เบื้องหลังสถานการณ์
- เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2024 เมื่อถูกถามโดยผู้สื่อข่าวของสถานีโทรทัศน์และสำนักข่าว Rossiya-1 ว่ารัสเซียพร้อมสำหรับสงครามนิวเคลียร์จริงๆ หรือไม่ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน กล่าวว่า “จากมุมมองด้านเทคนิคการทหาร แน่นอนว่าเราพร้อมแล้ว”
- ปูติน ยังกล่าวว่า อาวุธนิวเคลียร์แบบไตรภาคี (Nuclear triad) ของรัสเซีย ซึ่งหมายถึงนิวเคลียร์ที่ยิงจากทางบก ทางทะเล และทางอากาศ มีความก้าวหน้าและทันสมัยกว่าอาวุธในสหรัฐฯ มาก
- “(อาวุธ) Triad ของเรา คือนิวเคลียร์ Triad มีความทันสมัยกว่า Triad อื่นๆ มีเพียงเราและพวกอเมริกันเท่านั้นที่มีกลุ่ม Triad ดังกล่าว และเราได้ก้าวหน้าอย่างมากในแง่นี้” ปูตินกล่าวในการให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์ของรัฐ
- ทั้งนี้ ความกังวลเกี่ยวกับสงครามเริ่มเพิ่มมากขึ้น ระหว่างการรุกรานยูเครนของรัสเซีย นักการเมืองอาวุโสของรัสเซียหลายคน รวมถึงประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน อดีตประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีดมิทรี เมดเวเดฟ และรัฐมนตรีต่างประเทศ เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ ได้ออกแถลงการณ์หลายฉบับที่ถูกมองว่าเป็นการขู่ที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์
ตกลงรัสเซียเหนือกว่าจริงหรือ?
ข้อมูลเบื้องต้นจากการประมาณการจากสหพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน (Federation of American Scientists) อัปเดตล่าสุดในเดือนมกราคม 2023 ระบุว่า หัวรบนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ มีจำนวน 5,244 หัวรบ ใช้ประจำการ 1,770 หัวรบ ส่วนหัวรบนิวเคลียร์ของรัสเซียมีจำนวน 5,889 หัวรบ ใช้ประจำการ 1,674 หัวรบ ทั้งสองประเทศเป็นหัวรบประเภท Triad จากข้อมูลนี้ เห็นได้ชัดว่าอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียมีจำนวนมากกว่า แต่นำออกมาประจำการน้อยกว่าสหรัฐฯ เล็กน้อย
ที่น่าสนใจอีกอย่างจากข้อมูลของสหพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกันก็คือ คลังแสงของรัสเซียมีขนาดเพิ่มขึ้น ในขณะที่สหรัฐฯ กำลังหดตัวลง ที่น่าจับตาก็คือ รัสเซียยังทำการทดลองอาวุธนิวเคลียร์แบบใหม่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และมีแสนยานุภาพที่น่าตกใจ ซึ่งในเรื่องนี้ทำให้หวนนึกถึงเมื่อครั้งที่รัสเซียเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ในยุคนั้นมีการทดลองอาวุธทำลายล้างรุนแรงแบบใหม่ที่โลกไม่เคยพบมาก่อน คือ Tsar Bomba เป็นวัตถุระเบิดที่ทรงพลังที่สุดเท่าที่มนุษย์ทำการระเบิดโดยพลังการทำลายตามทฤษฎีที่ 100 เมกะตัน
อาวุธนิวเคลียร์แบบใหม่ที่รัสเซียทำการทดลองนั้น มีข้อมูลปรากฏในปี 2015 ว่ารัสเซียอาจกำลังพัฒนาตอร์ปิโดนิวเคลียร์ใหม่ นั่นคือ Status-6 Ocean Multipurpose System อาวุธนี้ได้รับการออกแบบเพื่อสร้างคลื่นสึนามิที่สูงถึง 500 เมตร ซึ่งจะทำให้ชายฝั่งศัตรูปนเปื้อนไปด้วยกัมมันตภาพรังสีจากโคบอลต์-60 เป็นบริเวณกว้างบน ระบบนี้ยังพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้สามารถต้านทานต่อระบบป้องกันขีปนาวุธ เช่น อาวุธเลเซอร์และปืนรางไฟฟ้าที่อาจยิงเข้ามาสกัดกั้นการใช้งานหัวรบนิวเคลียร์ได้ก่อนจะถึงเป้าหมาย
มีข้อมูลบางแห่ง เช่น จากสถาบัน Brookings Institution ระบุว่า Status-6 ดูเหมือนว่าจะเป็นเรือดำน้ำขนาดเล็กที่บังคับด้วยระบบหุ่นยนต์มีรูปร่างเป็นตอร์ปิโด ที่สามารถเดินทางด้วยความเร็ว 185 กม./ชม. (100 kn) ข้อมูลล่าสุดระบุความเร็วสูงสุดที่ 100 กม./ชม. (54 kn) โดยมีพิสัย 10,000 กม. (6,200 ไมล์) และความลึกสูงสุด 1,000 ม. (3,300 ฟุต) โดรนใต้น้ำนี้ใช้เทคโนโลยีอำพรางตัวเพื่อหลบเลี่ยงอุปกรณ์ติดตามเสียง ในเวลาต่อมา วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย กล่าวถึงตอร์ปิโดใต้น้ำที่ขับเคลื่อนด้วยนิวเคลียร์ที่มีพิสัยยิงไม่จำกัด
รัสเซียขู่ที่จะใช้นิวเคลียร์บ่อยครั้ง
