ศึกชิงมรดกโลก เพื่อนบ้านต้องสะเทือน เมื่อนายกฯ ไทยเดินสายโชว์ผ้าข้าวม้า กัมพูชาอาจถึงขั้นอกแตกตาย
มีคนสงสัยกันเยอะเหลือเกินว่า อะไรดลใจให้ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีถึงได้เอาผ้าข้าวม้าไปคล้องคอได้ทุกวันระหว่างเดินทางเยือนประเทศต่างๆ
เห็นตั้งแต่ตอนไปร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย ที่เมืองเมลเบิร์น จากนั้นบินข้ามโลกไปร่วมงาน ITB Berlin 2024 ที่เยอรมนีก็ยังมีผ้าข้าวม้าพันอยู่ที่คอ จนล่าสุดไปฝรั่งก็ยังคล้องผ้าข้าวม้าทุกวัน ไม่เว้นแม้แต่วันที่ไปพบกับผู้นำฝรั่งเศส
คุณเศรษฐาอธิบายชัดว่าทำไมถึงมาหลงใหลอะไรกับผ้าข้าวมาเอาตอนนี้ เหตุผลก็คือ ต้องการโปรโมทผลิตภัณฑ์ของคนไทยนั่นเอง
นายกฯ บอกไว้ตอนที่ไปพบกับเจ้าของกลุ่ม LVMH ว่า "คิดไว้ตั้งแต่ตอนลงพื้นที่ไปภาคอีสาน และภาคใต้ ว่าอยากเอาผ้าไทยและวัตถุดิบอื่น ๆ ของไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อย่าง ผ้าครามสกล ผ้าขาวม้า อัญมณีไทย เครื่องจักรสาน และเครื่องหอมไทย มานำเสนอเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าของแบรนด์ดัง ผมจึงตั้งใจใส่ผ้าขาวม้า จ.นครพนม เป็นผ้าพันคอ มาพบเพื่อแลกเปลี่ยนพูดคุยถึงเทรนด์ดีไซน์ระดับโลกกับเอกชนรายใหญ่ของอุตสาหกรรมแฟชั่นฝรั่งเศสครับ"
กลุ่ม LVMH เป็นเจ้าของแบรนด์เนมดังๆ ของโลกถึง 75 แบรนด์ จึงเป็นผู้ทรงอิทธิพลที่แท้จริงของโลกแฟชั่น และนายกฯ เศรษฐาก็มีโอกาสได้พบกับเจ้าของเครือนี้โดยตรง คือ แบร์นาร์ด อักโนลด์ (Bernard Arnault) รวมถึงลูกชายคือ เฟรเดริก อักโนลด์ (Frédéric Arnault) ที่มีข่าวว่ากำลังคบหากับ ‘ลิซ่า BLACKPINK’
อยากรู้ว่ากลุ่มนี้ยิ่งใหญ่แค่ไหน โปรดติดตามได้ในรายงานเจาะลึก "ชายหนุ่มคนนั้นของ'ลิซ่า' จับตา Frédéric Arnault และอนาคตอาณาจักรแบรนด์เนม LVMH"
ถ้าผ้าข้าวม้าและวัตถุดิบแฟชั่นอื่นๆ ของไทยอยู่ในความสนใจของวงการแฟชั่นโลก ก็มีโอกาสที่พี่น้องคนไทยก็จะได้มีกินมีใช้ ได้ภาคภูมิใจกับผลงานตัวเอง
แต่เรื่องเงินก็เรื่องหนึ่ง เรื่องที่สำคัญมากอีกเรื่องคือการทำให้ "ของๆ ไทย" ได้รับการยอมรับจากชาวโลก ในฐานะ "ซอฟต์เพาเวอร์"
เพราะถ้ามันเป็นซอฟต์เพาเวอร์แล้ว คนไทยจะหากินกับมันได้นานๆ ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกใครช่วงชิงไปได้
