เปิดประวัติอาณาจักรที่สาบสูญริมแม่น้ำโขง 'สุวรรณโคมคำ' แหล่งพบสมบัติล้ำค่าที่ลาว

เปิดประวัติอาณาจักรที่สาบสูญริมแม่น้ำโขง 'สุวรรณโคมคำ' แหล่งพบสมบัติล้ำค่าที่ลาว

จากข่าวที่มีการค้นพบพระพุทธรูปโบราณจำนวนมากที่ริมแม่น้ำโขงบริเวณบ้านต้นผึ้ง เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว ได้มีกระแสคาดการณ์กันว่าพระพุทธรูปดังกล่าวน่าจะเป็นของสมัยอาณาจักรสุวรรณโคมคำ ซึ่งเชื่อกันว่าตั้งอยู่ที่บริเวณเมืองต้นผึ้ง ซึ่งทุกวันนี้ยังปรากฏโบราณสถานมากมาย กระจัดจายลึกเข้าไปจากริมแม่น้ำโขงของฝั่งลาวไม่ไกลนัก ดังนั้น เราจึงจะมาอธิบายกันว่า 'สุวรรณโคมคำ' คือยุคสมัยหรืออาณาจักรอะไร และมีความสำคัญอย่างไรต่อประวัติศาสตร์ไทยและลาว

การเกิดขึ้นและล่มสลายของเมืองสุวรรณโคมคำ
ในประเทศมีหลักฐานเอ่ยถึงอาณาจักรสุวรรณโคมคำ ในบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่เรียกว่า 'ตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ' รวบรวมไว้ใน 'ประชุมพงศาวดารภาคที่ 72' ซึ่งเป็นหนังสือชุดที่รวบรวมประวัติศาสตร์ทางการของไทยและอาณาจักรใกล้เคียง 'ตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ'  ได้บันทึกเรื่องราวที่มาของเมืองนี้เอาไว้ว่า 

กาลครั้งหนึ่ง ที่เมืองโพธิสารกรอมหลวง (กรอมหลวง แปลว่า ขอมใหญ่ ดงันั้นจึงสันนิษฐานว่าอาจหมายถึงอาณาจักรเขมรโบราณ) องค์อินทปฐมเจ้าผู้ครองเมืองและพระมเหสีคือนางอุรสาเทวี มีพระโอรสชื่อ เจ้าสุวรรณทวาร หรือจ้าสุวรรณทวารมุขราช ที่ได้ชื่อนี้เพราะไม่ได้ออกมาจากครรภ์ของพระราชมารดา ทั้งยังมีความเฉลียวฉลาดตั้งแต่ยังเยาว์วัย องค์อินทปฐมจึงเกิดความระแวงว่าจะเป็นกาลีบ้านกาลีเมือง สั่งให้ลอยแพเจ้าสุวรรณทวารที่แม่น้ำขลนที (แม่น้ำโขง) ลอยออกไปถึงทะเล 

ที่มาของของชื่อ 'โคมคำ' มาจากการที่อยะมหาเสนาธิบดี ผู้เป็นพระอัยกา หรือ 'ตา' เจ้าสุวรรณทวาร เดความสงสารในหลานจึงได้ตั้งเสาโคมทองริมแม่น้ำโขงเพื่อไหว้พระพุทธเจ้า ขอให้ได้พบหน้าหลาน ด้วยบุญญาธิการของเจ้าสุวรรณทวาร บรรดาเทวดาและนาคพากันช่วยพักแพให้ลอยกลับเข้าปากน้ำโขง ลอยผ่านกลับไปถึงเมืองโพธิสารกรอมหลวงโดยไม่มีใครเห็น จากนั้นลอยไปตามแม่น้ำโขงจนถึงที่ตั้งของโคมคำ ณ ที่นั้นเองอยะมหาเสนาธิบดี นางอุรสาเทวี และเจ้าสุวรรณทวารก็ได้ตั้งเมืองขึ้นมา ชื่อว่า เมืองสุวรรณโคมคำอยู่ริมแม่น้ำขลนที หรือแม่น้ำโขง (เชื่อว่าอยู่แถบเชียงแสนของไทยและแถบเมืองต้นผึ้งของลาว ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกันมีแม่น้ำโขงคั่นกลาง) ตั้งตนเป็นผู้ปกครอง พระนามว่าเจ้าสุวรรณทวารมุขราช เมืองชื่อว่า 'สุวรรณโคมคำ' แปลว่าเมืองทองซึ่งเป็นที่ตั้งของโคมทองคำ