1. การข่มขู่รุนแรงขึ้นหลังการรุกรานยูเครน เริ่มจากเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2022 หรือ 4 วันหลังจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ประธานาธิบดีปูตินได้สั่งให้กองกำลังนิวเคลียร์ของรัสเซียอยู่ในสถานะ "รับหน้าที่การต่อสู้พิเศษ" ซึ่งเป็นสถานะที่มีการเตือนภัยขั้นสูง หลังจากนั้น ก็มีการแสดงท่าทีข่มขู่แบบนี้หลายครั้งในปีดังกล่าว เช่น ในเดือนเมษายน ปูตินประกาศในสภานิติบัญญัติหลักของรัสเซียว่ารัสเซียจะตอบโต้ต่อการยั่วยุทางทหารใดๆ ก็ตามในทันที (จากนอกยูเครน) โดยใช้คลังอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซีย
2. ในปีต่อมา เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2023 เวียเชสลาฟ โวโลดิน ประธานรัฐสภารัสเซียโพสต์ในแอป Telegram ว่า "หากรัฐบาลสหรัฐและประเทศนาโตจัดหาอาวุธที่จะใช้โจมตีเมืองพลเรือนและพยายามยึดดินแดนของเราอย่างที่พวกเขาข่มขู่ เรื่องนี้จะนำไปสู่การตอบโต้ มาตรการการใช้อาวุธที่ทรงพลังยิ่งขึ้น” และบอกว่า "ที่อ้างกันว่าว่ามหาอำนาจนิวเคลียร์ไม่เคยใช้อาวุธทำลายล้างสูงมาก่อนในความขัดแย้งในท้องถิ่นนั้นไม่ใช้เหตุผลที่จะนำมาใช้ได้ เพราะรัฐเหล่านี้ไม่ได้เผชิญกับสถานการณ์ที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของพลเมืองและบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศ"
3. เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2024 ในระหว่างการปราศรัยประจำปีของประธานาธิบดีต่อสมัชชาสหพันธรัฐ ปูตินเตือนว่าการแทรกแซงโดยตรงของชาติตะวันตกในสงครามกับยูเครน จะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ปูติน กล่าวว่า "เรา [รัสเซีย] ก็มีอาวุธที่สามารถโจมตีเป้าหมายในดินแดนของพวกเขาได้ และสิ่งที่พวกเขากำลังแสดงท่าทีบ่งบอกและทำให้โลกหวาดกลัว ทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดภัยคุกคามที่แท้จริงของความขัดแย้งทางนิวเคลียร์ที่จะหมายถึงการทำลายล้างอารยธรรมของเรา ”
ปูตินพร้อมที่จะใช้นิวเคลียร์แค่ไหน?
จากการวิเคราะห์ของ แกรฮ์ม แอลิสัน (Graham Allison) นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันและศาสตราจารย์ด้านรัฐบาลประจำมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้เขียนบทความในนิตยสาร Time เขาชี้ถึงโอกาสที่ ปูติน จะใช้อาวุธนิวเคลีย์เอาไว้ 7 ข้อ ซึ่งแต่ละข้อเป็นสมติฐานที่บ่งว่าปูตินอาจจะหรืออาจจะไม่ก่อสงครามนิวเคลียร์ด้วยเหตุผลต่างๆ โดยสรุปมีดังนี้
(1) สำหรับปูตินแล้ว มีเหตุผลโดยพื้นฐานที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ในวงจำกัด โดยยึดตามแบบอย่างทางประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
(2) ปูตินได้ประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการตอบโต้ของอเมริกาหากมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งการตอบโต้นั้นจะก่อให้เกิด “ผลที่ตามมาที่เป็นหายนะ” ต่อรัสเซีย
(3) ปูตินอาจจะใช้นิวเคลียร์ หากยูเครนประสบความสำเร็จในการต้านทานการรุกรานของรัสเซีย ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ทำให้เขาเสียหน้าจนต้องตอบโต้อย่างรุนแรง
(4) ปูตินพิจารณาว่าเป็นเรื่องสมเหตุสมผลทางการเมืองที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อน โดยยึดตามหลักการทหารของรัสเซียที่เรียกว่า "ยกระดับเพื่อยหุดการยกระดับ" เพื่อที่จะสกัดกองกำลังฝ่ายตรงข้าม
(5) ปูตินตระหนักถึงคำยืนยันของไบเดนที่ว่ากองกำลังสหรัฐฯ "จะไม่ต่อสู้กับสงครามโลกครั้งที่สามเพื่อยูเครน"
(6) ปูตินทราบดีถึง "หลักการของเรแกน" (Reagan Doctrine) ที่ว่า "สงครามนิวเคลียร์ไม่อาจมีผลชนะได้ และจะต้องไม่มีวันต่อสู้กัน" และทราบว่านี่คือหลักการของรัฐบาลสหรัฐฯ
(7) ปูตินยังตระหนักถึงหลักการที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็นที่ว่า ศัตรูของสหภาพโซเวียต (หรือรัสเซีย) จะต้องพบกับ "ความพยายามอันมุ่งมั่น" ของกองกำลังทหารสหรัฐฯ เมื่อฝ่ายรัสเซียทำการโจมตี