เรื่องนี้สำคัญกว่าเงิน เพราะถ้าหากผ้าขาวม้าของไทยและหัตถกรรมของไทยถูกเข้าใจผิดว่าไม่ใช่ของไทย ต่อให้นายกฯ ไทยใส่ผ้าข้าวม้าทั้งตัวเพื่ออวดชาวโลก มันก็เปล่าประโยชน์
ถามว่าทำไมต้องกังวลขนาดนั้น? ตอบว่าไม่ให้กังวลได้ยังไง ก็พื่อนบ้านที่น่ารักของไทยกำลังจะอ้างความเป็นเจ้าของผ้าขาวม้าอยู่น่ะสิ
เพื่อนบ้านนั้นก็คือกัมพูชา ซึ่งตอนนี้ถูกคนไทยแซวกันว่าเป็น "เคลมโบเดีย" เพราะคนบ้านเมืองนี้มักจะอ้างความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ (เคลม) ในทุกสิ่งที่ไทยเป็นเจ้าของ ตั้งแต่นาฏศิลป์ไทย, มวยไทย, อาหารไทย, ชุดไทย และอีก ฯลฯ ทั้งหมดนี้ ล้วนถูกคนเขมรอ้างว่าพวกเขาเป็นเจ้าของตัวจริง ส่วนไทยนั้น "ก๊อปปี้" ไปจากพวกเขา
ไทยจะก็อปปี้ได้อย่างไร ในเมื่อกัมพูชาเคยเป็นประเทศราชชองไทยมาก่อน กษัตริย์กัมพูชาก็ได้รับการแต่งตั้งมาจาก "สมเด็จพระจักรพรรดิราช" ที่กรุงเทพฯ คือตั้งแต่สมัยในหลวงรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 ส่วนศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ก็ถ่ายทอดไปจากกรุงเทพฯ
นี่จึงเป็นเรื่องตลกร้ายที่สุด ที่อยู่ๆ ผู้รับวัฒนธรรมกลายเป็นคนบอกเจ้าของวัฒนธรรมว่า "ข้านี่แหละเจ้าของตัวจริง"
การเคลมมันเลวร้ายถึงขนาดที่ว่า กัมพูชายื่นเรื่องต่อยูเนสโกให้ขึ้นทะเบียนการละเล่นบางอย่างของพวกเขาให้เป็นมรดกโลก ทั้งๆ ที่ศิลปะเหล่านั้นได้รับการถ่ายทอดจากคนไทย
เมื่อปีที่แล้วนี่เอง รัฐบาลกัมพูชาเตรียมที่จะยื่นต่อยูเนสโกเพื่อให้รับรองว่า "ผ้าขาวม้า" ของพวกเขาเป็นมรดกโลก
ผ้าขาวม้าในภาษากัมพูชาเรียกว่า "กรอมา" เขียนว่า "กรมา" (ក្រមា) ฟังแล้วคล้ายภาษาไทยที่นอกจากจะเรียกว่า "ผ้าขาวม้า" แล้วยังเรียกว่า "ผ้าขะม้า" ด้วย แถมรูปร่างหน้าตาก็คล้ายกันอีก
ถามว่าไทยหรือเขมรเป็นต้นแบบ? เรื่องนี้ต้องไปดูที่มาของคำ
ในภาษาไทยคำว่าขาวม้าหรือขะม้า (ว่ากันว่า) มาจากภาษาเปอร์เซียนว่า "คะมาร์ บันด์" (Kamarband/کمربند) คะมาร์ (کَمَر) แปลว่าเอว บันด์ (بند) แปลว่า พันหรือพันธะคือผูก รวมแล้วแปลว่า ผ้าผูกเอวหรือเคียนเอว
ปัจจุบันคำนี้ในภาษาเปอร์เซียหรือภาษาของคนอิหร่าน ใช้ในความหมายว่าเข็มขัด (เพราะเอาไว้เคียนเอว) แต่คำๆ นี้ยังถูกยืมไปใช้ในประเทศอื่นโดยมีความหมายแบบเดิมคือผ้าพันเอว เช่นคำว่า Cummerbund ในภาษาอังกฤษ