ต่อมาชาวเมืองโพธิสารหลวง เกิดภัยแล้งฝนมิได้ตกสักครั้งเลย คนทั้งหลายมิได้ทำไร่ทำนาเลย เกิดอดข้าวอดน้ำกันมากมาย แล้วก็พากันอพยพเข้าป่าดงพงไพรไป เพื่อแสวงหาหัวมันและผลไม้กินเป็นอันมาก ครั้นคนเหล่านั้น รู้ข่าวว่าเจ้าสุวรรณทวารมุขราชพร้อมด้วยมารดาประทับอยู่ที่เมืองสุวรรณโคมคำทางทิศเหนือของแม่น้ำโขง ดังนั้นจึงพากันอพยพครอบครัวหนีขึ้นไปหาเจ้าสุวรรณทวารมุขราชที่เมืองสุวรรณโคมคำประมาณวันละพันสองพันครอบครัวมิได้ขาด ตลอดเวลา 3 ปีมีคนประมาณ มากกว่าแสนครัวเรือนอพยพไปอยู่ที่สุวรรณโคมคำ ทำให้เมืองนี้รุ่งเรืองขึ้นมา

เมืองสุวรรณโคมคำเจริญรุ่งเรืองต่อมา ตั้งแต่ปฐมวงศ์คือต้นราชวงศ์นับจากพระเจ้าสุวรรณทวารมุขราชาถือเป็นวงศ์สมันตราช สืบราชบุตรและราชนัดดาเป็นลำดับมา ประมาณได้ 83,503 องค์ ก็สิ้นสุดราชวงศ์ ครั้นสิ้นสุดราชวงศ์แล้ว ไม่สามารถจะหาเชื้อพระวงศ์กษัตย์ที่จะครองราชสมบัติในเมืองสุวรรณโคมคำสืบต่อมามิได้ 

ประกอบกับในเวลานั้น ผู้ปกครองในชมพูทวีปกิดเป็นอันธพาลขึ้นมากหลาย คือบ้างก็ดี บ้างก็ร้าย หนึ่งในนั้นคือ พระยากรอมดำ (แปลว่า ขอมดำ อาจหมายถึงผู้ปกครองชาวเขมรโบราณอีกพวกหนึ่ง) เข้าครองเมืองสุวรรณโคมคำ ซึ่งพระยากรอมดำ สืบเชื้อสายมาจากตระกูลแห่งพาหิรเสนาในเมืองอุโมงคเสลากรอมเขตต์ (กรอมเขต หมายถึงเขตแดนของชาวขอม) พระองค์เห็นว่าเมืองสุวรรณโคมคำหลวงหาเชื้อสายกษัตริย์ไม่ได้เสียแล้วดังนั้น จึงได้อพยพครอบครัวไปปกครองราชสมบัติอยู่ในเมืองสุวรรณโคมคำ  แต่พระยากรอมดำเป็นคนอันธพาล ไม่ได้ได้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม  มีแต่ตั้งกดขี่ข่มเหงเอาส่วยสาอากรกับประชาชน แม้แต่พ่อค้าชาวต่างประเทศเข้ามาติดต่อค้าขาย พระยากรอมดำก็แกล้งทำการปรับเงินหาเรื่องเอาผิดนานา ด้วยเหตุนั้นเมืองสุวรรณโคมคำ จึงเกิดโกลาหลขึ้นมากหลาย 

สาเหตุที่เมืองสุวรรณโคมคำถูกทำลายนั้น มีที่มามาจากมีชายที่ยากจนคนนึ่ง ไปทำไร่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ขลนที (แม่น้ำโขง) ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างชายแดนเมืองโพธิสารหลวงกับเมืองสุวรรณโคมคำ และชายผู้นั้นปลูกข้าวฟ่าง ข้าวสาลี น้ำเต้า และแตงไว้ในไร่เป็นอันมาก ฝั่งแม่น้ำที่ริมไร่ของชายผู้นั้นมีสัณฐานเป็นเกาะดอนทรายอยู่แห่งหนึ่ง ซึ่งมีทรายอ่อนขาว งามเป็นอันมาก 

