ตอนที่ 2 ของการเจาะลึกปัญหาจีนเทาที่แพร่มาจากประเทศเพื่อนบ้านแล้วกระทบกับไทย
เมื่อเดือนตุลาคม 2023 สำนักข่าว The Diplomat เผยแพร่บทความชื่อ "โฆษณาชวนเชื่อของกัมพูชา: เล่นบทเหยื่อเพื่อเลี่ยงไม่ต้องเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรม" เนื้อหาหลักๆ ของบทความนี้คือการเปิดโปงความเกี่ยวข้องของผู้มีอิทธิพลทางการเมืองของกัมพูชากับกลุ่มอาชญากรชาวจีน หรือพวก 'จีนเทา' ซึ่งกบดานในกัมพูชา และใช้ประเทศนี้เป็นฐานที่มั่นในการก่ออาชญากรรมกับประเทศเพื่อนบ้านไปจนถึงกับคนจีน
บทความนี้ชี้ให้เห็นว่า "จากหลักฐาน อุตสาหกรรมสแกมเมอร์ของกัมพูชาเริ่มต้นและบรรจบลงที่ชนชั้นปกครอง ที่ยินดีและอำนวยความสะดวกในการอพยพจำนวนมากขององค์อาชญากรรมที่มีความชาญฉลาด ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน ในช่วง 15-20 ปีที่ผ่านมา บุคคลเหล่านี้จำนวนมากได้แปลงสัญชาติเป็นพลเมืองกัมพูชา โดยได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย และเป็นแหล่งรายได้หลักแก่ผู้ปกครอง (ของกัมพูชา)"
การใช้สัญชาติพวกจีนเทาอย่างง่ายดายนี่เอง ที่ทำให้กัมพูชาเป้นแดนสวรรค์ของอาชญากร แต่มันทำให้ชีวิตของผู้คนในประเทศเพื่อนบ้านรวมถึงไทยต้องเจ็บปงวด เพราะถูกแก๊งหลอกลวงในกัมพูชาหลอกลวงเอาเงินไปมหาศาล มิหนำซ้ำอาชญากรเหล่านี้ยังล่อลวงผู้คนจากไทยและเพื่อนบ้านอาเซียนและคนจีน ไปกักขังหน่วงเหนี่ยวและบังคับให้ทำงานรับใช้แก๊งอาชญากรพวกนี้ ทำให้กัมพูชากลายเป็นสวรรค์ของการค้ามนุษย์ไปพร้อมๆ กัน
เรื่องนี้ตอกย้ำจากการเปิดเผยของตำรวจสากล (Interpol) เดือนมิถุนายนปี 2023 มีคนหลายหมื่นคนถูกค้ามนุษย์เข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเริ่มจากกัมพูชาก่อน จากนั้นจึงขยายไปยังเมียนมาและลาว ซึ่งทั้งสามประเทศนี้มีฐานที่มั่นสำคัญของพวกจีนเทา (นั่นคือ เมืองสีหนุวิลล์ของกัมพูชา, แถบ จ.เมียวดีของเมียนมาฝั่งตรงข้ามกับ อ.แม่สอดของไทย, แถบเขตเศรษฐกิจพิเศษในแขวงบ่อเต็นของลาว)
ตำรวจสากลเตือนว่าแนวโน้มของการล่อลวงผู้คนกำลังหนักขึ้นเรื่อยๆ ให้มาทำงานให้กับซ่องโจรเทาที่หลอกลวงผู้คนทางไซเบอร์ และอาจจะทำให้ปัญหานี้ในอาเซียนรุนแรงหนักเข้าจนกระทั่งกลายเป็น “วิกฤตการค้ามนุษย์ระดับโลก”
ในบทสัมภาษณ์ของ New York Times กับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย กลุ่มสิทธิ และเหยื่อที่ได้รับการช่วยเหลือให้รายละเอียดว่า สาเหตุที่อุตสาหกรรมสแกมเมอร์เจริญรุ่งเรืองในกัมพูชา ก็เพราะนักธุรกิจจีนเทาพวกนี้มีอำนาจจากความความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่อาวุโสในรัฐบาลกัมพูชา และภายใต้ระบบอุปถัมภ์นี้ มันช่วยปกป้องซ่องโจรจีนเทาจากการถูกตำรวจสอบสวน
หากไม่ได้นักการเมืองผู้ปกครองประเทศเอื้อให้อาชญากรเข้ามาพร้อมกับคุ้มครองพวกนี้ด้วยการให้สัญชาติกัมพูชา เรื่องแบบนี้คงไม่เกิดขึ้น แม้ว่าทางการกัมพูชาพยายามบ่ายเบี่ยงว่าไม่ได้ให้สัญชาติกับอาชญากร โดยพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล อ้างว่า “ชาวต่างชาติจะต้องผ่านกระบวนการของตำรวจหลายประการก่อนจึงจะได้รับสัญชาติกัมพูชา” และ “พวกเขาได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากตำรวจกัมพูชา เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาเป็นพลเมืองตัวอย่าง และไม่มีประวัติอาชญากรรม”
แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่บุคคลเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับสถานที่ตั้งหรือการดำเนินการที่เกี่ยวข้องการธุรกิจสแกมเมอร์ในกัมพูชา บุคคลเหล่านี้มีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับ "เครืออำนาจฮุน เซน" ซึ่งมีอดีตนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ของกัมพูชาเป็นแกนกลางของเครือข่ายนี้ ซึ่งรวบอำนาจทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจของกัมพูชา
เช่น พัด สุภาภา หรือ "ออกญา ลี ยงพัด" เป็นสมาชิกวุฒิสภาและนักธุรกิจชาวกัมพูชาเชื้อสายจีนและไทยเกาะกง เป็นเจ้าของบริษัทแอลวายพีกรุป (LYP Group) อันเป็นบริษัทขนาดใหญ่ของกัมพูชา ซึ่งดำเนินธุรกิจหลากหลาย ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ นิคมอุตสาหกรรม บ่อนกาสิโน ยาสูบ พลังงานไฟฟ้า และการท่องเที่ยว ฐานที่มั่นหลักของเขาอยู่ที่จังหวัดเกาะกง (ติดกับ จ.ตราดของไทย)เดิมเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศกัมพูชา ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาของ ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน รวมทั้งมีความสัมพันธ์อันดีกับทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย
แต่ พัด สุภาภา ถูกกล่าวหาว่ามีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจสแกมเมอร์ออนไลน์และความผิดอื่นๆ ล่าสุด คือเมื่อเดือนเมษายน 2023 ชายชาวเวียดนามวัย 23 ปีคนหนึ่งได้หลบหนีออกจากอาคารสีขาวในจังหวัดเกาะกงของกัมพูชา โดยบอกตำรวจว่าเขาถูกควบคุมตัวและได้รับคำสั่งให้ทำงานตั้งแต่เวลา 17.30 น. ถึง 11.00 น. ทุกวัน ต่อมา ทางการได้ช่วยเหลือชาวต่างชาติ 17 คนจากอินเดีย จีน สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย จากบริเวณที่เป็นของบริษัทของ พัด สุภาภา
ต่อมาในเดือนธันวาคม 2023 มีรายงานจาก The Diplomat ว่ามีการปิดทบริการ O’Smach Resort ที่ด่านโอเสม็ด จ.อุดรเมียนเจย ทางตอนเหนือของกัมพูชาติดกับ จ.สุรินทร์ ของไทย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายที่หลากหลาย รวมถึงการค้ามนุษย์ การหลอกลวงทางออนไลน์ และอาชญากรรมอื่นๆ ซึ่งที่นี่เป็นธุรกิจของ พัด สุภาภา เช่นกัน แต่ถึงขนาดนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานที่เชื่อมโยงโดยตรงระหว่าง พัด สุภาภา กับธุรกิจสแกมเมอร์ และเขาก็ยังเป็นผู้ทรงอิทธิพลคนสำคัญในเครือข่ายของฮุน เซนต่อไป
คงไม่ต้องถามว่าทำไม ตัวอย่างคือจากการรายงานของ New York Times พลตํารวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล หรือ 'บิ๊กโจ๊ก' รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติของไทย "กล่าวหาตำรวจกัมพูชาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการหลอกลวงทางออนไลน์ของประเทศ และไม่ดำเนินการเพียงพอที่จะเอาผิดกับเจ้าหน้า"
New York Times เผยว่า ตอนที่ 'บิ๊กโจ๊ก' เดินทางมาช่วยคนไทยที่ถูกกักไว้ที่อาคารแห่งหนึ่งในเมืองสีหนุวิลล์ พลตํารวจเอก สุรเชษฐ์ได้ทราบมาว่าเหยื่ออยู่บนชั้น 7, 8 และ 9 ของอาคารโรงแรมแห่งหนึ่ง "แต่ในวันที่เกิดเหตุ เขาได้รับแจ้งเบาะแสจากผู้ให้ข้อมูลว่าทางการกัมพูชาได้เคลื่อนย้ายคนงานแล้ว"
