู้นำฮูษีปฏิเสธการมีส่วนร่วม

3. ต่อมาเมื่อต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 สายเคเบิลใต้น้ำหลายเส้นได้รับความเสียหายในทะเลแดง ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในฮ่องกง HGC Global Communications (HGC) ซึ่งเป็นเจ้าของโดย CK Hutchison Holdings รายงานว่า 1 ใน 4 ของการรับส่งข้อมูลระหว่างเอเชีย ยุโรป และตะวันออกกลางที่ AAE-1 ได้รับผลกระทบ SEACOM รายงานเหตุขัดข้องด้วย ในขณะที่บริษัท HGC และ SEACOM เริ่มเปลี่ยนเส้นทางการรับส่งข้อมูล

4. ตามข้อมูลที่เปิดเผยโดยผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต DE-CIX ของเยอรมนี ระบุว่าสายเคเบิลได้รับความเสียหายหลังจากเรือบรรทุกสินค้าลำหนึ่งที่ถูกยิงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 จากนั้นเรือลอยลำอย่างควบคุมไม่ได้และจมลงพร้อมกับสมอที่ยังล่ามเอาไว้กับเรือเมื่อช่วงต้นเดือน แต่มันยังมีความเสี่ยงที่จริงจัง มากกว่าเรื่องบังเอิญแบบนี้ เพราะเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 รัฐบาลพลัดถิ่นของเยเมนเตือนว่ากลุ่มฮูษีกำลังวางแผนโจมตีสายเคเบิลใต้น้ำ ก่อนหน้านี้กลุ่มฮูษีเคยโจมตีเรือพลเรือนในทะเลแดง แต่ปฏิเสธที่จะรับผิดชอบต่อความเสียหายดังกล่าว

5. เมื่อวันที่ 5 มีนาคม สำนักข่าว AP รายงานว่า มีสายเคเบิล 3 เส้นใต้ทะเลแดงที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตและโทรคมนาคมทั่วโลกถูกตัดขาด (แต่มีรายงานจากบางแหล่งระบุเมื่อวันที่ 6 มีนาคม ว่าอาจจะถูกตัดขาดอย่างน้อย 4 เส้น) แต่อะไรที่ทำให้สายสัญญาณถูกตัดยังไม่ชัดเจน แต่ AP ชี้ว่า "มีความกังวลเกี่ยวกับสายเคเบิลที่จะตกเป็นเป้าหมายในการโจมตีของฮูษี" อย่างไรก็ตาม กลุ่มฮูษีปฏิเสธว่าไม่ได้โจมตีสายสัญญาณ

6. จากข้อมูลของ HGC Global Communications ในฮ่องกงกล่าวว่า สายสัญญาณที่ถูกตัดคือ สาย Asia-Africa-Europe 1, สาย Europe India Gateway, Seacom และสาย TGN-Gulf การตัดสายเคเบิลดังกล่าวส่งผลกระทบต่อ 25% ของการจราจรข้อมูลที่ไหลผ่านทะเลแดง เพราะเส้นทางทะเลแดงมีความสำคัญต่อการเคลื่อนย้ายข้อมูลจากเอเชียไปยังยุโรป โดย 80% ของการจราจรข้อมูลที่มุ่งหน้าไปทางตะวันตกจากเอเชียต้องผ่านสายเคเบิลจุดนี้ แต่ HGC Global Communications ระบุว่าได้เริ่มเปลี่ยนเส้นทางการรับส่งข้อมูลแล้ว

จะเป็นอย่างไรถ้าเน็ตล่มทั่วโลก
จากข้อมูลจาก AtlasVPN ผู้ให้บริการ VPN  หากอินเทอร์เน็ตล่มทั่วโลกแม้แต่วันเดียว จะสูญเงินไปถึง 43,000 ล้านดอลลาร์ โดยสหรัฐฯ  โดยหากอินเทอร์เน็ตขัดข้องเพียงวันเดียว เฉพาะสหรัฐฯ จะต้องสูญเสียเงินจำนวนมหาศาลถึง 11,000 ล้านดอลลาร์ จีนคาดว่าจะสูญเสียเงินเกือบ 10,000 ล้านดอลลาร์ 

จากข้อมูลของ Statista ในกรณีที่เซิร์ฟเวอร์ล่ม มีข้อมูลจากการสำรวจในปี พ.ศ. 2563 (2020)  ผู้ตอบแบบสอบถาม 25% ทั่วโลกรายงานต้นทุนที่ต้องเสียไป หากเกิดภาวะระบบออนไลน์ล่มโดยเฉลี่ยต่อชั่วโมงถ้าเกิดขึ้นกับเซิร์ฟเวอร์ของตนว่าอยู่ระหว่าง 301,000 ถึง 400,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง

Map by Steve Song - https://www.flickr.com/photos/ssong/50154962163/ under CC BY 2.0

TAGS: #อินเทอร์เน็ต #ทะเลแดง #เน็ตล่ม