ในเวลาต่อมา พอเดือนวิสาขะ (ราวๆ กลางเดือนเมษายนถึงกลางเดือนพฤษภาคม) มีลูกสาวพญานาคสามพี่น้อง พากันออกมาจากเมืองนาค แล้วขึ้นมาสู่ชมพูทวีปเพื่อเล่นน้ำในแม่น้ำโขง ที่ใกล้เกาะดอนทรายริมไร่ของชายผู้นั้น แล้วก็ว่ายน้ำเล่นขึ้น ๆ ล่อง ๆ แล้วก็พากันขึ้นจากน้ำไปผิงแดดเล่น พอหิวก็กินข้าวไร่ ข้าวฟ่าง ข้าวสาลี น้ำเต้าและแตงตามความพอใจ โดยไม่ได้บอกชายผู้นั้น เมื่อบิดาคือพญานาครู้เข้าจึงต่อว่าลูกสาวที่ไปขโมยของคนอื่นมา กรรมนี้จะทำให้ต้องเป็นข้าทาสคนอื่นถึง 500 ชาติ ลูกสาวพญานาคสามพี่น้องเกิดความกลัว จึงยอมไปเป็นคนรับใช้ชายหนุ่มผู้นั้นเพื่อไถ่โทษ

หลังจากรับใช้ดูแลชายหนุ่มคนนั้นได้ 3 ปี ลูกสาวพญานาคสามพี่น้องก็เกิดเบื่อจึงคะยั้ยคะยอให้ชายหนุ่มเดินทางไปค้าขายที่ต่างแดน แล้วจึงนำเอาเรือลำหนึ่งมาจากเมืองนาค ซึ่งเต็มพร้อมไปด้วยสินค้า ไม่ว่าจะเป็นว่าอาภรณ์ผืนผ้าทิพย์มามอบให้ กำชับให้เข้าไปค้าขายส่วนพวกนางจะคอยดูแลบ้านเรือนให้ ชายหนุ่มจึงก็ถ่อเรือไปตามกระแสแม่น้ำโขง ขายสินค้าเป็นลำดับไปตามบ้านน้อยเมืองใหญ่ และบ้านกลางเมืองกลาง เป็นเวลาไม่นานเท่าใด ก็ไปถึงเมืองสุวรรณโคมคำ ครั้นแล้วก็จอดเรือพักแรมอยู่ที่ท่าหลวงหน้าเมืองนั้น

แต่พระยากรอมดำ ผู้ซึ่งมาครองเมืองสุวรรณโคมคำมีจิตคิดไม่ดี พอถึงเวลากลางคืนก็สั่งให้ข้าราชบริพาร เอารูปเต้าทองอันหนึ่ง ลอบเข้าไปวางไว้ในเรือของชายหนุ่ม รุ่งขึ้นพระยากรอมดำจึงสั่งให้พวกบริวารไปสืบถามชายหนุ่มว่า "เมื่อคืนที่แล้วนี้ โจรผู้ร้ายไปลักเอารูปเต้าทองของพระยาเจ้าของพวกเราไป บัดนี้พวกเราติดตามรอยเท้าโจรนั้นมา ก็มาหายเสียที่เรือท่านนี่แหละ" 

ชายหนุ่มนั้นตอบว่า "เจ้าทั้งหลายเอ๋ย ในเรือลำนี้มีข้าพเจ้าคนเดียวเท่านั้น และก็มิได้ทิ้งเรือไปที่แห่งใดแห่งหนึ่งเลย ตลอดคืนยังรุ่ง" พวกบริวารของพระยากรอมดำพูดว่า "ถ้าอย่างนั้นพวกเราจะขอเข้าไปค้นดูในเรือของท่าน ท่านจะว่าอย่างไร?" ชายหนุ่มตอบว่า "เมื่อพวกท่านเข้ามาค้นดูในเรือของข้าพเจ้าแล้วหากไม่มีของของพระยาเจ้าอยู่ในเรือของข้าพเจ้านี้จะว่าอย่างไร?" 