พลตํารวจเอก สุรเชษฐ์ จึงเผชิญหน้ากับ นาต สาเวือน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติของกัมพูชา (ตั้งแต่ปี 2008 - 2023) โดยกล่าวหาว่าเขาพยายามขัดขวางปฏิบัติการ แต่ เนต สาเวือน บอกแค่ว่าเจ้าของโรงแรมไม่ให้ความร่วมมือ
เนต สาเวือน ก็เป็นหนึ่งในคีย์แมนของเครือข่ายอำนาจฮุน เซน ปัจจุบันเขาได้รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลฮุน มาเนต และมีศักดิ์เป็นหลานเขยของ ฮุน เซน เพราะแต่งงานกับ ฮุน กิมเลง หลานสาวของ ฮุน เซน
ประเด็นก็คือเขาไม่เพียงดูเหมือนจะคอยอุ้มธุรกิจสีเทาที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายอำนาจของตน ตัวของ เนต สาเวือน เองก็มีปัญหา เพราะ Human Rights Watch กล่าวหาว่าเขาเป็นหนึ่งในนายพล "สกปรก" นับสิบคน (Dirty Dozen) ของกัมพูชา โดยถูกกล่าวหาว่าทำการทรมานและการประหารชีวิตโดยพลการ
นอกจากการช่วยเหลือกันของเครือข่ายอำนาจฮุน เซนแล้ว ผู้มีอำนาจในกัมพูชายังควบคุมสื่อในกำมือ The Diplomat ชี้ว่า สื่อในกัมพูชาโดยเฉพาะสื่อภาษาอังกฤษจะช่วยแก้ต่างให้คนของรัฐบาลเวลาที่ถูกตีแผ่ความเกี่ยวข้องกับธุรกิจสแกมเมอร์ โดยสื่อกัมพูชาพวกนี้จะกล่าวหาว่าการเปิดเผยเรื่องสแกมเมอร์ คือ "ข่าวปลอม” เพื่อให้นักท่องเที่ยวไม่กล้ามาที่กัมพูชา และอ้างว่าชาติตะวันตกพยายามสั่นคลอนเสถียรภาพของกัมพูชา และท้ายที่สุดจะพยายามแก้ตัวว่าเป็นความผิดของคนต่างชาติ ส่วนพวกผู้มีอำนาจในกัมพูชาไม่เกี่ยวกับพวกจีนเทาทั้งๆ ที่มีข้อมูลในระดับที่โยงใยความสัมพันธ์นี้
การใช้สื่อบิดเบือนในลักษณะ ทำให้ The Diplomat ถึงกับกล่าวว่าการกระทำนี้เป็นเพราะ "นักข่าว" ที่ผ่านการฝึกงานมาแบบชุ่ยๆ และไร้หลักการซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างคาดเดาได้ (คนพวกนี้) ทำการปกป้องเจ้านายที่ฉ้อฉลของพวกเขาเมื่อเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์จากต่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้"
นี่คือตัวอย่างของการอุ้มชูธุรกิจจีนเทาของคนใหญ่คนโตในกัมพูชา หากรัฐบาลไทยยังไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้ คนไทยก็ต้องรับกรรมกันไปเรื่อยๆ
โปรดทราบว่า คนไทยเถูกมิจฉาชีพหลอกโอนเงินมากเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย และมากเป็นอันดับ 6 ของโลก (ข้อมูลจาก KResearch Center) สถิตินี้สะท้อนสิ่งที่รายนี้กำลังบอก นั่นคือ ไทยยังไม่สำเร๋จในการทำให้เพื่อนบ้านแก้ปัญหานี้
แต่ปัญหานี้ก็แก้ไม่ได้ง่ายๆ เพราะตัวการสำคัญไม่เคยโดนจับเลย มีแต่การจับพวกตัวเล็กตัวน้อยในกัมพูชา ที่ไม่ช่วยให้ปัญหาบรรเทาลง
ไม่น่าแปลกใจที่กัมพูชาจะเป็นประเทศที่ฉ้อฉล (most corrupt) มากสุดในภูมิภาคจากการจัดอันดับของ Corruption Perceptions Index (CPI) เมื่อปี 2021
สิ่งเดียวที่ช่วยกัมพูชาให้หลุดจากตำแหน่งฉ้อฉลที่สุดในอาเซียนได้ก็คือ เพราะเมียนมาในอันดับที่สองของปีนั้น ต่อมาได้เกิดรัฐประหารขึ้น
Photo - ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลในกัมพูชานอกสถานที่จัดการประชุมสุดยอดออสเตรเลีย-อาเซียน ที่เมืองเมลเบิร์น เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 (ภาพโดย Martin KEEP / AFP)