โปรดทราบว่าไทยกับเปอร์เซียมีความใกล้ชิดกันในทางวัฒนธรรม ทั้งศิลปะ การแต่งกาย ไปจนถึงอาหารของไทยได้รับอิทธิพลจากเปอร์เซียมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เพราะสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงโปรดวัฒนธรรมเปอร์เซีย จะทรงเครื่องแบบแขกเปอร์เซียน และเสวยอาหารเปอร์เซียน
เรื่องนี้บันทึกไว้ในหนังสือ "สำเภากษัตริย์สุลัยมาน" (Safine-ye Solayman) ซึ่งเป็นบันทึกของทูตเปอร์เซียที่เดินทางมายังอยุธยาในสมัยนั้น
มาที่ภาษาเขมรคำว่า กรอมา หรือ กรมา เป็นคำที่ไม่มีความหมายในตัวมันเอง เพราะแยกคำออกมาแล้ว ทั้ง กรอ และ มา ไม่เกิดความหมายที่สะท้อนถึงผ้านุ่งหรือผ้าเคียนเอวได้เลย
ดังนั้น น่าจะชัดแล้วว่า "กรมา" มาจากคำว่า "ขะม้า" ซึ่งไทยรับมาจากคำว่า "คะมาร์" ของเปอร์เซีย ส่วนคำว่า "ขาวม้า" น่าจะเพี้ยนมาจาก "ขะม้า" นั่นเอง เพราะไม่มีความหมายชัดเจน ส่วนขะม้านั้นชัดเจนว่ามาจากคำว่าคะมาร์
ถามว่าเขมรรับจากเปอร์เซียนได้ไหม? ขอตอบในฐานะนักค้นคว้าทางประวัติว่า ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะเขมรกับแขกเปอร์เซียไม่เคยพบกัน และเขมรยุคอยุธยานั้นเป็น "ยุคมืด" เพราะรบกันเองบ้าง เป็นเมืองขึ้นอยุธยา หรือเวียดนามบ้าง เรียกว่าเขมรเวลานั้นไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้
คงจะชัดแล้วว่าผ้าขาวม้าเป็นของไทย แต่ไทยไม่เคยหวงใคร แบ่งปันให้ชาติอื่นได้ใช้และเรียกแบบไทยเพราะความใจกว้าง
อันที่จริงแล้วไทย ลาว พม่า มอญ และเวียดนามมีผ้าที่คล้ายกันแบบนี้หมด เพียงแต่เรียกต่างกันไป แต่ละชาติต่างคนต่างใช้ ไม่เห็นมีใครพยายามจะฉกมาเป็นเจ้าของคนเดียว
ปกติแล้วอะไรที่มันเป็นของพื้นๆ บ้านๆ ที่ประชาชนหลายประเทศมีใช้ร่วมกันแบบนี้เขาจะไม่เอาไปจดทะเบียนแสดงความเป็นเจ้าของกับยูเนสโก เพราะมันเรื่อง "ใจแคบ" และเอาแต่ได้ แต่เพื่อนบ้านเราเป็นแบบนั้นจริงๆ
ดังนั้น เพื่อปกป้อง "ความเป็นไทย" จากการถูกอ้างกรรมสิทธิ์แบบมั่วๆ ของเพ่อนบ้าน ไทยจึงเสนอให้จดทะเบียนสิ่งสำคัญของไทยหลายอย่างแล้ว เพื่อกันไม่ให้เพื่อนบ้านช่างลอกเอาไปโพนทะนากับคนอื่นว่า "ของๆ เราต่างหาก"
ดังนั้น การที่นายกฯ เศรษฐาใส่ผ้าขะม้าทุกวันให้ชาวโลกได้เห็นจึงเป็นเรื่องน่าชื่นชม แม้ว่าท่านนายกฯ จะคิดไม่เหมือนผม แต่ผมคิดว่ามันมีผลพลอยได้ในเรื่องช่วยปกป้องของๆ ไทยไมได้ถูกข้างบ้านเคลม