พวกบริวารของพระยากรอมดำตอบว่า  "พระยาเจ้าของพวกเรามีดำรัสว่า หากมิได้มีสิ่งของอะไรอยู่ในเรือของท่านดังนั้น ก็จะยอมเสียเมืองให้แก่ท่านเป็นแท้ ถ้ามีของของพระยาเจ้าอยู่ ในเรือท่านจริง ท่านจักว่าอย่างไร?" ฝ่ายชายหนุ่มไม่คิดว่าพระยากรอมดำจะคิดไม่ดีกับตน จึงพูดตามความซื่อว่า "หากมีสิ่งของของพระยาเจ้าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อยู่ในเรือข้าพเจ้านี้ ก็จงริบเอาเรือและครัวของข้าพเจ้าทั้งหมดไปเถอะ"

พวกบริวารของพระยากรอมดำก็รับปากกับชายหนุ่ม แล้วก็พากันเข้าค้นเรือมานพ ก็พบรูปเต้าทองที่ซ่อนอยู่ในเรือนั้น จึงกล่าวหาชายหนุ่มว่า "ท่านนี่เป็นโจรที่หยาบร้ายมาก ท่านไปลักเอารูปเต้าทองพระยาเจ้าของพวกเรามาไว้ที่นี่แน่แล้ว" ครั้นแล้วก็ช่วยกันจับชายหนุ่มที่เป็นเจ้าของเรือผูกมัดนำไปหาพระยาเจ้าของตน ฝ่ายพระยากรอมดำผู้ใจบาปพอได้ทราบเรื่องเข้า ก็ตรัสขู่ตวาดด่าชายหนุ่มผู้ซึ่งหาโทษมิได้ว่า  "เจ้าผู้ร้าย มึงนี้ปลอมตัวเป็นพ่อค้า เข้ามาถึงเมืองกูแล้ว มิหนำซ้ำมาลักเอาเต้าทองของกูไปด้วยนี่" แล้วสั่งให้พวกบริวารไปริบเอาเข้าของที่เรือของชายนั้นมาไว้ในฉางจนสิ้น 

จากนั้น พระยากรอมดำก็สั่งให้เอาชายหนุ่มไปปล่อยเสียแม่น้ำโขงทิศตะวันเฉียงเหนือ ครั้นชายหนุ่มหมดสิ้นทุกอย่าง ก็ต้องขอทานเขากิน เป็นอยู่อย่างแสนเข็ญ ต่อมาชายหนุ่มไปพบเกาะดอนทรายแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ที่แม่น้ำโขงทิศตะวันตก ระยะไกลแต่เวียงสุวรรณโคมคำประมาณ 4,000 วา (ประมาณ 8 กิโลเมตร)  และเกาะดอนทรายนี้มีทรายอ่อนขาวงามดี ชายหนุ่มนั้นจึงคำนึงในใจว่า เกาะนี้ก็เสมือนเกาะที่เราเคยอยู่เมื่อก่อนนั่นเอง เราน่าจะทำไร่ปลูกข้าวกินดีกว่า ครั้นคำนึงดังนี้แล้ว ก็ไปเที่ยวของยืมพร้าและหลัวตามชาวบ้านได้แล้ว ก็ทำไร่อยู่ที่เกาะดอนทรายนั้นแหละ

ชายหนุ่มอยู่ที่เกาะดอนทรายนั้นมาสิ้นเวลานานประมาณได้ 3 ปี ลูกสาวพญานาคทั้งสามได้ทราบว่าชายหนุ่มได้รับความลำบากมีแต่ผ้าขาดวิ่นติดตัวอยู่เท่านั้น จึงเดินเรือที่เต็มไปด้วยสินค้ามายังสุวรรณโคมคำ เพื่อเดินทางมาหาชายหนุ่มแล้วช่วยเหลือให้กลับมามั่งคั่งเหมือนเดิม และรู้ความจริงว่าชายหนุ่มถูกพระยากรอมดำหลอกลวง พอดีกับที่เวลานั้น พระยากรอมดำวางแผนที่จะใส่ความชายหนุ่มและลูกสาวพญานาคอีกครั้ง จึงสั่งให้มหาดเล็กนำเอา "รัตนรังสีแก้วทิพย์" อันเป็นลูกแก้ววิเศษของพญานาคที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยของเจ้าสุวรรณทวารมุขราช มาซ่อนไว้ที่เรือของชายหนุ่มเพื่อที่จะปรักปรำว่าเป็นขโมย แต่ลูกสาวพญานาคทราบเรื่องเสียก่อน จึงบอกให้ชายหนุ่มนำแก้ววิเศษนี้ไปฝังดินอำพรางเอาไว้ 

พระยากรอมดำจึงส่งค้นไปค้นเรือเพื่อที่จะเอาเรื่อง และหวังจะใช้ลูกไม้ยึดเอาทรัพย์สินของลูกสาวพญานาค แต่ไม่ทราบว่านางนาคธิดาทั้งสามเอารัตนรังสีแก้วทิพย์ลูกนั้นไปซ่อนเสียแล้ว ยืนยันอยู่ว่า "รัตนรังสีแก้วทิพย์ของเราอยู่ในเรือของ เจ้านี้แน่ๆ "ครั้นแล้วจึงตรัสถามนางนาคธิดาทั้งสามนั้นต่อไปว่า "ข้าวของในเรือเจ้านี้จะมีค่ามากสักเท่าใด?" เธอทั้งสามทูลตอบว่ามีค่าประมาณเงินโกฎิหนึ่ง พระยากรอมดำว่า "ถ้ารัตนรังสีแก้วทิพย์ของเราไม่มีอยู่ในเรือของเจ้าจริง เราก็จะยอมเสียเมืองให้แก่พวกเจ้า" 
 

แต่เมื่อค้นเรือแล้วไม่พบแก้ววิเศษก็ทรงตระหนกพระทัยตัวสั่นเหงื่อไคลไหลย้อยออกมา พร้อมทั้งมีพระพักตร์เศร้าหมองไป มิได้ดำรัสสักคำเดียว ได้แต่พาหมู่บริพารหนีกลับมาสู่พระราชวัง ลูกสาวพญานาคทั้งสามจึงเดินทางมาที่ท่าเมืองสุวรรณโคมคำแล้ว เข้าไปทูลถามพระยากรอมดำว่า" ตอนแรกมหาราชเจ้าได้ทรงสัญญาไว้ว่าจะยอมให้เมืองแก่หม่อมฉันอย่างไรเล่า บัดนี้ท่านจะว่าอย่างไร?" 

ขณะนั้นพระยากรอมดำตรัสตอบนางนาคธิดาทั้งสามว่า "เราไม่ยอมให้เมืองแก่พวกเจ้าละ เพราะแต่ก่อนพวกเจ้ายังมิได้เข้าสู่เมืองของเรานี้ รัตนรังสีแก้วทิพย์ของเราก็มิได้หายไปสักครั้งเลย ตอนนี้ พอพวกเจ้าเข้ามาในเมืองของเราเข้ารัตนรังสีแก้วทิพย์อันควรค่าพันเมืองของเราจึงได้หายไป การที่เจ้าได้เข้ามาในเมืองของเราแล้วยังไม่พอหรือ บัดนี้ยังจะมาให้เราเสียเมืองให้อีก เรื่องนี้เราจะไม่ยอม แต่เราจะยอมเสียเพียงเงินค่าสิ่งของในเรือของพวกเจ้าเท่านั้นแหละ" 

แล้วพระยากรอมดำก็ทรงบังคับให้เสนาอำมาต์นับเงินประมาณได้โกฎิหนึ่งไปมอบให้แก่นางนาคธิดา แล้วก็หนีไปเสีย ครั้งนั้นนางนาคธิดาทั้งสามพูดกะชายหนุ่มว่า "เจ้านายอย่าได้คิดอยู่ในเมืองนี้เลย เพราะพระยาพาลองค์นี้ใจบาป หาศีลธรรมมิได้สักอย่างเดียว ขอจงได้กลับไปอยู่ที่เก่าของเราที่โน่นเถิด จึงจะได้รับความสุข และการที่มันไม่ยอมให้เมืองแก่พวกเรานั้นก็เป็นอันแล้วไปเถิด" แล้วนางนาคธิดาก็เอาเสื้อ ผ้าออกให้ทานแก่ชาวเมืองสุวรรณโคมนั้นทุกๆ คนจน สิ้นเสื้อผ้าไปส่วนหนึ่ง แล้วก็พร้อมกันกลับเรือล่องลงมาสู่ที่เดิม
 

เมื่อถึงถิ่นเดิมแล้ว ลูกสาวพญานาคเห็นว่าได้ช่วยชายหนุ่มมาพอสมควรกัการชดใช้หนี้กรรมกันแล้ว จึงขอลากลับเมืองนาค ครั้นนางนาคธิดาทั้งสามได้รับอโสหิกรรมจากชายหนุ่มและขออนุญาตกล้บบ้านเกิดแล้ว ก็พากันกลับสู่เมืองนาคซึ่งเป็นที่อยู่เดิมของตน แล้วเข้าไปกราบไหว้บิดามารดาเล่าความเป็นไปในเรื่องที่ชายหนุ่มถูกพระยาพาลทำร้ายต่างๆ ให้แก่พญานาคผู้บิดาและมารดาทราบทุกประการ พญานาคผู้บิดาได้ทราบเรื่อง ก็บันดาลความโกรธแค้นแก่พระยากรอมดำนั้นมากมาย จึงเรียกเอาบริวารของตนประมาณได้แสนโกฏิ ขึ้นมาสู่ชมพูทวีปแล้วก็พร้อมกันไปขุดควักฝั่งแม่น้ำโขง ลัดไปทางทิศตะวันออกเมืองสุวรรณโคมคำ ทำให้เมืองนั้นพังทะลายจมแม่น้ำโขงลงไปทันที