ใครที่บอกว่าผ้าขาวม้า "เป็นวัฒนธรรมร่วม" แล้วให้แบ่งๆ กันใช้ไป โปรดอย่าไปเชื่อ เพราะถึงในโลกวิชาการมันจะเป็นของร่วมกัน แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงที่ผู้คนต้องกินต้องใช้ มันไม่มีอะไรร่วมกันหรอกครับ
ยิ่งยุคนี้ เพื่อนบ้านทำตัวไม่น่ารัก คิดเอาแต่ได้อย่างเดียว เรามัวแต่คิดหล่อๆ ว่าวัฒนธรรมร่วม เกรงว่าในอนาคตวัฒนธรรมไทย (และซอฟต์เพาเวอร์ไทย) จะไม่เหลือกิน เพราะถูกเคลมเอาไปหมด
ถ้าวันหนึ่งกัมพูชาป่าวประกาศต่อชาวโลกว่า "ผ้าขาวม้าเป็นของเรา ไทยขโมยไป" วันนั้นคำว่า "วัฒนธรรมร่วม" มันจะมีประโยชน์อยู่หรือ? ถึงวันนั้นคนไทยจะหากินกับผ้าขาวม้าลำบาก ลูกหลานของเราอาจถึงขั้นสับสนว่า "นี่เรากำลังใส่ผ้าเขมรหรือเปล่าหนอ?"
ผมคิดว่ารัฐบาลไทยทำถูกแล้วที่รีบทำให้ชาวโลกเห็นว่าอะไรเป็นของไทย แล้วยังผลักดันให้มันถูกใช้จริงๆ โดยแบรนด์แฟชั่นดังๆ การทำแบบนั้นทำให้ชาวโลกจะซึมซาบอย่างเป็นธรรมชาติว่า "อ้อ นี่ของไทยนี่นา"
ผมไม่ได้เชียร์นายกฯ แต่การที่คุณเศรษฐาอยู่กับผ้าขาวม้าบ่อยๆ ทันทำให้เกิดภาพจำที่ดี แม้บางคนจะว่าท่านใส่แล้วดูเคอะเขิน ไม่ค่อยจะเท่ แต่ผมว่า เอาความเท่ไว้ทีหลังเถิดครับ เอาให้ชาวโลกรู้จักของเราไว้ก่อน
Brand awareness แบบนี้ มันมีพลังมากมายมหาศาลยิ่งนัก
เหมือนครั้งหนึ่ง รายการทีวีในสหรัฐฯ เชิญร้านอาหารเขมรไปอวดฝีมือ ปรากฏว่าร้านนั้นทำอาหารไทยเข้าไปด้วยเนียนๆ พอพิธีกรชาวอเมริกันเห็นก็ทักว่า "มันอาหารไทยนี่นา"
เล่นเอาพ่อครัวเขมรไม่รู้จะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน
บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better
Photo - เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พบปะกับ นิโกลา อูซ (Nicolas Houze) General Director ของห้างสรรพสินค้า Galeries Lafayette ในกรุงปารีส โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าการพบปะกันครั้งนี้ได้ "หาโอกาสส่งเสริมนักออกแบบรุ่นใหม่ของไทยให้ได้แสดงศักยภาพโดยการนำเอาสินค้ามาแสดงที่ห้างนี้ ซึ่งจะเป็นการช่วยโฆษณาสินค้าไทย ศิลปวัฒนธรรมไทยผ่านผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ด้วย ทางผู้บริหารให้ความมั่นใจกับผมว่าจะดำเนินการในการพิจารณาเรื่องนี้ให้อย่างเร่งด่วนเลยครับ" (ภาพจาก เศรษฐา ทวีสิน - Srettha Thavisin/Facebook)