รายละเอียดตำนานฝั่งลาวว่าอย่างไรเรื่องสุวรรณโคมคำ
จบเรื่อง 'ตำนานสุวรรณโคมคำ' จากประชุมพงศาวดารของไทยโดยย่อถึงตอนที่เล่าสาเหตุของการล่มสลายของเมืองสุวรรณโคมคำ ซึ่งประจวบเหมาะกับการเกิคดวามสนใจของผู้คนเรื่องการค้นพบพระพุทธรูปและชิ้นส่วนวัดวาอารามที่ริมฝั่งแม่น้ำโขงในพื้นที่เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว ที่คนลาวเชื่อว่าเป็นที่ตั้งของเมืองสุวรรณโคมคำ 

ส่วนตำนานที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ลาวนั้นมีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสืบเชื้อสายของกษัตริย์แห่งสุวรรณโคมคำ ปรากฏข้อมูลจากฝั่งลาวในหนังสือ 'ตำนานนครโยนก' ของเจ้าคำหมั้น วงกตรันตนะ (เชื้อพระวงศ์ของลาว) กล่าวว่า "พระเจ้าสิริวงศา กษัตริย์แห่งเมืองโพธิสารหลวง (ซึ่งลาวเชื่อว่าคือนครโคตรตะปุระ หรือเมืองศรีโคตรตะบอง ที่เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน ฝั่งตรงข้ามกับ จ. นครพนมของไทย) มีพระโอรส 2 พระองค์ พระองค์แรกมีพระนามว่า อินทรวงศา และองค์น้องชื่อ ไอยะกุมาร เมื่อพระราชบิดาสวรรคตแล้ว โอรสองค์โคก็ครองราชสมบัติสืบต่อมา ส่วนองค์น้องเป็นอุปราช พระยาอินทรวงศามีพระโอรสพระนามว่า พระยาอินทรปฐม ส่วนอุปราชไอยะกุมาร มีพระธิดาพระนามว่า นางอูรสา หรือ โอระสา พระโอรสและพระธิดาทั้งสองนี้ได้สกสมรสกัน เมื่อพระยาอินทรวงศาสวรรคตแล้วพระยาอินทรปฐมก็ครองราชย์แทน 

ต่อมา พระยาไอกุมารอุปราช ได้สละตำแหน่งมหาอุปราชและพาบริวารเดินทางขึ้นไปทางเหนือของแม่น้ำโขงเป็นเวลา 3 เดือนจนมาถึงดอนเขินซึ่งอยู่ทางด้านซ้ายของแม่น้ำกกทางทิศตะวันตก ฝั่งตรงข้ามกับเมืองเชียงแสน จฬ เชียงราย เมื่อถึงตรงนั้น  พระยาไอกุมารก็ตัดสินใจสร้างพระราชวังขึ้นที่ดอนเขิน ซึ่งประกอบด้วย 3,000 ครัวเรือน ต่อมา ทรงทราบว่า พระธิดาประสูติพระโอรสที่มีเดชานุภาพ มีอภินิหารหลายประการ แต่ประชาชนมรเมืองโพธิสารหลวงกลัวว่าพระโอรสนี้จะทำให้บ้านเมืองล่มจม จึงทูลให้พระยาอินทรปฐมลอยแพพระโอรสและนางอูระสาไปเสีย  พระยาไอกุมารอุปราชจึงให้ตั้งโคมไฟบูชา วิงวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยนำพาหลานและลูกให้มาถึงดินแดนของตน

จะเห็นว่าเนื้อหาของตำนานจากลาวนี้ก็เหมือนกับตำนานเมืองสุวรรณโคมคำของไทยนั่นเอง

TAGS: #สุวรรณโคมคำ #แม่น้ำโขง #เชียงแสน #ต้นผึ้ง